‘ขบวนการลักลอบค้าสัตว์’ มีทั่วโลก ภัยเงียบที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์

‘ขบวนการลักลอบค้าสัตว์’ มีทั่วโลก ภัยเงียบที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์

สหประชาชาติเตือน สัตว์มากกว่า 4,000 สายพันธุ์ ทั่วโลกตกเป็นเป้าหมายของ “ขบวนการลักลอบค้าสัตว์” นับเป็นภัยเงียบที่ทำลายธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

KEY

POINTS

  • สำนักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC พบว่า 40% ของสัตว์ที่ตรวจยึดได้จากขบวนการค้าสัตว์ เป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) ทั้งสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม ซึ่งมีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
  • UNODC ระบุว่า พบการค้าสัตว์ป่าใน 162 ประเทศ ในระหว่างปี 2558-2564 มีการจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่าได้มากกว่า 140,000 ครั้ง สินค้ายึดได้ทั้งหมดมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 16,000 ตัน แต่นักวิจัยกล่าวว่า การค้าสัตว์ป่านั้นมีจำนวนมากกว่าที่บันทึกไว้อย่างแน่นอน
  • ขบวนการค้าสัตว์ป่าปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งวิธีการ และเส้นทางการค้า เพื่อให้ตรวจพบได้ยากขึ้น รวมถึงอาศัยประโยชน์จากช่องว่างด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ตลอดจนการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ 

การลักลอบล่าสัตว์ป่า” เกิดขึ้นจากความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ ทั้งเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ของแต่งบ้าน ไปจนถึงทำเป็นยารักษาโรค ข้อมูลจาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC พบว่า 40% ของสัตว์ที่ตรวจยึดได้จากขบวนการค้าสัตว์ เป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) ทั้งสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม ซึ่งมีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

 

“การลักลอบล่าสัตว์ป่า” ภัยเงียบที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนการลักลอบค้า การยึดของกลาง และราคาขายในตลาดของช้าง และแรดลดลงอย่างมาก นับเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่จะปลอดภัย ส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือกระดูกของสัตว์ เช่น ตัวลิ่น ม้าน้ำ และสัตว์ตระกูลเสือ (Big Cat)  ยังถูกวางขายในตลาดมืด เพื่อใช้เป็นยา ขณะที่นกแก้ว และอีกัวน่าถูกนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง และกล้วยไม้ป่ากลายเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน

UNODC ระบุว่าพบการค้าสัตว์ป่าใน 162 ประเทศ หรือราว 80% ของประเทศทั่วโลก โดยสามารถจับกุมและยึดของกลางได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่สามารถหลุดรอดไปได้ 

“แม้จะยังไม่รู้ว่าในปัจจุบันเกิดการค้าสัตว์ป่า และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องมากเท่าใด แต่ก็มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าปัญหานี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” รายงานกล่าว

นักวิจัยพบว่าระหว่างปี 2558-2564 มีการจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่าได้มากกว่า 140,000 ครั้ง โดยสัตว์ที่ถูกยึดเป็นของกลางมากที่สุดคือ ปะการัง (16%) รองลงมาเป็นจระเข้ (9%) ตามมาด้วยช้าง (6%) ซึ่งสินค้ายึดได้ทั้งหมดมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 16,000 ตัน แต่นักวิจัยกล่าวว่า การค้าสัตว์ป่านั้นมีจำนวนมากกว่าที่บันทึกไว้อย่างแน่นอน

มีประมาณว่ามูลค่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอาจมีมูลค่าสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีการค้าพืช และสัตว์มากกว่า 100 ล้านชิ้นต่อปี การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2019 พบว่า ตลาดการค้าสัตว์ป่ามีขนาดใหญ่มาก จนมีการค้าสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยบนบกถึง 24% อยู่ในตลาดค้าสัตว์

การลักลอบค้าสัตว์ป่า” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่า และพืชท้องถิ่นทั่วโลก “สูญพันธุ์” อย่างรวดเร็ว เช่น กล้วยไม้หายาก พืชอวบน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ซึ่งสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์กำลังถูกคุมคามอย่างหนักจนใกล้สูญพันธุ์ แต่สาธารณชนกลับไม่รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเลย 

การวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าประชากรลิงแมงมุม และสมเสร็จอเมริกากลางมีจำนวนลดลงถึง 99.9% เนื่องจากการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งการที่สัตว์ท้องถิ่นหายตัวไปจากป่า อาจจะหมายความว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว นักวิจัยเตือน

“อาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าเป็นการทำลายธรรมชาติ และยังเป็นอันตรายต่อการดำรงชีพ ระบบสาธารณสุข ธรรมาภิบาล และความสามารถในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กาดา วาลี ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC กล่าว

ต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าได้อย่างไร?

การจับกุม และยึดสินค้าผิดกฎหมายมักถูกมองว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จในการกำจัดการค้าสัตว์ป่า แต่มันไม่ได้ส่งผลกระทบในระยะยาวเสมอไป

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีจำนวนของกลางที่ยึดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มลดลงในปี 2563 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการกระทำผิดลดลงส่วนหนึ่ง แต่ก็หมายความว่ามีการตรวจตรา และบังคับใช้กฎหมายลดลงเช่นเดียวกัน 

ขบวนการค้าสัตว์ป่าปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งวิธีการ และเส้นทางการค้า เพื่อให้ตรวจพบได้ยากขึ้น เช่น การย้ายไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงอาศัยประโยชน์จากช่องว่างด้านกฎระเบียบและกฎหมาย โดยส่วนมากแล้วขบวนการเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรมขนาดใหญ่

ตลอดจนการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่สินบนที่จ่ายให้กับผู้ตรวจสอบ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อนุญาตใบอนุญาตปลอม ไม่มีการยึดของกลางและไม่ตรวจสอบสถานที่บางแห่งอาจสะท้อนถึงการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ทั้งหมดนี้จึงเหตุผลที่ผู้ร่างกฎหมายจำเป็นต้องมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรงทั้งกับผู้กระทำความผิด และเจ้าหน้าที่ทุจริต ช่วยเหลือกลุ่มอาชญากรขนาดใหญ่ในการค้าสัตว์ป่า ในปัจจุบันคดีการลักลอบค้าสัตว์ป่ามักไม่ค่อยดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ในข้อหาคอร์รัปชัน ส่งผลให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

UNODC มีเป้าหมายจะยุติการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองให้ได้ภายในปี 2573 และเชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ โดยจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ตลอดจนติดตาม และวิจัยให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) 

“เพื่อจัดการกับอาชญากรรมนี้ เราจำเป็นต้องตามกลยุทธ์ใหม่ๆ ของแก๊งค้าสัตว์ป่าให้ทัน และอุดช่องว่างทางกฎหมายให้หมด เพิ่มการลงทุนด้านข้อมูล การวิเคราะห์ และการติดตามผลที่มากขึ้น”  กาดา วาลี ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC กล่าว



ที่มา: Euro NewsThe GuardianUnited Nation

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์