‘ช้อปปิ้งออนไลน์’ ทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มขยะพลาสติก ขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก

‘ช้อปปิ้งออนไลน์’ ทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มขยะพลาสติก ขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ช้อปปิ้งออนไลน์” ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แลกมาด้วยจำนวนขยะที่มากยิ่งขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

KEY

POINTS

  • แม้ผู้ให้บริการหลายรายจะพยายามลดการใช้พลาสติกลง ทั้งพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แผ่นกันกระแทก พลาสติกและสติ๊กเกอร์ที่ใช้กับสิ้นค้าชิ้นเล็ก รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น แต่ในบรรดารรจุภัณฑ์พลาสติก 86 ล้านตัน ที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี มีไม่ถึง 14% ที่ถูกรีไซเคิลด้วยซ้ำ ที่เหลือถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ หรือกระจายตัวไปตามแม่น้ำ มหาสมุทร ต่าง ๆ
  • สภาเศรษฐกิจโลก คาดการว่าภายในปี 2573 จำนวนรถขนส่งจะเพิ่มขึ้น 36% เป็นประมาณ 7.2 ล้านคันทั่วโลก สิ่งนี้จะไม่เพียงส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 21% และส่งผลให้การเดินทางใช้เวลานานมากยิ่งขึ้น
  • เมื่อลูกค้าเลือกการส่งแบบเร็วด่วน จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการไปซื้อของที่ร้านอย่างมาก เพราะบริษัทจัดส่งไม่สามารถรอให้สินค้าทั้งหมดมาถึงพร้อมกัน เมื่อจำเป็นต้องส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคภายในหนึ่งหรือสองวัน คนส่งสินค้าจึงจำเป็นต้องออกไปส่งของทั้ง ๆ ที่ยังมี่พื้นที่ว่างสำหรับบรรทุกสินค้าได้ ทำให้เพิ่มจำนวนรอบวิ่งส่งสินค้า และเกิดมลพิษมากยิ่งขึ้น

ช้อปปิ้งออนไลน์” ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซึ้อสินค้าจากใดก็ได้ เพียงไม่นานก็มีของมาส่งให้ถึงหน้าประตูบ้าน แต่ความสะดวกสบายของผู้บริโภคอาจจะแลกมาด้วยจำนวนขยะที่มากยิ่งขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

อีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันสร้างยอดขายด้วยการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะมีสินค้าลดราคาครั้งใหญ่แค่ปีละไม่กี่ครั้งตามเทศกาลสำคัญ เช่น แบล็กฟรายเดย์ วันคนโสด แต่ในปัจจุบันกลับมีการจัดโปรโมชั่นขึ้นทุกเดือน โดยเฉพาะในแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ของเอเชีย ที่มักจะมี “ดีลพิเศษ” คูปองส่วนลดเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อของมากขึ้น

 

“ช้อปปิ้งออนไลน์” เพิ่มขยะพลาสติก

การช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างที่คาดไม่ถึง “บรรจุภัณฑ์” ของสินค้า และกล่องพัสดุมีส่วนอย่างมากที่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลาสติก สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศ ข้อมูลจาก Canopy องค์กรอนุรักษ์ป่าไม้ค้นพบว่า ในแต่ละปีมีต้นไม้ประมาณ 3,000 ล้านต้นถูกตัด เพื่อผลิตนำไปผลิตเป็นกล่องและหีบห่อสำหรับขนส่งจำนวน 241 ล้านตัน 

แม้ผู้ให้บริการหลายรายจะพยายามลดการใช้พลาสติกลง ทั้งพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แผ่นกันกระแทก พลาสติกและสติ๊กเกอร์ที่ใช้กับสิ้นค้าชิ้นเล็ก รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น แต่ในบรรดารรจุภัณฑ์พลาสติก 86 ล้านตัน ที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี มีไม่ถึง 14% ที่ถูกรีไซเคิลด้วยซ้ำ ที่เหลือถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ หรือกระจายตัวไปตามแม่น้ำ มหาสมุทร ต่าง ๆ 

ข้อมูลจากไปรษณีย์จีนระบุว่า ในปี 2563 มีการจัดส่งพัสดุถึง 83,000 ล้านชิ้น คิดเป็นปริมาณขยะพลาสติก 1.8 ล้านตัน และขยะกระดาษเกือบ 10 ล้านตัน ส่วนในฮ่องกงมีการขยะบรรจุภัณฑ์จากการช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 780 ล้านชิ้น โดยสินค้า 1 ชิ้นจะใช้บรรจุภัณฑ์เฉลี่ยที่ 2.18 ชิ้น ส่วนใหญ่มีประกอบเป็นวัสดุผสมซึ่งยากต่อการรีไซเคิล

นอกจากนี้ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อและการจัดส่งต้องใช้พลังงานประมาณ 10 เท่าของปริมาณพลังงานของบ้านทั่วไป และจำต้องใช้น้ำจำนวนมากสำหรับระบายความร้อนอีกด้วย

 

“การขนส่งสินค้า” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก

นอกจากจะแข่งขันกันด้านราคาแล้ว ในตอนนี้เหล่าอีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันด้วยความเร็ว Amazon อีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ใช้กลยุทธ์ด้านราคา ความสะดวกสบายและความเร็ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยทำให้ลูกค้าเชื่อว่าการจัดส่งฟรีและรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงทำให้อีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นต่างต้องใช้กลยุทธ์เดียวกัน เพื่อตามทันคู่แข่งรายใหญ่ ทำให้การสั่งของตอนเช้าได้รับของตอนเย็นจึงเป็นเรื่องที่ปรกติ 

การขนส่งสินค้าสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ของเหล่าบรรดาไรเดอร์ แมสเซนเจอร์ และบริการเดลิเวอร์รีต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซอสซิล ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก 

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF คาดการว่าภายในปี 2573 จำนวนรถขนส่งจะเพิ่มขึ้น 36% เป็นประมาณ 7.2 ล้านคันทั่วโลก สิ่งนี้จะไม่เพียงส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 21% และส่งผลให้การเดินทางใช้เวลานานมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ค้าปลีกออนไลน์และบริษัทขนส่งสินค้า จัดส่งพยายามทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นมิตรกับสภาพอากาศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ตั้งเป้าใช้รถขนส่งไฟฟ้าให้ได้ 100,000 คัน ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวการที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” ลงหลายล้านเมตริกตันต่อปี

ขณะที่ UPS บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ มีแผนเปลี่ยนรถขนส่งสินค้าเป็นยานพาหนะไฟฟ้า แต่แผนนี้ต้องสะดุดเมื่อบริษัทคู่สัญญาจัดหารถบรรทุกประสบปัญหาทางการเงิน ส่วน FedEx บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ตั้งใจจะเปลี่ยนรถในการจัดส่งพัสดุทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2583 โดยจะเปลี่ยนรถครึ่งหนึ่งก่อน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ บางบริษัทยังทดลองใช้หุ่นยนต์และโดรนในการข่นส่งสินค้าอีกด้วย

 

“ส่งด่วน-คืนง่าย” เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หากเทียบเรื่องการขนส่งสินค้าแล้ว การใช้รถคันเดียวบรรทุกของไปให้ลูกหลายหลัง ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ผู้บริโภคทุกคนขับรถออกไปซื้อที่ร้านค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ค่อยออกซื้อสินค้าบ่อยครั้งนัก งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก MIT พบว่าการไปซื้อสินค้าที่ร้านมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 2 เท่า แต่ผลวิจัยนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อลูกค้าไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว

เมื่อลูกค้าเลือกการส่งแบบเร็วด่วน จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการไปซื้อของที่ร้านอย่างมาก เพราะบริษัทจัดส่งไม่สามารถรอให้สินค้าทั้งหมดมาถึงพร้อมกัน เมื่อจำเป็นต้องส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคภายในหนึ่งหรือสองวัน คนส่งสินค้าจึงจำเป็นต้องออกไปส่งของทั้ง ๆ ที่ยังมี่พื้นที่ว่างสำหรับบรรทุกสินค้าได้ ทำให้เพิ่มจำนวนรอบวิ่งส่งสินค้า และเกิดมลพิษมากยิ่งขึ้น

อีคอมเมิร์ซหลายแห่งจัดข้อเสนอ “คืนสินค้า” ได้ง่ายดายและบ่อยครั้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการคืนสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น ที่มียอดคืนสินค้าพุ่งสูงขึ้นเกิน 30% ของสินค้าที่ซื้อทั้งหมด ข้อมูลจาก Invesp บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดพบว่า 79% ของผู้บริโภคต้องการส่งคืนสินค้าฟรี และ 92% มีแนวโน้มที่จะซื้ออีกครั้งหากสามารถคืนสินค้าได้ง่าย สถิติเหล่านี้สร้างเป็นแรงจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ เสนอทางเลือกดังกล่าว เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่ม

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ยึดถือความสะดวกสบายเป็นหลัก แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะพยายามสร้างความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นก้าวที่ดีในการไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่การเปลี่ยนแปลงจากฝั่งผู้ขายเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด พฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดผลกระทบของอุตสาหกรรมนี้ในท้ายที่สุด ดังนั้นวิธีเดียวที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอีคอมเมิร์ซได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค

 

ที่มา: EarthThe New York Times