ชวนผู้ป่วยเบาหวาน 'เช็ก ถอด ทิ้ง' คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน
ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 5.2 ล้านคน เกือบ 20% ของคนไข้เบาหวานต้องฉีดยาอินซูลิน แต่มีเพียง 13% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล SANOFI ผนึก SCGC และ Cirplas เปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program” ชวนผู้ป่วยเบาหวาน ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน
KEY
POINTS
- “เบาหวาน” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (์NCDs) ที่คนไทยเป็นกันมากกว่า 5.2 ล้านคน และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งใช้ยาฉีดอินซูลินมาช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ปากกาอินซูลินใช้แล้ว เป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- SANOFI ผนึก SCGC และ Cirplas เปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program” ชวนผู้ป่วยเบาหวาน ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน
“เบาหวาน” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (์NCDs) ที่คนไทยเป็นกันมาก ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 5.2 ล้านคน และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งใช้ยาฉีดอินซูลินมาช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จัดว่าเป็นขยะที่ต้องกำจัดให้ถูกวิธี
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด (SANOFI) บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนและผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Polymer บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด (Cirplas) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร พร้อมด้วยโรงพยาบาล ตลอดจนพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน” ส่งเสริมพฤติกรรม “เช็ก ถอด ทิ้ง” รณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานส่งคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว เริ่มนำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลศรีนครินทร์
- โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- Tha·Wai พลิกโฉมเสื่อวัด รีไซเคิลพลาสติกสู่ความยั่งยืน
- ชุบชีวิต 'ขยะพลาสติก' ให้เป็นของมีค่า กับ 'Plas-Tao'
- ‘เยอรมนี’ ขึ้นแท่นประเทศ ‘รีไซเคิล’ มากที่สุดในโลก
ปากกาอินซูลิน “ขยะทางการแพทย์” ที่รอการจำกัดอย่างถูกวิธี
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า ปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เกิดเป็นมลพิษซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในดิน ในแหล่งน้ำ กระทบกับคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค สุขภาพสัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่สุขภาพของเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะแก่ประชาชน รณรงค์ให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะทางการแพทย์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
“การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว สิ่งสำคัญ คือ ภาคประชาชน ระบบจัดเก็บ และส่งต่อ รวมถึงต้องมี Value และครบวงจร ทำให้การแก้ปัญหายั่งยืน”
จัดเก็บ รีไซเคิล ปากกาอินซูลิน
ดาราวรรณ ลุยะพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจยา General Medicines ซาโนฟี่ ประเทศไทย กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยเบาหวานประเทศไทยกว่า 5.2 ล้านคน ใช้ปากกาอินซูลินของซาโนฟี่กว่า 800,000 ด้ามต่อปี เทียบเป็นปริมาณขยะพลาสติกถึง 17 ตัน ซาโนฟี่ จึงรณรงค์การแยกเข็ม และจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลภายใต้ชื่อโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน”
ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บและรีไซเคิลปากกาฉีดอินซูลินใช้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยกันบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มีคุณค่ามากขึ้น
“โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นวัตกรรมสุขภาพ ดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม แสดงถึงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน”
Cirplas คัดแยก รวบรวม สู่การรีไซเคิล
ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ป่วย ทำการ “เช็ก ถอด ทิ้ง” ปากกาอินซูลิน และนำมาหย่อนลงมากล่องที่ตั้งรับไว้ใน รพ. ทั้ง 6 แห่งแล้ว Cirplas บริษัทสตาร์ทอัพ (start-up) ที่มุ่งเน้นการจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร จะทำหน้าที่ในการเก็บ คัดแยก เพื่อส่งต่อให้ SCGC เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
"ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด เผยว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกราว 2.76 ล้านตัน เท่ากับ 12 ล้านคันรถกระบะ ทุก 10 ชิ้นมีแค่ 2 ชิ้นที่รีไซเคิล 8 ชิ้นเผาหรือฝังกลบ เพราะเป็นพลาสติกที่คนเข้าใจว่ารีไซเคิลไม่ได้ แต่ความจริงไม่ใช่ เพียงแค่การจัดเก็บ คัดแยก นำไปรีไซเคลิ ขั้นตอนค่อนข้างเยอะ โดยในไทยมีกลไก 3 ส่วน คือ คนเก็บขยะแยก , คนที่นำขยะไปแปลงเป็นวัตถุดิบ และ คนที่แปลงวัตถุดิบเปนสินค้า
โครงการนี้ Cirplas เป็นส่วนหนึ่งในการนำปากกาอินซูลินใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดย จะช่วยสนับสนุนดำเนินการจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้ว คัดแยก รวบรวม เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หวังว่าโครงการฯ นี้จะช่วยสร้างความตระหนักในวงกว้าง รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้กับสังคมในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อไป
เปลี่ยนพลาสติก เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCGC เผยว่า “ปากกาอินซูลินใช้แล้ว นับเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมหาศาล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากทิ้งหรือบริหารจัดการขยะเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อโรคในชุมชน ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน รวมถึงเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
SCGC จึงนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer มารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling สะท้อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการฯ นี้ ช่วยส่งเสริมการทิ้งขยะทางการแพทย์ในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสุขอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย โดยพลาสติกที่รีไซเคิล จะถูกนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เก้าอี้ ไม้เท้า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ และส่งต่อให้กับบ้านพักคนชราต่อไป
ร่วมด้วย ช่วยกัน เช็ก ถอด ทิ้ง
ทั้งนี้ “ผู้ป่วยเบาหวาน” ที่ใช้อินซูลิน มีส่วนสำคัญในโครงการนี้เช่นกัน “ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์” นายกสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย เผยว่า คนไข้เบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยเกินแสนคนต่อปี ขณะนี้ มีผู้ป่วยกว่า 5.2 ล้านคน และเกือบ 20% ของคนไข้เบาหวานต้องฉีดยาอินซูลิน
ที่ผ่านมา มีการพัฒนาจากกระบอกฉีดยาเป็นแก้ว เป็นพลาสติก และเป็นปากกา นับเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นช่วยให้คนไข้ที่ต้องฉีดยาใช้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้น ยังมีความแม่นยำ ลดการปนเปื้อน แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้น คือ ขยะพลาสติก
"เพราะปากกาปัจจุบัน คือ พลาสติกกลุ่มหนึ่งที่มีคุณภาพดี หากนำไปรีไซเคิลจะเกิดประโยชน์ โดยคนที่ใช้อินซูลินมากที่สุด คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หากสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมทุกที่ ทุกจุดตามโรงพยาบาล คาดว่าการกระจายขยะจะลดลง การเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลอาจจะไม่ลำบากเช่นในปัจจุบัน"
สธ. ร่วมขับเคลื่อน ลดโลกร้อน
นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมการแพทย์ ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัด 32 แห่ง ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการนี้ และเชื่อมต่อไปยัง รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 2,000 แห่ง ที่จะเข้าร่วมในอนาคตต่อไป
กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงภัยจากโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ อุณหภูมิเปลี่ยน การระบาดของโรคก็เปลี่ยนไป รวมถึงโรคที่ไม่ระบาด เช่น ฮีทสโตรก กระทรวงฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
โดยมีมาตรการทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ราว 1,200 กว่าแห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED ปรับแอร์เบอร์ 5 ใช้สมาร์ตลิฟต์ เปลี่ยนรถพยาบาลเป็นรถ EV และเรื่องของ Green Hospital สวนแนวตั้งใน รพ. เป็นต้น
นอกจากนี้ หากดูเรื่องของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ดูแลคนไข้กว่า 70% การที่เขาเดินทางมาโรงพยาบาล ถือเป็นการปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีการลดการเดินทาง โดยการใช้เทเลเมดิซีน และ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่
“โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program ถือเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สามารถตอบโจทย์การจัดการขยะอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การรักษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานด้วยอินซูลินนั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่เคย และคาดว่าโครงการนี้จะสามารถขยายไปยังส่วนอื่นๆ ต่อไป”
3 วิธีง่ายๆ เช็ก ถอด ทิ้ง
เช็ก ปากกาอินซูลิน
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีอินซูลินค้างที่ปากกา
ถอด หัวเข็มฉีดยาออก
- ก่อนทิ้งปากกาฉีดอินซูลินที่ใช้แลวให้ถอดหัวเข็ม ออกจากตัวด้ามปากกาก่อน
- แยกทิ้งหัวเข็มลงในกล่องทิ้งวัสดุมีคม ห้ามทิ้งปนกับด้ามปากกาฉีดอินซูลิน
ทิ้ง เพื่อรีไซเคิล
- นำปากกาอินซูลินที่ใช้แล้วมาทิ้งยังจุดรับทิ้งของโรงพยาบาลที่มีสัญลักษณ์ PLANET CARE