Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดเวที ‘Go Green 2024: The Ambition of Thailand’ เป็นงานสัมมนาที่ทุกภาคส่วนร่วมแบ่งปันมุมมอง ประสบการณ์ เปลี่ยนความท้าทายในยุคโลกเดือดเป็นโอกาสสำหรับไทย และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจ และสังคมสีเขียว

งานสัมมนา ‘Go Green 2024: The Ambition of Thailand’ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจ ประชาชนชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก เมื่อวันที่  25 เมษายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์  ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

ยุทธศาสตร์ว่าด้วย "Go Green" คือเส้นทางสู่ความยั่งยืน แม้จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างแต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีความท้าทายต่างๆ เมื่อโลกเข้าสู่ยุค "โลกเดือด" (Global Boiling) การทำธุรกิจในแบบแผนเดิมๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าโลกใบนี้อยู่ไม่ได้ เพื่อนำพาประเทศผ่านจุดเปลี่ยน ต้องปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์

‘Go Green’ สึนามิการลงทุน

เริ่มด้วย ‘นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘The Investment Attraction Strategy For Green Industries ยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุนไทยเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียว’ สรุปใจความว่า บีโอไอได้ร่วมมือกับทั้งรัฐ และเอกชน เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นดินแดนแห่งการลงทุน ขับเคลื่อนด้วยนโยบายส่งเสริมธุรกิจในกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green)

ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจภาคการเกษตร อาหาร ไบโอเทคโนโลยี ภาคขนส่ง พลังงานสะอาด ธุรกิจบริการด้านเซอร์คูลาร์อีโคโนมี หากทำได้จะสามารถดึงดูดการลงทุนได้จากทั่วโลก ถือเป็นสึนามิการลงทุน เพราะเรื่องกรีนมีผลกับทุกบริษัท และทุกขนาดอุตสาหกรรม ดังนั้น กรีนไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อประเทศ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘ธนพงศ์ อุดมศิลป์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานโรงงาน (ภาคกลาง) กลุ่มมิตรผล ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อย ลดขยะ และการเผาอ้อย ส่วนที่เหลือทิ้งจากการผลิตน้ำตาลนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปุ๋ยชีวภาพ

สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล่าสุด กลุ่มมิตรผล สามารถก้าวสู่ผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับ 1 ของโลก จัดอันดับโดย S&P Global พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อส่งต่อความยั่งยืนจากภาคเกษตร สู่สังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้านเวทีเสวนา “ธุรกิจไทย ปรับตัวรับบริบทโลกร้อน” ต่างสะท้อนมุมมองในสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังเป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทย ในยามวิกฤติผู้ที่ปรับตัวเท่านั้นที่อยู่รอด “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายประเทศให้ความสนใจ และเร่งขับเคลื่อนผลักดัน ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือว่าทำได้ดี โดยไทยเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 3 ของเอเชีย

อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินกันในแง่การปฏิบัติไทยยังเป็นกลุ่มที่ไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร “ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศเริ่มเห็นความน่าสนใจ ว่าจะเกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกับเทรนด์ดังกล่าวมากขึ้น ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจคาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

“เปลี่ยนความกังวล เป็นเปลี่ยนแปลง” ‘ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์’ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อคิดไว้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ จะมีมาตรการบังคับใช้เข้มข้นขึ้น อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’ สำหรับเอสเอ็มอีเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดย ส.อ.ท.ได้รับคำถามจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องที่ต้องการปรับตัว และวางแผนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณ เช่น Climate Finance และ Taxonomy ได้ต้องมีดัชนีชี้วัดที่แสดงว่าธุรกิจเหล่านั้นเข้าเกณฑ์เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำลง

ด้าน “ธรรศ ทังสมบัติ” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้ความเห็นว่า ภาพรวมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ส่วนที่สำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร

ดังนั้นเรื่องคาร์บอนเครดิตหรือ CBAM จึงไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ซึ่งการที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีวัตถุดิบสำหรับชีวมวล (Biomass) อย่างมหาศาล ซึ่งนำไปสู่กระบวนการทำถ่านชีวภาพ (Biochar) แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนจากไบโอแมสมากนัก แต่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ภาครัฐอาจต้องกลับมาทบทวนตัวเอง

การแข่งขันในโลกอนาคต

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจและนักลงทุนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอดและมีกำไรอย่างยั่งยืน หนึ่งในวิธีที่สามารถปรับตัวและช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มกำไรให้กับบริษัทในระยะยาว มีคำตอบในวงเสวนา ‘The Climate Tech for Goal Green เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม’

‘ประวัติ เพียรเจริญ’ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บจ.ซีเมนส์ กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันมีหลายแบบ แต่ต้องเลือกให้เหมาะสม และตอบโจทย์องค์กรจะทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้มีประสิทธิภาพ ต้องมีการตรวจสอบว่าองค์กรนั้นมีอะไรที่ทำให้เกิดคาร์บอนที่ทำให้เกิดอันตรายต่อคน และสิ่งแวดล้อม และกำจัดหรือลดสารอันตรายนั้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีมากขึ้น

‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ทั่วโลกมีการพูดถึง Climate Tech หรือเทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทุกๆ ปี โดยจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่โลกพร้อมสู่ Climate Tech

บิทคับก็พร้อมเปิดสวิตช์การเทรดคาร์บอนเครดิตใน 24 ชั่วโมง เพราะมีความพร้อมด้านความรู้ และเทคโนโลยีสามารถสร้างอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนสีเขียวได้ทันที แต่ยังรอความชัดเจนด้านกฎระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย และการกำกับดูแลจากรัฐบาล เพราะบิทคับเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคนใช้มากถึง 95% ของตลาด และมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 4 พันล้านบาทต่อวัน

ด้าน ‘ปิยบุตร จารุเพ็ญ’ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี ได้แสดงมุมมองผ่านหัวข้อ ‘Generating a Cleaner Future’ การรับมือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจต้องมีแผนไม่ให้ธุรกิจของตนตกเทรนด์ และอยู่รอดในการเปลี่ยนผ่านในการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ  ด้วยเทคโนโลยี BIG Climate ที่ช่วยผลักดันเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยกตัวอย่าง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย BIG Solutions & Technologies ได้แก่ ก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และไฮโดรเจนสําหรับการขับเคลื่อนในรถต่างๆ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ชดเชยคาร์บอน บนแพลตฟอร์มการจัดการคาร์บอนของ BIG เป็นต้น ซึ่งจะสามารถมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่เสมอ และเป็นการใช้ทรัพยากร และพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘เสริมชัย จารุวัฒนดิลก’ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้กล่าวในหัวข้อ ‘PEA Centric Management of REC and Carbon FORM กฟภ. ศูนย์รวมแห่งการจัดการพลังงานทดแทนและคาร์บอน’ ว่าการผลักดันประเทศไทยสู่สังคมไร้คาร์บอนเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ไทยไปด้วยกันกับประชาคมโลก

ทั้งนี้ ในตลาดปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ซึ่งแพลตฟอร์ม Carbonform ของกฟภ.มีความได้เปรียบจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตรงที่เป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าด้วย จึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและคาร์บอนฟุตพรินต์ scope 2 ได้อย่างอัตโนมัติ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ขององค์กรได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกการจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ภายในองค์กรทั้งหมด

 

เมื่อกติกาความอยู่รอดเปลี่ยนไปธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร

‘ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิชย์’ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในหัวข้อ “กฎหมายโลกร้อน เกณฑ์ใหม่กับโอกาสประเทศไทย” ว่า การสร้างโอกาสทางธุรกิจทางการแข่งขัน ปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ภัยพิบัติ จะรุนแรงมากขึ้นต่อไปจากวันนี้อีกหลายปี โลกที่บอกว่ากำลังร้อนกลายเป็นโลกเดือด การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา เป็นความพยายามที่เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีที่สุด ในภาวะเปลี่ยนผ่านของทั้งโลก

กลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต้องทำเร่งด่วน เป้า 30-40 % มาจาก 2 ปัจจัย คือ แผนที่มีอยู่แล้ว และแผนการจำกัดอุณภูมิ 1.5 องศา ทำให้ต้องมีการยกระดับแผนเพิ่มเติม เป็นมิติของปี 2030 แต่ปี 2035 อาจจะต้อง Pathway เป็นตัวตั้ง คำนวณตัวเลขว่าต้องลดเท่าไร และกระจายไปทุกเซ็กเตอร์ เพราะฉะนั้น เครื่องมือที่ว่า คือ พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีทั้งหมด 14 หมวด 169 มาตรา ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง โดยยังต้องมีการประชุมอีกหลายรอบในการพิจารณาแต่ละหมวดแต่ละมาตรา Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ’ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ ‘กฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันโลกทำ ธุรกิจอย่างยั่งยืน’ ว่า กฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (The Corporate Sustainability Due Diligence Directive : CSDDD) ไม่เพียงมีผลบังคับใช้ต่อบริษัทในสหภาพยุโรป แต่ยังมีผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติ

รวมถึงภาคเอกชนของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น บนเส้นทางความยั่งยืนไปสู่ความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ ในปี 2050 ของเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรป จะมีข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ EU Green Deal ตามมาอีกมากมาย นับจากนี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัว

“บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ Top5 กำลังทำ Climate Tech หากเป็นสตาร์ตอัป เป็นโซลูชัน จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะเปลี่ยนไทยเป็นสายเซอร์วิส ท่องเที่ยวและบริการ หากตรวจสอบได้ว่าธุรกิจให้บริการโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการท่องเที่ยว หลายคนอาจมองว่าเป็นความท้าทาย แต่หากเราไปด้วยกันก็ถือเป็นโอกาส”

‘ชำนาญ กายประสิทธิ์’ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ ‘Green Energy Strategy ยุทธศาสตร์พลังงานสีเขียว’ ว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รับผิดชอบในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กำกับการอนุรักษ์พลังงาน จัดหาแหล่งพลังงาน พัฒนาทางเลือกการใช้พลังงานแบบผสมผสาน และเผยแพร่เทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่องเพื่อสนองตอบความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ ด้วยต้นทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

โดยเป้าหมายการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในปี พ.ศ.2580 เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2566 และเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับ AEDP 2018 โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 48% เชื้อเพลิงฟอสซิล 52% รวมเป็น 292,818 GWh

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘เกียรติชาย ไมตรีวงษ์’ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ได้กล่าวในหัวข้อ ‘T-VER Premium คาร์บอนเครดิต มาตรฐานใหม่สู่สากล’  "โอกาสของคาร์บอนเครดิตเปิดสำหรับหลายองค์กร TGO เป็นองค์กรที่ดูแลมาตรฐาน เป็นที่มาที่ต้องพัฒนาคาร์บอนเครดิต จากเดิมเป็น Standard T-VER ที่มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้นในประเทศไทย สู่การทำ Premium T-VER มาตรฐานระดับบริษัท ต้องเข้มข้นขึ้น โครงการต้องวัดผลชัดเจน เป็นโครงการใหม่ ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ระบบป้องกัน สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีการประเมินเพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่การฟอกเขียว"

ขณะนี้ Premium T-VER มีทั้งหมด 21 โครงการที่กำลังเตรียมขึ้นทะเบียนกับ TGO โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง ประเภทโครงการ T-VER รูปแบบการพัฒนาโครงการ T-VER ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก (T-VER Methodology) และ ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ โดยมีทั้งหมด 14 แนวทางที่สามารถทำได้

 

พลังงานสะอาด รหัสลับสู่ความสำเร็จ

‘วสุ กลมเกลี้ยง’ Executive Vice President บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดแผนโกกรีน หวังเป็นตัวกลางนำทุกภาคส่วนมุ่งสู่ Net Zero โดยภาคที่ต้องโฟกัส คือ การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะภาคขนส่งที่มีขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีราว 1.2 ล้านคัน หากเปลี่ยนทั้งหมดจะช่วยลดคาร์บอนได้มาก โดยรถอีวีทรัคจะลดคาร์บอนได้ถึง 37% ส่วนอีวีบัสจะลดได้ 34% หากนับจำนวนรถขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ทั้ง 1.2 ล้านคัน จะลดคาร์บอนได้ถึง 50 ล้านตัน

นอกจากนี้ EA อยู่ระหว่างสนับสนุนสนามบินหลายแห่งในไทย เพื่อช่วยภาคท่องเที่ยวกว่า 74 ล้านคน โดยการนำโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ไปติดตั้ง แล้วยังสนับสนุนรถอีวีในสนามบิน ติดตั้งสถานีชาร์จให้ ส่วนเครื่องบินปัจจุบันยังใช้พลังงานจากน้ำมันกว่า 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการใช้น้ำมันเพื่อการยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยปี ค.ศ. 2040 จะต้องถึง 40%

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘กลอยตา ณ ถลาง’ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2567 บางจากดำเนินกิจการมายาวนาน 40 ปี อยู่ในธุรกิจพลังงาน ท่ามกลางโลกที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ตลอดเส้นทางต้องปรับตัวสู่พลังงานแห่งอนาคต โดยเริ่มต้นกำเนิดมาจากโรงกลั่นบางจาก พระโขนง และเกิด 5 ธุรกิจหลักที่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจกรีนมากยิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ เพื่อการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำพลังงานทดแทนอนาคต

"บางจากยึดความมั่นคงด้านพลังงาน ต่อยอดการสร้างความมั่นคง และสมดุลไปสู่พลังงานสะอาด วันนี้ได้สร้างอีโคซิสเต็มเพื่อไปสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ ปัจจุบันจัดตั้ง Carbon Markets Club รวม 3 ปี และยังสร้างโรงงานผลิต และจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil)  จึงตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนรายแรกในไทย”

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’

‘ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความทะเยอทะยานของประเทศไทย เริ่มจากที่ไทยเคยพูดไว้ตั้งแต่เวที COP27 ที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และเน็ตซีโร่ ปี ค.ศ. 2065 ซึ่งภาคพลังงานในไทยสร้างคาร์บอนที่ 257 ล้านตัน ซึ่ง ปี ค.ศ. 2025 จะต้องเลิกการใช้โรงไฟฟ้าจากน้ำมันและเริ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 68%  ปี ค.ศ. 2040 ของการผลิตไฟฟ้า และปี ค.ศ. 2550 จะต้องเพิ่มเป็น 74% มาจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อที่จะเริ่มการใช้กรีนไฮโดรเจน 100% ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็น เน็ตซีโร่ ปี ค.ศ. 2065

“การจะไปถึงเป้าหมายอาจมีอุปสรรค โดยเฉพาะราคาคาร์บอน ยุโรปกำหนดราคาที่ 90 ยูโร ส่วนจีนกำหนดราคา 7 ดอลลาร์ ซึ่งประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีราคา เพราะยังไม่มีตลาดค้าขายคาร์บอน ถึงมีก็เล็กน้อย ซึ่งจะขอยืมคำพูดของนักธุรกิจต่างชาติเคยพูดว่า ศีลธรรมไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอกาสธุรกิจตางหากที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

Go Green 2024 กติกาการค้าใหม่ สึนามิการลงทุน ‘สร้างโอกาสธุรกิจไทย’