รู้จักยุทธศาสตร์ 5 x 5 แก้วิกฤติประชากร และพัฒนาโครงสร้างผู้สูงอายุ
ปัจจุบันวิกฤติประชากรไทย เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยเร็วขึ้น ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13.06 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด
ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน ทำให้วัยแรงงานรับภาระมากขึ้น อีกทั้งสถาบันครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ และในปี 2576 ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 18.38 ล้านคน คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
ทั้งนี้ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤติประชากร” เพื่อร่วมหาทางออกของประเทศในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา ทำให้ได้ยุทธศาสตร์ 5 x 5 ฝ่าวิกฤติประชากร โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพลังผู้สูงอายุ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มีมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ ในการเสริมพลังผู้สูงอายุ ได้แก่
- การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ
- การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
- การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ
- การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ
ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในชุมชนได้ยาวนานที่สุด ผ่านโครงการบริบาล และคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งในปี 2567 ได้นำร่อง 19 พื้นที่ 12 จังหวัด มีผู้สูงอายุได้รับการดูแล จำนวน 73,642 คน และตั้งเป้าขยายผลทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ตอบโจทย์ 5 มาตรการ เสริมพลังผู้สูงอายุ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC ผ่านสายด่วน พม.1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมามีการให้การช่วยเหลือกว่า 42,120 กรณี เป็นผู้สูงอายุ 5,371 กรณี การพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะผู้สูงอายุสู่การค้าขายออนไลน์ ร่วมกับลาซาด้าไทยแลนด์ และทรู – ดีแทค การเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Literacy) จัดทำ “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของมิจฉาชีพ การจัดหลักสูตรการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์”
อีกทั้งมีการปรับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย โดยการพัฒนาทักษะ "ช่างชุมชน" เพื่อช่วยปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ โดยคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2558-ปัจจุบัน จำนวน 37,974 หลัง และการปรับปรุงสถานที่สาธารณะตามหลักอารยสถาปัตย์ให้มีความปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุทุกท่านล้วนเป็นผู้มากประสบการณ์ และความรู้ เพราะผ่านอะไรมามากมาย ดังนั้นจึงต้องดึงศักยภาพเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่ใช่ Soft Power แต่คนไทยทุกคนมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดอิทธิพลทางความคิด อิทธิพลทางการปฏิบัติ และวัฒนธรรมต่างๆ ต้องเรียนว่าที่ผ่านมา ผู้สูงอายุของประเทศไทย ได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับประเทศมากมาย
เพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ล้วนแต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ดังนั้น Soft Power หรือจะสิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่คนทุกกลุ่มต้องร่วมกันทำไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์