'วงการแฟชั่น' ปรับตัวอย่างไร ในวันที่โลกมองหาความยั่งยืน

'วงการแฟชั่น' ปรับตัวอย่างไร ในวันที่โลกมองหาความยั่งยืน

อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงราว 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน ปัจจุบันจึงเห็นว่า แบรนด์ชั้นนำหันมาใส่ใจกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อให้แฟชั่น เกิดความยั่งยืน

KEY

POINTS

  • Fast Fashion นอกจากจะผลิตออกมาเกินความต้องการแล้ว ยังสร้างขยะเสื้อผ้าให้กับโลก ในยุโรป ทุกๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม
  • หากความต้องการยังคงเติบโตต่อเนื่องปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593
  • ความท้าทายของวงการแฟชั่น โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้แบรนด์ชั้นนำหลายแบรนด์เริ่มปรับตัว

ความนิยมของอุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลให้เกิดการผลิตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตมีการใช้น้ำและทรัพยากรมหาศาล โดยเฉพาะ Fast Fashion ที่นอกจากจะผลิตออกมาเกินความต้องการแล้ว ยังสร้างขยะเสื้อผ้าให้กับโลก เช่น ใน “กานา” ที่มีการนำเข้าเสื้อผ้ามือสองประมาณ 15 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ ในปี 2021 กานานำเข้าเสื้อผ้ามือสอง รวมทั้งหมดมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,832,614,000 บาท ทำให้กานากลายเป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

กองขยะเสื้อผ้าขนาดใหญ่ใน “กานา” เป็นผลพวงจาก “Fast Fashion” ที่ แม้ว่าส่วนหนึ่งชาวบ้านจะนำไปขายต่อเป็นสินค้ามือสอง แต่ก็ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างจะสามารถขายต่อได้ นอกจากนี้ กานายังได้รับบริจาคเสื้อผ้ามาจากประเทศต่างๆ เพิ่มอีกด้วย เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน

 

สิ่งทอ ก่อคาร์บอน 1.2 พันล้านตัน

ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงราว 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งก็คือมีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สหราชอาณาจักร เป็นศูนย์กลาง Fast Fashion ในยุโรป ทุกๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม สัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2562

 

เส้นใยเหล่านี้ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.1 กิโลกรัม

 

หากความต้องการยังคงเติบโตต่อเนื่องปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าภายในปี 2593 อุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งถึง 2 องศาเซลเซียส ถึงร้อยละ 26 จากทั้งหมด

 

ความท้าทาย โลกแฟชั่น หลังวิกฤติโรคระบาด

  • เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
  • เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพกายและใจมากขึ้น
  • เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

แบรนด์ชั้นนำปรับตัว

Zara ผลิตสินค้าจากเส้นใยธรรมชาติ

แต่กลยุทธ์ใหม่ของแบรนด์เน้นไปที่การบริโภคอย่างยั่งยืน โดยจะผลิตคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ (Sustainable Fabrics) และเส้นใยผ้าที่ทำจากขยะรีไซเคิล ไม่เฉพาะเสื้อผ้าเท่านั้น Zara ยังวางแผนจะผลิตอุปกรณ์ใช้งานภายในร้านที่ทำจากขยะรีไซเคิล โดยมีแนวทางเลิกมอบถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนเป็นกล่องกระดาษรีไซเคิลในการแพ็กสินค้าและขนส่ง รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนในองค์กร และร้านค้าแต่ละสาขา โดยคาดว่าจะทำสำเร็จภายในปี 2025 เพื่อครอบคลุมเป้าหมายของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ที่ไม่ได้จำกัดแค่สินค้าแฟชั่นอย่างเดียว

 

Prada ผลิตกระเป๋าไนลอน

Prada ผลิตกระเป๋าจากวัสดุไนลอน เรียกได้ว่าเป็น Signature ของแบรนด์ เพื่อช่วยลดขยะและมลภาวะทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าคาดเอว, กระเป๋าหิ้วใบใหญ่, กระเป๋าดัฟเฟิล กระเป๋าสะพายไหล่ และกระเป๋าเป้สะพายหลัง 2 แบบ ทั้งหมดนี้ผลิตจากวัสดุไนลอนรีไซเคิลที่เรียกว่า Econyl ที่มาจากเศษขยะพลาสติกก้นทะเล เช่น ตะข่ายจับปลา และขยะเส้นใยสิ่งทอ นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งจากยอดขายคอลเล็กชั่น Re-Nylon จะบริจาคให้กับแคมเปญพัฒนาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

UNIQLO มุ่งสู่ความยั่งยืนในปี 2030

สำหรับ ยูนิโคล่ (UNIQLO) สานต่อแผนปฏิบัติการสำหรับความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2030 ของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ผ่านแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) เพื่อเป้าหมายการเป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยความคิดริเริ่มสำคัญ 2 ประการ

 

ผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่นำสมัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลก

 

ผลิตเสื้อผ้าที่ดีสำหรับผู้คนและสังคม ส่งเสริมการจัดตั้งสภาพแวดล้อมการทำงานที่สามารถปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน รวมถึงพนักงานของบริษัทและผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด ตลอดจนดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นร่วมกับลูกค้า

 

ญี่ปุ่น รับมือเสื้อผ้ามหาศาล

ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่น อยู่ในสถานภาพซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นกำลังสร้างภาระหนักให้กับสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลจาก Japan Research Institute พบว่า มีเสื้อผ้ากว่า 51.0 หมื่นตันถูกทำลายทิ้ง ในขณะที่เพียงร้อยละ 15.6 หรือ 12.3 หมื่นตัน ถูกนำไปรีไซเคิล และร้อยละ 19.6 หรือ 15.4 หมื่นตัน ถูกนำไปใช้ซ้ำ (Reuse)

 

ในปี 2021 ภาครัฐ ได้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนประกอบด้วย 3 กระทรวง คือ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม และทบวงผู้บริโภค

 

ทำหน้าที่ประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะศึกษา ‘Study Group on Future of Fashion’ ซึ่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัทผู้ผลิต ดีไซน์เนอร์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการดำเนินการไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม เสื้อผ้าแฟชั่นซึ่งสามารถสร้างมูลค่าที่มีความยั่งยืน

 

Sustainable Fashion

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ข้อผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงเรื่อง Sustainable Fashion โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการ ทั้งในฝ่ายผู้บริโภคและผู้ผลิต ดังนี้

 

1. ถนอมเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ให้ใช้ได้ยาวนาน

โดยผู้บริโภคควรใช้เสื้อผ้าให้นาน หรือนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาดัดแปลง ปรับเปลี่ยนเป็นแบบอื่นเพื่อใส่ใหม่ ในขณะที่ผู้ผลิตควรผลิตเสื้อผ้าที่มีการอายุการใช้งานได้นานและควรมีแผนก บริการรับแก้ไขซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ผลิตจำหน่ายของบริษัทตน

 

2. ใช้เสื้อผ้าซ้ำ หรือ Reuse

ในด้านผู้บริโภคควรมีระบบบริการแลกเปลี่ยนการใช้ (Sharing Services) หรือระบบให้ยืม (Rental Services) รวมทั้งใช้เสื้อผ้ามือสอง ส่วนผู้ผลิตควรสนับสนุนให้เกิดการนำเสื้อผ้ามาใช้ซ้ำ เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง หรือเปิดบริการระบบ Subscription ซึ่งเป็นระบบที่ผู้บริโภคจ่าย ค่าบริการในอัตราที่กำหนดและสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ต้องการไปใส่ได้เรื่อยๆ

 

3. คิดแบบยาวๆ เมื่อซื้อเสื้อผ้า

โดยผู้บริโภคควรเลิกพฤติกรรมซื้อแบบไม่ได้คิด ควรไตร่ตรองก่อนซื้อว่าจำเป็นหรือไม่ และเลือกซื้อเสื้อผ้าคุณภาพดีที่สามารถใช้ไปได้นาน ส่วนผู้ผลิตควรทบทวนการผลิตให้มีปริมาณสต็อกที่เหมาะสม รวมทั้งวางแผนจำหน่ายที่ครอบคลุมถึงการจำหน่ายเสื้อผ้าที่เลยฤดูกาลหรือกระแสนิยมไปแล้ว

 

4. ให้ความใส่ใจและดูให้ถึงแก่น

ผู้บริโภคควรใส่ใจกับรายละเอียดของเสื้อผ้าก่อนจะซื้อ เช่นดูป้าย (Tag) ที่ระบุ ข้อมูลของเสื้อผ้าหรือ QR Code หรือสอบถามผู้ขายเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ และวิธีการผลิตของวัสดุนั้น ทำความเข้าใจถึงคุณค่าของการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของขวดพลาสติก PET หรือกางเกงยีนส์ที่ผลิตจากเศษเหลือของผ้าจากการตัดเย็บ เป็นต้น ส่วนผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการตรวจ ย้อนกลับของวัสดุที่นำมาใช้ว่าได้มาด้วยวิธีใด และส่งเสริม Upcycle หรือการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น

 

5. ให้คำนึงว่าเสื้อผ้าก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง

โดยผู้บริโภคควรนำเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้หรือที่จะทิ้งลงขยะ ไปให้สถานที่รวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิล ฝ่ายผู้ผลิตจำหน่ายควรมีช่องทางการรวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และค้นคว้าพัฒนาระบบการรีไซเคิลเสื้อผ้าให้มีต้นทุนต่ำ โดยไม่เพียงดำเนินการเป็นแต่ละรายแต่ควรร่วมมือกันดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมโดยรวม

 

ผู้ผลิต ใส่ใจกระบวนการผลิตมากขึ้น

สำหรับในด้านผู้ผลิต คาดว่าจะมีการนำวัสดุธรรมชาติที่ปราศจากการใช้สารเคมีมาใช้มากขึ้น และเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยในการพัฒนาวิธีการรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อนำมาใช้ผลิตสินค้า ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้ใช้ได้นาน การผลิตและจำหน่ายใน ลักษณะ Fast Fashion คือ ผลิตปริมาณมากและมีวงจรชีวิตสินค้าสั้นอาจจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ดังนั้น การพึ่งพาแหล่งผลิตในต่างประเทศที่มีความได้เปรียบเพียงเพราะค่าแรงงานต่ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่กลยุทธ์ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นของญี่ปุ่นอีกต่อไป อีกทั้งหากบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นส่วนใหญ่สามารถที่จะพัฒนาการผลิตและสินค้าของตนไปสู่การเป็น Sustainable Fashion กันมากขึ้น ภาครัฐของญี่ปุ่นเองก็อาจจะค่อยๆมีการปรับแก้ไขกฎหมายหรือนำมาตรการต่างๆ ที่ควบคุมหรือจำกัดการผลิตที่เป็นภัยหรือภาระต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ต่อไป

 

 

อ้างอิง : Krungsri Plearn Plearn , ธนาคารกรุงเทพสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย