'บางจาก' เคลื่อนธุรกิจสู่กรีน เร่งสร้างความมั่นคง - สมดุลด้านพลังงาน
"บางจาก" ระบุ ทั่วโลกใช้พลังงานสูงขึ้น จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง ย้ำปิโตรเลียมจะยังคงอยู่อีกนาน แต่พลังงานสะอาดมีสัดส่วนมากขึ้น ย้ำเดินหน้าธุรกิจมุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืน
"กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดสัมมนา Go Green 2024:The Ambition of Thailand “ร่วมเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย” โดยมีวิทยากรภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว
นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club บรรยายพิเศษหัวข้อ “Green Energy: The Secret Code of Success พลังงานสะอาด รหัสลับสู่ความสำเร็จ” ว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเยอะ และร้อนกว่าวันที่เราเป็นเด็ก
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยพื้นฐานเราใช้พลังงานมากในการใช้ชีวิตประจำวันในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกิจการ อุตสาหกรรม และการขนส่ง
โดยบางจากอยู่ในธุรกิจพลังงาน สิ่งที่ติดตามคือ การใช้พลังงานทั่วโลกมีการใช้รวมกันอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านล้านจูล (EJ) ต่อวัน เทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้แอร์บัส A220 ที่บินรอบโลกวันละ 3.5 แสนรอบ มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การปฏิวัติอุตสาหกรรม มากับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ โลกที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เราเรียกร้องพลังงานสะอาด ดังนั้น เทรนด์ของโลกพลังานดั่งเดิมจะยังค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน ปิโตรเลียมจะยังอยู่แต่จะอยู่กับปิโตรเลียมอย่างไรให้ยั่งยืน
“ปี ค.ศ.2050 การใช้พลังงานของโลกจะยังค่อยๆ สูงขึ้น มาจากการเจริญของเศรษฐกิจราว 2 ล้านล้านล้านจูล (EJ) ยังเป็นฟอสซิล 80% แต่สัดส่วนพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้น”
ในภาพของการเปลี่ยนผ่านวันนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ปัจจุบันการรักษาสมดุลโลก ในการเอาพลังงานมาใช้ โลกพยายามสร้างสมดุลด้วยการดูดซับจากธรรมชาติ ทั้งเรื่องของป่าไม้ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และเรื่องของสีเขียว กรีน และบลูคาร์บอน แต่วันนี้ขณะที่เรากำลังพัฒนาเรื่อยๆ ธรรมชาติอาจสร้างสมดุลไม่พอ เราต้องสร้างสมดุลผ่านเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การกักเก็บคาร์บอน ทุกอย่างของการสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อให้เกิดการสมดุลในการเปลี่ยนผ่าน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการร่วมมือมากมาย เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำได้โดยมีกรอบ เช่น อเมริกา มีนโยบาย IRA ถือเป็นกฎหมายที่ออกมารองรับการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ส่วนใน EU ระบุว่า ปี ค.ศ.2030 โดย 55% ของพลังงานต้องเป็นพลังงานสะอาด มีการพัฒนาเทคโนโลยี สินเชื่อ และมีการร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อก้าวสู่พลังงานสะอาด แต่ต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องของเงินลงทุน แต่ต้องอย่าใจร้อน และค่อยๆ ไป
ทั้งนี้ เวที COP29 โลกเรียกร้องให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ไทยมีนโยบายทั้งเงินสนับสนุน และสิ่งต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดพลังงานสะอาดมากขึ้น คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน มีความท้าทาย 3 อย่าง คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงานในเวลาที่เหมาะสม และการสร้างความสมดุล สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บางจาก ปีนี้อายุ 40 ปี ผ่านอะไรมามากมาย ถือเป็นเส้นทางที่ต้องปรับตัวไปสู่พลังงานแห่งอนาคต โดยเริ่มต้นกำเนิดมาจากโรงกลั่นบางจาก พระโขนง ปัจจุบันเปลี่ยนไปมากมาย และเกิด 5 ธุรกิจหลักที่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจกรีนมากยิ่งขึ้น ทั้ง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ เพื่อการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำพลังงานทดแทนอนาคต
"อย่างไรก็ตาม บางจากยึดความมั่นคงด้านพลังงาน ต่อยอดการสร้างความมั่นคง และสมดุลไปสู่พลังงานสะอาด วันนี้ได้สร้างอีโคซิสเต็มเพื่อไปสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ ปัจจุบันจัดตั้ง Carbon Markets Club รวม 3 ปี และยังสร้างโรงงานผลิต และจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) จึงตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนรายแรกในไทย
ทั้งนี้ น้ำมัน SAF ทำจากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหารโดยรับซื้อจากบ้านเรือน ขณะนี้ก่อสร้างได้ 20% แล้ว ผ่านโครงการ ไม่ทอดซ้ำ และ ทอดไม่ทิ้ง เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินต้องลดการปล่อยคาร์บอน จึงต้องหาเชื้อเพลิงมาทดแทน ด้วยเครื่องบินลำใหญ่ไม่สามารถใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ได้ ทำให้ SAF ตอบโจทย์ โดยต้นปีหน้าโรงงานจะผลิตน้ำมันออกสู่ท้องตลาดให้สายการบินได้ใช้ จากการที่หลายประเทศได้มีกฎหมายที่สายการบินต้องใช้
"ทุกคนต้องช่วยกัน “ลด ละ เริ่ม” คือ การลดรอยเท้าคาร์บอน เพราะตื่นเช้ามาเราสร้างคาร์บอน ละการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้เราลดใช้แก้ว ลดการใช้รถขนส่งสาธารณะ และควรเริ่มตั้งแต่วันนี้"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์