‘เวเนซุเอลา’ ประเทศแรกในโลก ที่ไม่เหลือธารน้ำแข็งอยู่เลย

‘เวเนซุเอลา’ ประเทศแรกในโลก ที่ไม่เหลือธารน้ำแข็งอยู่เลย

“เวเนซุเอลา” อาจเป็นประเทศแรกในยุคสมัยใหม่ที่จะไม่หลงเหลือ “ธารน้ำแข็ง” อยู่เลย หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศพบว่าธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายในประเทศละลายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแค่ “ทุ่งน้ำแข็ง”

KEY

POINTS

  • ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา “เวเนซุเอลา” ได้สูญเสียธารน้ำแข็งไปอย่างน้อย 6 แห่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น และในตอนนี้ธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายก็ปริมาณน้ำแข็งก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 2 แห่งเท่านั้น จึงถูกจัดให้เป็นทุ่งน้ำแข็งแทน
  • ธารน้ำแข็งขนาดเล็กมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งน้ำจืดให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศร้อนและแห้ง เมื่อน้ำแข็งละลายไปหมดแล้ว อาจทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นขาดแคลนน้ำ และต้องรอให้ฝนตกอย่างเดียว อีกทั้งการสูญเสียธารน้ำแข็งในเวเนซุเอลาเท่ากับว่าเราได้สูญเสียบริการทางระบบนิเวศมากมายที่ธารน้ำแข็งมอบให้
  • การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสามารถช่วยรักษาธารน้ำแข็งอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลัง น้ำ และอาหาร มีประโยชน์อย่างมากต่อการดำรงชีวิต

โครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศแห่งไครโอสเฟียร์นานาชาติ หรือ ICCI องค์กรกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องภูมิภาคน้ำแข็ง ระบุว่าธารน้ำแข็งฮุมโบลต์ (Humboldt) หรือ ลา โคโรนา (La Corona) ในเทือกเขาแอนดีสของเวเนซุเอลามีขนาด “เล็กเกินไปที่จะเป็นธารน้ำแข็ง”

 

“เวเนซุเอลา” ประเทศแรกในโลก ที่ไม่เหลือธารน้ำแข็งอยู่เลย

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เวเนซุเอลาได้สูญเสียธารน้ำแข็งไปอย่างน้อย 6 แห่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งละลายเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น

“ธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายของเวเนซุเอลาไม่ค่อยมีน้ำแข็งปกคลุมมาตั้งแต่ยุค 2000 และในตอนนี้ก็ปริมาณน้ำแข็งก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมันจึงถูกจัดให้เป็นทุ่งน้ำแข็งแทน” ดร.แคโรไลน์ คลาสัน นักวิทยาธารน้ำแข็งจากมหาวิทยาลัยเดอรัม กล่าว

แม้ว่าจะไม่มีมาตรฐานสากลกำหนดปริมาณน้ำแข็งขั้นต่ำของธารน้ำแข็ง แต่สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดกันว่าธารน้ำแข็งจะต้องมีน้ำแข็งอย่างน้อยประมาณ 10 เฮกตาร์ หรือ 0.1 ตารางกิโลเมตร

การศึกษาชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในปี 2020 พบว่าธารน้ำแข็งในเวเนซุเอลามีขนาดเล็กลงกว่า 0.1 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงปี 2015-2016 แม้ว่าจะตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติเซียร์ราเนวาดา ที่ระดับความสูงเกือบ 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลก็ตาม

ศ.มาร์ก มาสลิน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลก ทั้งระบบจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ทุ่งน้ำแข็ง เช่น ฮุมโบลต์ มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลสองสนาม ไม่สามารถเรียกว่าเป็นธารน้ำแข็งได้เลย

“คำจำกัดความของธารน้ำแข็งคือ น้ำแข็งที่ปกคลุมหุบเขา ดังนั้นผมบอกได้เลยว่าเวเนซุเอลาไม่มีธารน้ำแข็งเหลืออยู่เลย” เขาบอกกับ BBC

รัฐบาลเวเนซุเอลาพยายามจะรักษาธารน้ำแข็งเอาไว้ ด้วยการใช้ผ้าคลุมกันความร้อนคลุมน้ำแข็งที่เหลือหวังว่าจะขัดขวางหรือย้อนกระบวนการละลาย แต่โครงการดังกล่าวถูกนักวิทยาศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมเตือนว่าอนุภาคพลาสติกจากวัสดุที่ใช้คลุมน้ำแข็งอาจจะปนเปื้อนน้ำแข็งได้

ศ.มาสลิน กล่าวว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้น้ำแข็งที่ละลายไปแล้วกลับมาได้เหมือนเดิม เนื่องจากเมื่อธารน้ำแข็งหายไป แสงแดดจะทำให้พื้นดินร้อนขึ้น และอากาศจะอุ่นขึ้นมาก จนน้ำแข็งไม่ได้สามารถก่อตัวได้เลยในช่วงฤดูร้อน

ทุ่งน้ำแข็งในเวเนซูเอลา

“ทุ่งน้ำแข็งฮุมโบลต์” ในเวเนซุเอลา

 

“ธารน้ำแข็ง” กำลังละลายอย่างรวดเร็ว

ธารน้ำแข็งขนาดเล็กมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งน้ำจืดให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศร้อน และแห้ง เมื่อน้ำแข็งละลายไปหมดแล้ว อาจทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นขาดแคลนน้ำ และต้องรอให้ฝนตกอย่างเดียว

ดร.คลาสัน กล่าวว่า การสูญเสียธารน้ำแข็งในเวเนซุเอลาเท่ากับว่าเราได้สูญเสียบริการทางระบบนิเวศมากมายที่ธารน้ำแข็งมอบให้ ตั้งแต่แหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม เพราะธารน้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาค ทำให้เกิดกิจกรรมการปีนเขา และการท่องเที่ยว

ประเทศอื่นๆ ก็กำลังสูญเสียธารน้ำแข็งเช่นกัน มักซิมิเลียโน เอร์เรรา นักวิจัยสภาพอากาศสุดขั้วให้ความเห็นว่าประเทศถัดไปที่มีแนวโน้มจะไม่มีธารน้ำแข็งเหลืออยู่เลย ได้แก่ อินโดนีเซีย เม็กซิโก และสโลวีเนีย เพราะอินโดนีเซีย และเม็กซิโก อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศต่างเจอกับอุณหภูมิที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ยิ่งทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นไปอีก

ขณะที่สโลวีเนียมีภูเขาไม่ค่อยสูงเท่าไรนัก ทำให้แผ่นน้ำแข็งในประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เขตอบอุ่นขยายตัวไปไกลมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดพื้นที่การก่อตัวของหิมะและน้ำแข็งลงไป

ดร.เจมส์ เคิร์กแฮม นักธรณีวิทยาจาก ICCI แ ละ ดร.มิเรียม แจ็กสัน นักธรณีวิทยาศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการ คาดว่าประมาณ 20-80% ของธารน้ำแข็งทั่วโลกจะหายไปภายในปี 2100 ขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระดับภูมิภาค

แม้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ธารน้ำแข็งบางส่วนก็จะยังละลายตามธรรมชาติอยู่ดี แต่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสามารถช่วยรักษาธารน้ำแข็งอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังน้ำ และอาหาร มีประโยชน์อย่างมากต่อการดำรงชีวิต


ที่มา: BBCEuro NewsThe Guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์