ผลักดัน พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน
อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผลักดัน พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้วิกฤติโลกร้อน โลกเดือด พร้อมรับฟัง ขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน
วันที่ 25 เมษายน 2567 “ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิชย์” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในหัวข้อ “กฎหมายโลกร้อน เกณฑ์ใหม่กับโอกาสประเทศไทย” ภายในงาน A Call to Action Go Green 2024 : The Ambition of Thailand จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า การสร้างโอกาสทางธุรกิจทางการแข่งขัน ปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ภัยพิบัติ จะรุนแรงมากขึ้นต่อไปจากวันนี้อีกหลายปี โลกที่บอกว่ากำลังร้อนกลายเป็นโลกเดือด การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา เป็นความพยายามที่เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีที่สุด ในภาวะเปลี่ยนผ่านของทั้งโลก
วันนี้อุณหภูมิแอนตาร์กติก สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ปัจจุบัน -9 องศา แต่เคย -50 องศาในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ทิศทางที่จะไป COP28 บอกชัดเจนว่าโลกทั้งโลกที่พยายามตอนนี้ยังไม่พอ อุณหภูมิอาจจะเพิ่มไปถึง 2.4 องศา แต่แค่ 2 องศา ก็ส่งผลต่อปะการัง ขณะที่ 1.5 องศาปะการังจะอยุ่ในภาวะเสี่ยง
น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น 0.03 องศา จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วันนี้ทั้งโลก หากจะไป 1.5 องศา ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ในปี 2030 แต่การดำเนินการจริงไม่ถึง 10% ขณะที่ประเทศไทย ตั้งเป้าว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 โดย 33.2% มาจากความพยายามภายในประเทศ ด้วยทุกกลไกที่มี 6.8% ใช้การเงินระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญา ทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่า และมี Extra อีก 3% ที่เอาไว้ใช้มาตรการกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้ามประเทศ
กลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต้องทำเร่งด่วน เป้า 30-40 % มาจาก 2 ปัจจัย คือ แผนที่มีอยู่แล้ว และแผนการจำกัดอุณภูมิ 1.5 องศา ทำให้ต้องมีการยกระดับแผนเพิ่มเติม เป็นมิติของปี 2030 แต่ปี 2035 อาจจะต้อง Pathway เป็นตัวตั้ง คำนวณตัวเลขว่าต้องลดเท่าไร และกระจายไปทุกเซ็กเตอร์ เพราะฉะนั้น เครื่องมือที่ว่า คือ พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีทั้งหมด 14 หมวด 169 มาตรา ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง โดยยังต้องมีการประชุมอีกหลายรอบในการพิจารณาแต่ละหมวดแต่ละมาตรา
กฎหมาย สู่การขับเคลื่อนประเทศ
ดร.พิรุณ กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของ “กฎหมาย” ในการขับเคลื่อนประเทศ คือ
1.กฎหมายสมัยใหม่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่สุด
2. มีกลไกที่สามารถนำมาใช้ใหม่ๆ ได้ ไม่ใช่การยกระดับของเดิมที่มี ไม่ใช่มิติของการพัฒนากฎหมาย แต่มีกลไกใหม่ๆ เข้ามา และกลไกนั้นจะสร้างเม็ดเงินที่สามารถเอากลับมาใช้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม
3.พัฒนากลไกทางการเงิน สนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน
และ 5. เพื่อพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผลักดันร่าง สู่กฎหมาย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย
หมวดที่ 1 รับรองสิทธิของประชาชนและกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน โดย กรมฯ จะมีการทำบิ๊กดาต้า เชื่อมโยงข้อมูลส่วนกลาง จังหวัด ท้องถิ่น
หมวดที่ 2 เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ละหน่วยงานรัฐกำหนดเป้าหมายและแผนให้สอดคล้อง บูรณาการเป้าหมายกับภารกิจตนเอง
หมวดที่ 3 คณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ยกระดับมาอยู่ใน พ.ร.บ.
หมวดที่ 4 กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมา ได้หารือกับ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับหวดที่ 8 ในการวางกลไกราคาคาร์บอนที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามา กองทุนจะมีเป้าหมายชัดเจนคือการให้กับเอสเอ็มดี สร้างขีดความสามารถ ในการรับมืออุณหภูมิของโลกที่จะเพิ่มขึ้น
หมวดที่ 5 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หมวดที่ 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศและส่งข้อมูลผ่านรายงานแห่งชาติไปยัง UNFCCC
หมวดที่ 7 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ กำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท
หมวดที่ 8 ระบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้มีมาตรการภาคบังคับในการลดก๊าซเรือนกรจะกเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่
- กำกับดูแลระบบซื้อขายสิทธิการปล่อย GHGs
- จัดทำแผนการจัดการจัดสรรสิทธิควบคุมการปล่อย GHGs
- อุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูง
- กำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้แน่นอนกว่า
หมวดที่ 9 ระบบภาษีคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการปัญหาการรั้วไหลของก๊าซเรือนกระจก อาทิ เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ เก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการใช้ไฟฟ้า และเก็บภาษีจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
หมวดที่ 10 คาร์บอนเครดิต เพื่อให้การจัดการและใช้คาร์บอนเครดิตมีความน่าเชื่อถือ และไม่ขัดหรือแย้งกับประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ได้แก่ กลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต กำกับดูแลการใช้คาร์บอนเครดิตภายในประเทศและระหว่างประเทศ และ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจคาร์บอนเครดิต
หมวดที่ 11 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หมวดที่ 12 มาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มีการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน
หมวดที่ 13 มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 14 บทกำหนดโทษ ป้องกันยับยั้งมิให้มีการกระทำฝ่าฝืนมาตรการบังคับ
“หลายคงมองว่า ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) จะเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เราคุยกับ กลต. ถึงกฎหมายที่อยู่ในมือของกลต และกลไกที่มีอยู่ในตลาด ว่าสามารถรองรับ ETS Thailand ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยวันนี้มีกลไกที่เพียงพอ”
"ทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเขียนใน พ.ร.บ. แต่ผ่านการพูดคุยกับทุกหน่วยงานของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนเป็นเป้าหมายที่อยากเห็นในการเสนอ ครม. ให้ได้”
ท้ายนี้ ดร.พิรุณ กล่าวว่า อยากฉายภาพให้เห็นว่ารัฐกำลังทำอะไร รัฐมองทุกมิติอย่างไร รัฐเข้าใจข้อจำกัดในเรื่องอะไรบ้าง และรัฐพร้อมรับฟัง ขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ด้วยกลไกเครื่องมือ คือ ร่าง พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังปี 2030 พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีความจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน