สโลวาเกียเสนอ ‘การุณยฆาต’ หลัง ‘หมีสีน้ำตาล’ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต

สโลวาเกียเสนอ ‘การุณยฆาต’ หลัง ‘หมีสีน้ำตาล’ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต

ชาวสโลวาเกียตั้งคำถามต่อ “การอนุรักษ์สัตว์” หลังจาก “หมี” ทำร้ายนักท่องเที่ยวจนเสียชีวิต ว่ากำลังปกป้องสัตว์โดยแลกกับความปลอดภัยของมนุษย์หรือไม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า “การุณยฆาต” ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ควรสอนวิธีการรับมือที่ถูกต้องให้ประชาชนมากกว่า

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2567 เกิดเหตุ “หมีสีน้ำตาล” เข้าทำร้ายนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเดินป่าบนภูเขาในประเทศสโลวาเกียจนเสียชีวิต ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ประชาชนได้รับอันตรายจากการโจมตีของหมี ซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และเป็นชนวนให้เกิดความตึงเครียดในชุมชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของมนุษย์ และเรียกร้องให้ออกกฎหมาย “การุณยฆาต” หมีได้

ทั้งนี้ “การล่าสัตว์” เป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งสโลวาเกีย และยุโรป และผู้เชี่ยวชาญโต้แย้งว่าการเรียกร้องของชาวบ้านนั้นแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจที่มากพอ

“ผมคิดว่าสื่อมวลชนเสนอข่าวไม่ตรงกับความจริงเท่าไร ที่บอกว่าหมีเข้าโจมตีผู้เสียชีวิตเพราะต้องการล่าเหยื่อ ความจริงแล้วผมยังไม่เห็นว่ามีหลักฐานแบบนั้นเลย” โรบิน ริกก์ นักสัตววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ และเป็นประธานของมูลนิธิ Slovak Wildlife Society 

ริกก์ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าหมีจะอยู่ใกล้ๆ ในตอนที่พบร่างผู้เสียชีวิต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหมีตั้งใจจะฆ่าและจะกินเหยื่อ โดยเขาระบุว่ารอยตะปบที่ขาของหญิงผู้เคราะห์ร้ายเป็นเพียงรอยเล็บเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะการกินอาหารของหมี

“เป็นเรื่องยากมาก ที่หมีในยุโรปจะโจมตีคนแบบล่าเหยื่อ และไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย” ริกก์ให้เหตุผลว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตจำศีลของหมี อาจเป็นเป็นได้ว่านักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ในช่วงที่หมีเพิ่งตื่น หมีจึงตกใจ และเข้าทำร้ายเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง

 

อีกทั้งริกก์ยังกล่าวอีกว่า “ตามสถิติแล้ว มนุษย์เรามีโอกาสถูกฟ้าผ่าหรือมีอาการแพ้ผึ้งต่อยมากกว่าโดนหมีกัดเสียอีก แต่ผู้คนไม่ได้กังวลกับเรื่องเหล่านี้มากเท่ากับกลัวหมี เพราะมันมีฟันแหลมคม และกรงเล็บแหลมคม”

หลังจากเกิดเหตุหมีทำร้ายคนไม่ถึง 2 วัน ก็มีคนพบหมีตัวหนึ่งโผล่มาบนถนนในเมือง ห่างจากสถานที่เกิดเหตุเดิมเพียงไม่กี่กิโลเมตร หมีตัวนี้ได้พุ่งเข้าใส่คนบนท้องถนน ก่อนที่มันกระโดดข้ามรั้วหนีไป โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่วิดีโอคลิปนี้ได้กลายเป็นกระแสไวรัล ผู้คนเริ่มตั้งคำถามว่า “เราควรทำอย่างไรกับหมีดี?”

 

“หมีสีน้ำตาล” จากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กลายเป็นสัตว์ที่มีมากเกินไป

ในอดีต “หมีสีน้ำตาล” ถูกล่าอย่างหนักจนสูญพันธุ์ในหลายประเทศ สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายคุ้มครองหมีสีน้ำตาลอย่างเข้มงวดในปี 1992 ทำให้พวกมันได้รับการอนุรักษ์ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนตอนนี้ในยุโรปมีหมีสีน้ำตาลประมาณ 17,000 ตัว นับว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของนักชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในการรักษาสายพันธุ์นี้ได้สำเร็จ แต่จำนวนหมีที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมปัญหาด้วยเช่นกัน

หมีสีน้ำตาลเริ่มสร้างปัญหาในหลายพื้นที่ของยุโรป เกษตรกรที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาพิรินี ทอดยาวกั้นระหว่างพรมแดนฝรั่งเศส และสเปน ต่างเบื่อหน่ายกับความเสียหายของพืชผล รังผึ้ง และปศุสัตว์ ที่เกิดจากหมีเหล่านี้ จนสหภาพเกษตรกรเรียกร้องให้ “การุณยฆาต” หมี ขณะที่แคว้นเตรนตีโน-อัลโตอาดีเจ ของอิตาลีเสนอให้กำจัดหมีสีน้ำตาลที่มีอยู่ครึ่งหนึ่ง เพราะหมีได้เข้าทำร้าย อังเดร ปาปิ นักวิ่งเทรลชาวอิตาลี ในเดือนเมษายน 2566 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสโลวาเกีย ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการอนุรักษ์ทั่วยุโรป รัฐบาลสโลวาเกีย กำลังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปถอดหมีออกจากสถานะ “คุ้มครองแบบเข้มข้น” เพื่อให้เกิดการกำจัดหมีได้ทั่วยุโรป แต่คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้

 

การุณยฆาต “หมีสีน้ำตาล” ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ?

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การการุณยฆาตหมี ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโศกนาฏกรรมในอนาคต หลังจากการเสียชีวิตของอังเดร ปาปิ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในท้องถิ่นได้เชิญ ทอม สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหมีจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ในสหรัฐ มาแลกเปลี่ยนวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว

“ปัญหาในยุโรปมันเป็นปัญหาของคน อย่าทำให้เป็นปัญหาของหมี” สมิธกล่าว พร้อมให้คำแนะนำว่า ผู้คนในอเมริกาเหนือเติบโตมากับหมี ทำให้ทุกคนรู้ว่าต้องรับมือกับหมีอย่างไร ต่างจากในยุโรปที่จำนวนหมีเพิ่งเพิ่มขึ้น และผู้คนไม่ได้รู้สึกคุ้นเคยกับหมี 

ดังนั้นจึงควรจะต้องบรรจุวิธีการรับมือเมื่อเจอหมีสีน้ำตาลในโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมาแล้วในหลายรัฐของแคนาดา ที่มีจำนวนการเผชิญหน้ากับหมี และการเสียชีวิตลดลงอย่างมากหลังมีหลักสูตรดังกล่าว

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอเมริกาเหนือมีเหตุการณ์การปะทะกันระว่างมนุษย์และหมี (เท่าที่มีการบันทึกไว้)  2,175 ครั้ง โดยสมิธระบุว่า 60% ของเหตุเการณ์ที่เกิดขึ้น ที่จริงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้ารู้วิธีการที่ถูกต้อง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอังเดร และเหตุการณ์ที่สโลวาเกีย

ริกก์ กล่าวเสริมว่า เส้นทางที่คู่รักเลือกเดินป่าเป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยงมาก ไม่ใช่เส้นทางทั่วไป และในจุดนั้นเป็นพื้นที่อุทยานคุ้มครองแบบเข้มข้น ที่มีถ้ำหมีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรไปที่นั่น อีกทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาพลบค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่สัตว์เริ่มออกหากิน 

นอกจากนี้แยกกันวิ่งหนีหมีไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ริกก์แนะนำว่า ควรจะอยู่ด้วยกันและพยายามสงบสติอารมณ์ เพราะหมีไม่โจมตีคนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สอดคล้องกับข้อมูลของสมิธที่ระบุว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่หมีเข้าทำร้ายคนสองคนขึ้นไปในครั้งเดียว

เมื่อเดือนธันวาคม 2566 สหภาพยุโรปได้ลดระดับสถานะของหมาป่าลง จาก “คุ้มครองแบบเข้มข้น” เป็น “ได้รับการคุ้มครอง” ซึ่งเป็นสถานะที่อนุญาตให้ล่าสัตว์ได้ ทำให้นักชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพกังวลถึงอนาคตของหมีสีน้ำตาล โดยริกก์ได้ให้ความเห็นว่า นี่อาจจะเป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่ง แต่เขาก็รับรู้ได้ว่ารัฐบาลสโลวาเกียต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง เพราะมีหมาป่าเป็นกรณีตัวอย่างแล้ว


ที่มา: BBCCNNWired

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์