Transition Plan แผนเปลี่ยนโลก

แผนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) โดยหมายถึงการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญของทั้งภาคเศรษฐกิจจริง (Real Economy) และภาคการเงิน (Financial Sector)

สวัสดีครับ 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าธนาคารพาณิชย์ในไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่มีความ “เข้มข้น” หรือภาษาชาวบ้านคือกำลังง่วนอยู่กับการเริ่มสร้างแผนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) โดยหมายถึงการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญของทั้งภาคเศรษฐกิจจริง (Real Economy) และภาคการเงิน (Financial Sector) เหตุใดจึงเป็นหน้าที่หลักของธนาคารพาณิชย์ในการสร้างแผนฯ ดังกล่าว 

อย่างที่ทราบกันดีว่า สถาบันการเงินเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ เนื่องจากการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างธุรกิจคาร์บอนต่ำและโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ โดย Asia Investor Group on Climate Change (AIGCC) ซึ่งเป็นเครือข่าย นักลงทุนสถาบันชั้นนำในเอเชียที่มุ่งลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประมาณการไว้ว่า เราต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมหาศาลกว่า 26 ถึง 37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2020 - 2050 เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในทวีปเอเชีย จนสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ในที่สุด

จากบทบาทของสถาบันการเงินดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้กำหนดความคาดหวังว่าต้องการเห็น ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIBs) รวมถึงธนาคารที่สนใจ เริ่มกำหนดแผนและเป้าหมายระยะยาวในการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม (Transition Plan) โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Priority Sector) อาทิ พลังงาน การขนส่ง หรือภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และในระหว่างที่กำลังทำแผนกันอยู่นั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องมีแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สามารถเริ่มต้น หันหน้ามุ่งสู่ความเป็น สีเขียวมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อผลักดันให้ทั้งระบบก้าวสู่ความยั่งยืนพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมอยากจะพูดถึงแผนการเปลี่ยนผ่านระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งกล่าวอย่างง่ายคือ ธนาคารต้องมีแผนปฏิบัติการที่ช่วยให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยังเป็นสี “น้ำตาล” เปลี่ยนผ่านไปยัง “น้ำตาลอ่อน” พร้อมมุ่งสู่ “สีเขียว” ในอนาคตนั่นเองครับ อันที่จริงเรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในไทย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่สำหรับสถาบันการเงินในยุโรป ซึ่งได้เริ่มทำมาก่อนแล้ว เขาทำได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากธนาคารแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Credit Agricole ที่ได้กำหนดขั้นตอนการทำ Transition Plan ไว้อย่างเป็นระบบและน่าสนใจ ในรายงาน “Thought Leadership Paper: Defining an Ambitious Climate Strategy of Green Banking” ที่ออกเมื่อปลายปีที่แล้ว ผ่านการใช้กระบวนการห้าประการเพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนี้

1) เริ่มที่การกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk Governance) ธนาคารได้ใช้โครงสร้างการกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อประเมิน จัดการ และสื่อสารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ของธนาคาร อีกทั้งได้วางรากฐานที่มั่นคงเพื่อพัฒนาแนวทางการนำพาองค์กรสู่ความยั่งยืน

2) มองหา “ความเขียว” ในพอร์ตโฟลิโอ (Define “Green” in Balance Sheet) ธนาคารได้อ้างอิงมาตรฐานในการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสากลหรือ Taxonomy เพื่อระบุว่า ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร มีสินทรัพย์ใดบ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้นิยามทั้งโอกาสและความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศไว้อย่างชัดเจน

3) กำหนดพันธกิจด้านสภาพภูมิอากาศ (Formulation of Climate Commitments) ธนาคารได้กำหนดวิสัยทัศน์ด้านการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สามารถบรรลุได้จริงสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 3) จากพอร์ตโฟลิโอได้

4) บูรณาการพันธกิจด้านสภาพภูมิอากาศ (Integration of Climate Commitments) เข้ากับการดำเนินงาน ธนาคารได้จัดการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ แนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างรอบด้าน ตามวิสัยทัศน์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่

5) พัฒนาความสามารถด้านการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ลูกค้า (Advisory Capabilities) สุดท้ายคือ ธนาคารได้ยกระดับขีดความสามารถ ฉายภาพวิสัยทัศน์องค์กร พร้อมชูจุดเด่นการเป็นผู้นำด้านธนาคารสีเขียว เพื่อสร้างความมั่นใจในการสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หลักการข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและรอบด้านอีกทั้งถ้าจะให้ดีต้องสอดคล้องกับ Taxonomy ด้วย จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่ความยั่งยืนนั้นแม้จะมีความซับซ้อน แต่ถ้าเราเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่วันนี้ ผ่านทั้ง “Transition Plan” ที่เปรียบเสมือนแผนที่เดินเรือ และผลิตภัณฑ์ “Transition Finance” ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงเริ่มต้น ย่อมจะสามารถนำภาคเศรษฐกิจไทยล่องสู่อนาคตอันสดใส พร้อมเป็นอีกหนึ่งแรงส่งเพื่อพลิกโฉมโลกของเราสู่อนาคตสีเขียว และที่จะลืมไปไม่ได้คือ “Actions Speak Louder Than Words” การลงมือทำเท่านั้นจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครับ