ทำแทบตาย สุดท้ายได้แค่ 3,000 บาท แรงงาน Fast Fashion บังกลาเทศประท้วงเดือด!

ทำแทบตาย สุดท้ายได้แค่ 3,000 บาท แรงงาน Fast Fashion บังกลาเทศประท้วงเดือด!

“Fast Fashion” ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้หลายประเทศ แต่กลายเป็นว่าแรงงานชาวบังกลาเทศ ซึ่งเป็นช่างเย็บผ้าให้แบรนด์ดัง ออกมาประท้วงค่าแรงไม่เป็นธรรม หลังได้ค่าแรงเพียงเดือนละ 2,600 บาท

Key Points:

  • “บังกลาเทศ” เป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญของสินค้า “Fast Fashion” หลากหลายแบรนด์จากตะวันตก คิดเป็นร้อยละ 85 ของการส่งออกประจำปี และมีโรงงานสิ่งทอมากกว่า 3,500 แห่ง
  • แม้ว่า “แรงงาน” บังกลาเทศจะมีฝีมือที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก แต่แรงงานกลับมีรายได้เพียงเดือนละ 2,600 บาท แม้จะขอขึ้นค่าแรงก็ได้แค่ 3,100 บาทเท่านั้น จนเกิดการประท้วงอย่างดุเดือด
  • ไม่ใช่แค่ปัญหาค่าแรงที่สวนทางกับค่าครองชีพเท่านั้น ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ยังมีปัญหาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนโดยเฉพาะ “แรงงานเด็ก” ตามมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกคงหนีไม่พ้น “Fast Fashion” โดยเฉพาะใน “บังกลาเทศ” (Bangladesh) ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญให้แบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก  ไม่ว่าจะเป็น Levi's, Zara, H&M หรือ GAP โดยมีโรงงานตั้งอยู่มากถึง 3,500 แห่ง หากมองจากภายนอกหลายคนอาจคิดว่าประเทศที่เป็นฐานผลิตให้กับแบรนด์ Fast Fashion ชื่อดังที่มีสาขาไปทั่วโลก อาจช่วยให้แรงงานใน “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” มีกินมีใช้ รายได้ดี เนื่องจากเป็นหนึ่งในแรงงานที่สำคัญของประเทศ แต่ความจริงแล้วพวกเขากับมีค่าจ้างรายเดือนที่ต่ำมาก หากเทียบกับค่าครองชีพ เพราะค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 75 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,600 บาทเท่านั้น

จากปัญหาค่าครองชีพและค่าแรงที่สวนทางกัน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เริ่มมีปัญหาด้านการเงิน และแม้ว่าจะเคยเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงเป็น 208 ดอลลาร์ (ประมาณ 7,381 บาท) แต่นายจ้างอ้างว่าขึ้นได้มากที่สุดก็แค่ 90 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,100 บาทเท่านั้น จึงเป็นชนวนให้คนงานนับหมื่นนัดหยุดงานเพื่อประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง

 

 

  • “บังกลาเทศ” ฐานการผลิตใหญ่ของ Fast Fashion

บังกลาเทศ” หรือ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 85 ของการส่งออกประจำปีของประเทศในเอเชียใต้ ที่มีมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 196,000 ล้านบาทเลยทีเดียว และมีแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอประมาณ 4 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 165 ล้านคน

สิ่งที่ทำให้บังกลาเทศเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ดัง จากสหรัฐและยุโรป ก็เพราะมีแรงงานที่มีทักษะและเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก แต่กลายเป็นว่าแรงงานผลิตสินค้าส่งออกไปมากเท่าไร ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมใส่เสื้อผ้าแบบ “Fast Fashion

เนื่องจากเป็นเสื้อผ้าประเภทที่ต้องรีบผลิตให้ทันกับกระแสที่เปลี่ยนไปทุกเดือน จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความกดดันให้แรงงานเป็นอย่างมาก ประกอบกับรายได้ที่น้อยและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานบางคนต้องทำงานมากถึงวันละ 18 ชั่วโมง และแรงงานบางคนเริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายใช้แรงงานเด็ก

สำหรับเมืองที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของบังกลาเทศมีอยู่ด้วยกันสองเมือง ได้แก่ อาซูเลีย (Ashulia) และ กาจีปุระ (Gazipur) และขณะนี้เหล่าคนงานจาก “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” กว่าหมื่นคนกำลังรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา และบานปลายจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา

  • ทำงานแทบตาย สุดท้ายเงินเดือน 3,000 บาท จุดชนวนแรงงานประท้วงเดือด

“ที่คนงานออกมาชุมนุมกันตามท้องถนน เพราะเงินเดือนของพวกเขาไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป” อัล คัมราน (Al Kamran) ผู้นำสหภาพแรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป กล่าวถึงสาเหตุของการประท้วงครั้งใหญ่นี้ในบังกลาเทศ

นอกจากนี้ อัลยังอธิบายว่า แม้ว่าค่าอาหารพื้นฐานที่ใช้บริโภคกันในแต่ละวัน เช่น มันฝรั่งและหัวหอมมีราคาเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้ว และค่าเช่าบ้านที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่แรงงานกลับได้เงินเดือนเท่าเดิม

รวมไปถึงเสียงของแรงงานอีกหลายคนที่มองว่าได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะหากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ แรงงานหญิงคนหนึ่งเปิดเผยผ่าน The Borgen Project ว่า เธอเริ่มทำงานในโรงงานตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เธอรู้ตัวว่าเป็นแรงงานราคาถูก แต่ก็ต้องการหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ต้องอดทนทำงานหนักต่อไป

แม้ว่าการประท้วงนัดหยุดงานจะเริ่มขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันที่ 4 พ.ย. ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้แรงงานบางส่วนจะกลับไปทำงานแล้ว แต่คนที่ยังปักหลักชุมนุมอยู่ก็เกิดการปะทะกับตำรวจ จนต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เพื่อเข้าควบคุมการชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

มาห์มุด นาเซอร์ (Mahmud Naser) รองผู้บัญชาการตำรวจของเขตอุตสาหกรรมอาซูเลีย ระบุว่า สำหรับแรงงานที่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ มีคนงานเข้าร่วมประมาณ 15,000 คน ทำให้มีร้านค้ากว่า 600 แห่งต้องปิดให้บริการ เพราะผู้ชุมนุมบางส่วนปิดถนนและปิดล้อมโรงงานที่ตนเองทำงานอยู่

ข้อมูลจาก South China Morning Post และ The Economic Times ระบุว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานใน “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” โดยเฉพาะแบรนด์ “Fast Fashion” อยู่ที่ประมาณ 2,600 บาท

ก่อนหน้านี้ทั้งแรงงานและสหภาพแรงงานเคยเรียกร้องให้ปรับเงินเดือนขึ้นเป็น 7,381 บาท แต่นายจ้างก็ขึ้นให้สูงสุดได้เพียง 3,100 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่คุ้มค่าทั้งในเรื่องค่าครองชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน ไปจนถึงการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน

  • ไม่ใช่แค่ค่าแรง แต่ยังมีความโหดร้ายซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศ

แม้ว่าค่าแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนของบังกลาเทศ แต่ความจริงแล้วแรงงานยังต้องเผชิญกับปัญหาอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ ไม่เพียงแค่ปัญหาค่าแรงอันน้อยนิด แต่แรงงานจำนวนมากยังถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาประมาณ 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้รับค่าโอทีเพิ่มเติม

รายงานจาก Medium ระบุว่า ปัจจุบันประชากร 35 ล้านคนของบังกลาเทศอาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจน ทำให้คนส่วนใหญ่เต็มใจทำงานหนักที่มีค่าจ้างไม่มากนักเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด โดยรายได้ต่อวันของบางคนใช้ซื้ออาหารได้เพียงมื้อเดียวเท่านั้น ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงตามมา

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการใช้ “แรงงานเด็ก” ซึ่งทำให้นายจ้างประหยัดต้นทุนในการผลิตไปได้ส่วนหนึ่ง แต่การกระทำเหล่านั้นส่งผลให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษาอีกด้วย

มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่าโรงงานบางแห่งในบังกลาเทศบังคับให้เด็กทำงานกะละ 11 ชั่วโมงโดยไม่มีหยุดพักระหว่างการทำงาน จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กเป็นอย่างมาก

การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้มาพร้อมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง เพราะประชากรส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยปัจจัยดำรงชีพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงมีประชาชนเพียงไม่กี่คนที่สามารถลงทุนได้ในบังกลาเทศ ใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน

ท้ายที่สุดแล้วปัญหาค่าแรงที่สวนทางกับค่าครองชีพใน “บังกลาเทศ” ที่ถูกฉายภาพผ่านแรงงานในอุตสาหกรรม “Fast Fashion” เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่ทำให้เกิดผลเสียทั้งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจระดับประเทศตามมา และถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐและเอกชนต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประชากรในประเทศต้องประสบปัญหาในด้านต่างๆ ไปมากกว่านี้จนไม่สามารถแก้ไขได้

อ้างอิงข้อมูล : South China Morning PostThe Economic TimesThe Borgen Project และ Medium

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์