สร้าง Urban Climate Resilience บนความเท่าเทียม รับ Climate Change
การพัฒนาเมือง อย่างไรทิศทาง จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบางของชุมชนมากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการเมืองให้ปรับตัว เตรียมพร้อมรับ Climate Change จึงต้องอยู่บนโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างความเท่าเทียม
ปัญหาการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นปัญหาใหม่ทั้งทางด้านกายภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น การพัฒนาเมืองในปัจจุบัน ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม การพัฒนาเมืองอย่างไร้ทิศทาง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางของชุมชนมากขึ้น
จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมือง และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางกายภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่ทำให้เกิดความเปราะบางของเมืองและชุมชนอย่างแท้จริง
"เป็นธรรม เท่าเทียม" โจทย์ใหญ่ในการเปลี่ยนเมือง
ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการ SUCCESS สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวในช่วงเสวนา "แนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงานด้าน Climate Resilience City เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยนำเสนอประเด็น “Urban Climate Resilience” แนวคิด หลักการ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมืองให้ปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอธิบายว่า ในการแก้ปัญหาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทั้ง แนวทางการพัฒนา แผน นโยบาย วิถีปฏิบัติ ซึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างความเท่าเทียม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ญี่ปุ่น เปลี่ยน ‘ใต้ทางรถไฟรกร้าง’ เป็นโรงเรียนอนุบาล คืนความปลอดภัยให้เมือง
- Smart City เทคโนโลยีพัฒนาเมืองที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?
- รู้จัก Resilience Framework กลยุทธ์รับมือ เพื่อ "เมืองแห่งอนาคต"
กระบวนการในการสร้าง “Climate Resilience” เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมอีก พร้อมทั้ง ต้องเรียนรู้ทบทวนบทเรียนจากในอดีตและเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
และที่สำคัญต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถ้าจะสร้างเมืองให้เป็น Urban climate resilience หรือ Resilient City จำเป็นต้องมีการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptive capacity, climate adaptation)
มีการจัดการความเสี่ยง และผลกระทบ จากภัยพิบัติ การวางแผน นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงคนในทุกระดับชั้นและเท่าเทียมกัน มีการเข้าถึงระบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของคนชายขอบ คนยากจน และกลุ่มคนเปราะบาง และมีการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติและการดูแลกำกับเมือง
มุ่งสู่ Resilient City
ดร.ผกามาศ กล่าวต่อไปว่า แนวทางสนับสนุนให้เมืองเป็นแบบ “Urban climate resilience หรือ Resilient City จำเป็นเน้นให้เมืองเติบโตด้วยการรักษาระบบนิเวศ โดยบูรณาการแนวทางการปรับตัวที่อาศัยระบบนิเวศ (Eco-based approaches: EbA) และแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based solutions: NbS) โดยให้ความสำคัญกับ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ และรักษาแหล่งอาหารควบคู่กันไปด้วย
สำหรับการเสวนา แนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงานด้าน Climate Resilience City เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จัดขึ้นเพื่อเสริมองค์ความรู้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้าน Climate Resilience City” ผ่านระบบ Zoom Meeting ให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ รางวัลถ้วยพระราชทานเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ และรางวัลชนะเลิศองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ จำนวน 43 แห่ง ทั่วประเทศ