พาณิชย์ เผย สเปนเข้มบังคับติดสัญลักษณ์การแยกขยะบนบรรจุภัณฑ์ ดีเดย์ 1 ม.ค. 68
สเปนเข้มมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ประกาศใช้ระเบียบติดสัญลักษณ์การแยกขยะบนบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 68 สคต.มาดริด แนะผู้ประกอบการไทยติดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใกล้ชิดเพื่อปรับตัว
KEY
POINTS
Key Point
- สเปน ออกมาตรการเข้มด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม
- 1 ม.ค. 2568 บรรจุภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในตลาดจะต้องประกอบด้วยฉลากพร้อมสัญลักษณ์การแยกขยะที่ชัดเจน
- กำหนดประเภทขยะที่ถูกทิ้งในถังขยะภาชนะ 4 สี
- ผู้ประกอบการไทยควรยกระดับการผลิตเพื่อรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ( สคต.)ณ กรุงมาดริดประเทศสเปน รายงานว่า สเปนจะบังคับใช้ข้อกำหนดการติดฉลากใหม่บนบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (B2C) ซึ่งครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนทั้งหมดทุกประเภทวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์สําหรับของใช้ในครัวเรือน หรือสินค้าอุปโภคบริโภค โดยทุกชิ้นจะต้องติดฉลากที่มีสัญลักษณ์พิเศษบ่งชี้การคัดแยกขยะเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าควรทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์ในภาชนะใด
ระเบียบนี้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา 1055/2022 ที่ออกเมื่อปี 2565 โดยที่ผ่านมาอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ติดหรือไม่ติดสัญลักษณ์การแยกขยะบนบรรจุภัณฑ์ก็ได้ตามสมัครใจ แต่หลังจาก 1 ม.ค. 2568 บรรจุภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในตลาดจะต้องประกอบด้วยฉลากพร้อมสัญลักษณ์การแยกขยะที่ชัดเจน
วัตถุประสงค์ของระเบียบดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ผู้บริโภคกําจัดขยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายระดับนโยบายของประเทศด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มอัตราการรีไซเคิลและพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อกำหนดนี้ไม่เพียงระบุการคัดแยกที่ถูกต้อง แต่ยังจะต้องมีขนาดที่เหมาะสม มองเห็นได้ชัดเจน อ่านง่าย ติดอยู่กับบรรจุภัณฑ์อย่างถาวร ใช้คำที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ห้ามใช้คำว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “respetuoso con el medio ambiente” เนื่องจากอาจชี้นำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนว่าสามารถทิ้งในพื้นที่สาธารณะและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แต่ไม่ได้กำหนดรูปสัญลักษณ์ไว้ ผู้ประกอบการสามารถออกแบบเองได้
สำหรับขยะบรรจุภัณฑ์ในสเปนจำแนกได้ 4 ประเภทหลัก ซึ่งแต่ละประเภทจะถูกทิ้งในถังขยะภาชนะสีต่างกัน คือ
ภาชนะสีเหลือง: บรรจุภัณฑ์พลาสติกและโลหะ (เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม ขวดพลาสติก)
ภาชนะสีน้ำเงิน: บรรจุภัณฑ์กระดาษและกระดาษแข็ง (เช่น กล่องกระดาษแข็ง บรรจุภัณฑ์กระดาษ)
ภาชนะสีน้ำตาล: บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ (เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ขยะอินทรีย์)
ภาชนะสีเขียว: บรรจุภัณฑ์แก้ว (เช่น ขวดแก้ว ขวดแยม)
สำหรับขนาดและทัศนวิสัยขั้นต่ำของสัญลักษณ์ ควรมีขนาดอย่างน้อย 8 มิลลิเมตร เพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ถูกองค์ประกอบอื่นบดบัง ในส่วนของสี ควรใช้สีที่แทนสัญลักษณ์ภาชนะต่างๆ ได้แก่ เหลือง น้ำเงิน น้ำตาล เขียว อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านการออกแบบ สามารถใช้สีขาวดำหรือสีอื่นๆ ได้ แต่ต้องมีการระบุด้วยตัวอักษรให้เข้าใจได้ง่าย ไม่สร้างความสับสน
หากบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยวัสดุหลายชนิดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จะต้องระบุตามวัสดุที่มีสัดส่วนมากที่สุดตามน้ำหนัก แต่หากแยกออกจากกันได้ จะต้องติดสัญลักษณ์ 2 จุด ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่มีฝาพลาสติก จะต้องติดสัญลักษณ์สองตัวบนบรรจุภัณฑ์ สัญลักษณ์หนึ่งสําหรับภาชนะแก้ว (ภาชนะสีเขียว) และอีกสัญลักษณ์หนึ่งสําหรับฝาพลาสติก (ภาชนะสีเหลือง)
บรรจุภัณฑ์ที่นํากลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กระป๋องหรือขวด ต้องมีสัญลักษณ์ของระบบคืนเงินมัดจํา (DRS) ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ต้องมีป้ายกํากับว่า ‘ห้ามทิ้งในสิ่งแวดล้อม’ และจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน UNE EN 13432:2001 หรือมาตรฐานที่เทียบเคียงได้
ทั้งนี้ สคต.กรุงมาดริด ให้ความเห็นว่า รัฐบาลสเปนมีการเพิ่มความเข้มข้นเกี่ยวกับมาตรการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยกฎหมายการติดสัญลักษณ์คัดแยกขยะบนฉลากบรรจุภัณฑ์ภาคบังคับในสเปนตั้งแต่ปี 2568 เป็นหนึ่งในมาตรการที่สะท้อนถึงแนวโน้มดังกล่าว นํามาซึ่งความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและผู้ส่งออกไทย
ขณะเดียวกันนับเป็นโอกาสสําหรับบริษัทต่างๆ ที่จะปรับตัวสู่เป้าหมายความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral หรือ SDG Goals ด้วยการยกระดับแนวทางการแยกกําจัดขยะที่ชัดเจนสำหรับบรรจุภัณฑ์ และการยกระดับการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม สร้างของเสียให้น้อยที่สุด ผู้ประกอบการไทยควรติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอและเร่งยกระดับธุรกิจด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวข้ามข้อกีดกันทางการค้าในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในอนาคต