หายนะ ‘ปะการังฟอกขาว’ รุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ลามทั่วโลก
“เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) ในออสเตรเลีย แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” ที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก “อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล” สูงขึ้น จาก “ภาวะโลกร้อน”
KEY
POINTS
- “ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงกว่าปรกติ เนื่องจากสูญเสีย “ซูแซนเทลลี” สาหร่ายสังเคราะห์แสงที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง มีสาเหตุมาจากเกิดสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย โดยเฉพาะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป
- จากสำรวจแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” พบว่า 79% ของปะการังมีการฟอกขาวในระดับหนึ่ง ส่วน 49% ของแนวปะการังที่สำรวจพบการฟอกขาวในระดับรุนแรงมากที่สุด โดยเฉพาะทางตอนกลางและตอนใต้ของแนวปะการัง
- มีปะการังใน 54 ประเทศหรือดินแดนที่กำลังประสบปัญหาเช่นกัน นอกจากนี้ปะการังในฟลอริดาและแคริบเบียนได้ตายลง โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเขากวางและเอลก์ฮอร์น
เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟขึ้นบินสำรวจเหนือบริเวณเกรตแบร์ริเออร์รีฟพบว่า ตลอดความยาว 2,300 กิโลเมตรของแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559
“ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงกว่าปรกติ เนื่องจากสูญเสีย “ซูแซนเทลลี” สาหร่ายสังเคราะห์แสงที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ทำหน้าที่จัดหาอาหารให้แก่ปะการัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเกิดสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย โดยเฉพาะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป
ทั้งนี้ ปะการังเครียดจะตายได้เมื่ออยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียลเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน และหากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสก็จะอยู่รอดได้ประมาณ 1 เดือน
“เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ฟอกขาวครั้งใหญ่
หน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า “การสำรวจทางอากาศและในน้ำตลอดปี 2567 ยืนยันถึงเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่ โดยพบการฟอกขาวอย่างแพร่หลายและรุนแรงที่แนวปะการังทั่วทั้งเกรตแบร์ริเออร์รีฟ”
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และแนวปะการังทั่วโลก เกรตแบร์ริเออร์รีฟเป็นระบบนิเวศที่น่าทึ่ง สามารถฟื้นตัวและอยู่รอดมาได้เสมอ แต่สถานการณ์ความร้อนที่รุนแรงในปัจจุบัน อาจทำให้แนวปะการังไม่เหมือนเดิม” โรเจอร์ บีเดน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ทำการสำรวจกล่าว
จากสำรวจแนวปะการังทั้งหมด 1,080 แห่ง พบว่า 79% ของปะการังมีการฟอกขาวในระดับหนึ่ง ส่วน 49% ของแนวปะการังที่สำรวจพบการฟอกขาวในระดับรุนแรงมากที่สุด โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ทางตอนกลางและตอนใต้ของแนวปะการัง
ปะการังทางตอนใต้เกิดความเครียดสะสมจากความร้อนเรื่อยมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2566 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลผ่านดาวเทียมตั้งแต่ปี 2528 มีอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.5 องศาเซลเซียส ปะการังในบริเวณนี้มีการฟอกขาวในระดับสูง (31-60%) ไปจนถึงรุนแรงมาก (ฟอกขาวมากกว่า 90%) โดยมีเพียง 3% เท่านั้นที่มีสภาพปรกติไม่ฟอกขาว
“พื้นที่ทางใต้สุดของแนวปะการังได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษในครั้งนี้ ทั้งที่การฟอกขาวครั้งก่อน ๆ บริเวณนี้ไม่ได้รับผลกระทบเลย การฟอกขาวครั้งนี้ได้ขยายความเสียหายวงกว้างมากขึ้น และลงไปสู่ระดับน้ำลึกมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิด รวมถึงปะการังที่เก่าแก่ที่สุดและเคยฟื้นตัวจากการฟอกขาวครั้งก่อน ๆ มาได้” ไซมอน แบรดชอว์ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Climate Council องค์การด้านสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย พร้อมย้ำว่า “นี่คือหายนะที่มาเยือนถึงหน้าบ้าน”
เกรตแบร์ริเออร์รีฟถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปนิกแห่งท้องทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของปะการังหลายร้อยชนิด ปลา 1,500 สายพันธุ์ และหอย 4,000 ชนิด นอกจากนี้แนวปะการังยังให้การปกป้องชุมชนชายฝั่งจากภัยพิบัติธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ ดังนั้นหากปะการังล้มตายลงก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและมนุษย์ด้วยเช่นกัน
“ปะการัง” ทั่วโลก กำลังเผชิญกับวิกฤติ
ไม่ได้มีแค่ออสเตรเลียเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาปะการังฟอกขาว แต่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า มีปะการังใน 54 ประเทศหรือดินแดนที่กำลังประสบปัญหาเช่นกัน นอกจากนี้ปะการังในฟลอริดาและแคริบเบียนได้ตายลง โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเขากวางและเอลก์ฮอร์น แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าอัตราการตายของปะการังทั่วโลกจะเป็นอย่างไร
แม้ปะการังฟอกขาวจะมีสีขาวดูสวยงามแปลกตา แต่ความจริงแล้วมันคือ “หายนะ” เพราะปะการังเหล่านั้นกำลังป่วยและเน่าเปื่อยอย่างเห็นได้ชัด
จากติดตามและคาดการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกภายใต้โครงการ Coral Reef Watch ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA พบว่า ในแต่ละปีแนวปะการังที่อยู่แอ่งมหาสมุทรทั้ง 3 แห่งที่เป็นที่อยู่ของแนวปะการัง ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย และแอตแลนติก จะเกิดการฟอกขาว และมีอย่างน้อย 12% ของแนวปะการังในแต่ละแอ่งมหาสมุทรที่จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในระดับที่ทำให้เกิดการฟอกขาว
สัญญาณเตือนแรกเกิดขึ้นในทะเลแคริบเบียนเมื่อปีที่แล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำนอกชายฝั่งฟลอริดาอุ่นพอ ๆ กับน้ำในบ่อออนเซ็น และความร้อนนั้นเคลื่อนเข้าสู่ซีกโลกใต้ ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อปะการังมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก รวมถึงในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลีย และแนวชายฝั่งในแทนซาเนีย มอริเชียส บราซิล หมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงในทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย
ปัจจุบันปะการังมากกว่า 54% ของโลกกำลังเผชิญกับความเครียดจากอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และปะการังที่มีความเครียดจะเพิ่มขึ้น 1% ต่อสัปดาห์ โดย ดร.เดเร็ก แมนเซลโล ผู้ประสานงานโครงการ Coral Reef Watch ของ NOAA กล่าวว่า “เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์การฟอกขาวที่กินพื้นที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการอยู่รอดของปะการัง เพราะพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไวต่อความร้อน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในปัจจุบันมากจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ และปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิอุ่นขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แม้ว่าในขณะนี้กำลังอ่อนตัวลงแล้วก็ตาม
หน่วยงานอุทยานทางทะเลของออสเตรเลียกล่าวว่าวิธีการที่จะช่วยให้ปะการังอยู่รอดได้รวดเร็วที่สุด คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แม้ปะการังสามารถฟื้นตัวได้จากการฟอกขาว แต่ต้องใช้เวลานานมาก และอาจจะไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาสู่สภาพเดิมได้เต็ม 100% ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสำรวจติดตามสภาพปะการังต่อไป
ที่มา: Aljazeera, BBC, The New York Times, The Washington Post