Fast Fashion กับคำถาม ความคุ้มค่าการใช้ทรัพยากร
“เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่เมื่อรวมเอาคำว่า “แฟชั่น” เข้าไปด้วยก็เกิดคำถามถึงความจำเป็นต่อการใช้ทรัพยากร ยิ่งเป็นเสื้อผ้าในกลุ่ม " Fast Fashion"
คือ เสื้อผ้าตามกระแสที่เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง มีกระบวนการผลิตที่เน้นความรวดเร็วฉับไว ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตและแรงงาน เพื่อที่ให้เสื้อผ้านั้นมีราคาไม่แพง (คำอธิบายและความหมายจากokmd)
Fast Fashionกำลังเผชิญคำถามใหญ่ต่อความคุ้มค่าการใช้ทรัพยากรในการผลิต รวมไปถึงจุดหมายปลายทางของสินค้านั้นๆว่าจะเป็นแค่ขยะอีกชิ้นบนโลก หรือ เป็นวัสดุอุปกรณ์ใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อีก
เร็วๆนี้ สหภาพยุโรป (อียู)กำลังเข้าสู่กระบวนการ “ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation” ที่จะครอบคลุมกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานเดิมและกลุ่มสินค้าใหม่ตามแผนงาน และมีการปรับมาตรการเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเงื่อนไขฉลากพลังงาน
เบื้องต้น น่าจะมีการนำมาตรการทั่วไปมาใช้ 3 ด้าน ได้แก่ ความทนทาน ความสามารถในการรีไซเคิล ส่วนประกอบที่รีไซเคิลหลังการบริโภค
จากหลักการนี้ถือว่าตรงข้ามกับหลักการของ Fast Fashion แต่อีกด้าน Fast Fashion ก็มีข้อดีคือราคาไม่แพง ใครๆก็เข้าถึงได้ และการให้ความสำคัญกับแฟชั่นซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างงานสร้างรายได้มหาศาล ก็ไม่ใช่เรื่องผิด การหาจุดสมดุลเรื่องนี้ จึงเป็นความท้าทายวงการแฟชั่นปัจจุบัน
ดร.ณิรชญา จังติยานนท์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ เอกการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กล่าวว่า การผลิตแบบมาไวไปไวของสินค้าแฟชั่นที่มีทั้งด้านดีและด้านลบ ดังนั้นการมีสินค้าFast Fashion มีแล้วไม่ได้ผิดอะไร หรือผู้เลือกใช้สินค้าประเภทนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร แค่พวกเราผู้ใช้หรือผู้ผลิต/นักออกแบบ/ผู้บริโภคทุกกลุ่ม (Target Group) อาจทำความเข้าใจใหม่ไปพร้อมๆกับด้านลบที่เกิดขึ้น
ในปัจจุบันจะพบการผลิตสินค้าFast Fashion ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะตามมาได้ หรือการให้ความสำคัญกับเลือกใช้วัสดุ(Raw Material)ในระยะเริ่มต้น เช่น จากเศษขยะ/สิ่งของเหลือใช้ก็เป็นแนวโน้มโลกแฟชั่นอย่างมากในอนาคต การใช้หลักการคิดการออกแบบรูปแบบหมุนเวียน(Circular Design Methodology) เช่น การสร้างระยะเวลาการใช้สินค้าที่ยาวนานขึ้นต่อสินค้าแต่ละชนิด /การดึงชุมชนเข้ามาเป็นผู้ผลิตและสร้างกระตระหนักรู้ต่อสินค้าที่ผลิตจะมีผลลัพธ์ทั้งด้านดีและด้านลบอย่างไรบ้าง และสร้างการรับรู้ใหม่แก่ผู้ซื้ออย่างสรรค์(Creative Consumption) บนพื้นฐานความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น หากผู้ผลิต ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องเข้าใจความเป็นจริงของสินค้าและเลือกซื้อสินค้าอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะ Fast Fashionหรือสินค้าอื่นๆหากรู้จักใช้ อย่างรู้คุณค่า ทรัพยากรที่จะสูญเสียไปก็จะไม่สูญเปล่าและไม่มีใครเป็นผู้ทำร้ายโลกอีกต่อไป