นักเศรษฐศาสตร์เตือน ไทยเข้า ‘บริกส์’ ถูกมองเลือกข้าง ติดร่างแห จีน-สหรัฐ
“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม “บริกส์” ผลประโยชน์ยังไม่ชัด “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย-เคเคพี-ทีทีบี-ซีไอเอ็มบีไทย” เตือนระหว่างไทยถูกมองว่า “เลือกข้าง” ระวังติดร่างแหสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้ง
เป็นสมาชิก BRICS ระวังไทยถูกหาว่า “เลือกข้าง”
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า วันนี้การเข้าสู่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS ประเทศไทย เป็นเพียงพาร์ตเนอร์ ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ดังนั้นในแง่ประโยชน์ก็อาจไม่ได้มีมากนัก
แต่อาจทำให้ประเทศไทยมีเวทีมากขึ้น ในการสื่อสาร ถึงปัญหาต่างๆ รวมถึงอัปเดตสถานการณ์ร่วมกับโลกได้ ส่วนผลบวกอื่นๆ ยังไม่ชัดเจน ว่าได้ประโยชน์ด้านใด เช่น การค้า การลงทุน การเชื่อมกันระหว่างประเทศในกลุ่ม BRICS
อีกด้านที่ต้องระวังคือ โลกอาจมองว่าประเทศไทย “เลือกข้าง” เพราะการเข้าในกลุ่มสมาชิก BRICS มีบางประเทศเท่านั้น ที่เข้าร่วมไม่ได้ เข้าทุกประเทศ ดังนั้นให้ดีทุกประเทศของอาเซียนต้องเข้าร่วมทุกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกีดกันทางการค้ารายประเทศ
ระวังไทยติดร่างแหสงครามการค้าจีน-สหรัฐ
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การสร้างกลุ่ม BRICS เป็นความพยายามในการสร้างกลุ่มขั้วอำนาจอีกกลุ่มขึ้นมา ที่เป็นทางเลือกของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อต้องการมีสิทธิมีเสียง มีแรงการเจรจา และต่อรองกับประเทศตะวันตกได้ และประเทศที่พัฒนาแล้วได้
แต่วันนี้การรวมตัวกลุ่มสมาชิก ผลประโยชน์ยังไม่ชัดเจน ซึ่งต้องติดตามประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สมาชิก BRICS อีกด้านก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหมายหัวว่าด้อยค่าสหรัฐ เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่สหรัฐ และจีนมีประเด็นการค้า การเข้าร่วมกลุ่มนี้ที่มีจีนอยู่ด้วย อาจทำให้ไทยถูกเหมารวมว่าเป็นพวกจีนได้ ดังนั้น ก็มีความเสี่ยง
“ความเสี่ยงที่ต้องระวังคือ บนโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ภายใต้ทรัมป์การที่เรากระโดดเข้าไปในกลุ่ม BRICS อาจทำให้เราเสี่ยงมากขึ้น เหมือนเราติดร่างแหไปด้วย ท่ามกลางคนที่ทะเลาะกัน ดังนั้นต้องศึกษาผลดี กับผลกระทบให้ดีว่าสุดท้ายเราได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน”
โอกาสใหม่สร้างสัมพันธ์กับประเทศเศรษฐกิจใหม่
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มองว่า การเข้าเป็นสมาชิก BRICS วันนี้ประเทศไทยเป็นเพียงพาร์ตเนอร์ ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่เชื่อว่าผลบวกที่มีต่อไทย นอกจากการเป็นสมาชิกกับกลุ่มสำคัญในฝั่งตะวันตกแล้ว การกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ๆ
โดยเฉพาะในเอเชียถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการขยายธุรกิจ ขยายการลงทุน หรือความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ จากการอยู่ในกลุ่มสมาชิก BRICS จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกหลักไปสหรัฐ
อีกด้าน เชื่อในมุมผลกระทบ โดยเฉพาะการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐ ที่อาจมีผลต่อประเทศในภูมิภาค หรือสมาชิก BRICS ก็เชื่อว่าประเทศมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางเลี่ยงไม่ให้ถูกกระทบจากนโยบายของทรัมป์ได้
“เชื่อในที่สุดแล้วไทยเองก็ต้องเข้าทุกกลุ่ม เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ และไทยเองวันนี้ก็มีเพื่อนน้อยที่สุดในภูมิภาค ดังนั้น มองการเข้าสู่กลุ่มใหม่ๆ อาจเป็นโอกาสของไทยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันไทย ที่มีการทำสิทธิทางการค้า FTA หรือกลุ่มต่างๆ”
หวั่นไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศ ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง และไปเติบโตในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ๆ มากขึ้น
ดังนั้น ความพยายามของไทยที่จะเข้าสู่กลุ่ม BRICS อาจต้องการจับกระแสโลก ซึ่งเชื่อหากไทยใช้โอกาสนี้ในการเข้าสู่การค้าใหม่ๆ ก็จะเป็นโอกาสในการเติบโตของไทย โดยเฉพาะการพึ่งพาจีน หรืออินเดีย ที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่
แต่ปัญหาคือ การหาประโยชน์จากการเข้ากลุ่ม BRICS จะทำอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์ มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะวันนี้สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ดังนั้น ทำอย่างไร ให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน การเข้าสมาชิก BRICS ที่ต้องระวังคือ ไทยอาจถูกสหรัฐเพ่งเล็งได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์