'มด' สัตว์โลกล้านปี ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ
มด สัตว์โลกที่มีอายุยาวนานนับ 100 ล้านปี ถือเป็นสัตว์โบราณรุ่นแรกๆ ที่ปรากฏบนโลกใบนี้ “มด” เรียกว่า มีประโยชน์ต่อพืชหลายชนิด รวมถึงเป็นอาหารของมนุษย์ ขณะเดียวกัน มด ก็เป็นสัตว์อันตราย แม้ตัวมันจะเล็กนิดเดียวก็ตาม
KEY
POINTS
- มด สัตว์ตัวเล็กๆ ที่เห็นได้ตามทั่วไป ไม่ว่าจะต้นไม้ ธรรมชาติ หรือในบ้านเรือน ว่ากันว่า มดมีอายุยาวนานนับ 100 ล้านปี ถือเป็นสัตว์โบราณรุ่นแรกๆ ที่ปรากฏบนโลกใบนี้
- ในประเทศไทย นักมดวิทยา ค้นพบตัวอย่างมดแล้วกว่า 1,200 ชนิด ซึ่งจำแนกชนิดได้แล้วกว่า 529 ชนิด 110 สกุล จาก 10 วงศ์ย่อย โดยทั่วโลกพบมดทั้งสิ้นจำนวน 15,617 ชนิด 411 สกุล
- “มด” ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานนับล้านปี มีประโยชน์ต่อพืชหลายชนิด อีกทั้ง ยังเป็นอาหารของมนุษย์ ขณะเดียวกัน มดบางชนิด ผู้โดนกัดจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน พิษของเหล็ก คือ ตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
มด สัตว์ตัวเล็กๆ ที่เห็นได้ตามทั่วไป ไม่ว่าจะต้นไม้ ธรรมชาติ หรือในบ้านเรือน บ้างก่อความรำคาณ บ้างกลายเป็นอาหารแสนอร่อยอย่าง "ไข่มดแดง” ว่ากันว่า มดมีอายุยาวนานนับ 100 ล้านปี ถือเป็นสัตว์โบราณรุ่นแรกๆ ที่ปรากฏบนโลกใบนี้ ข้อมูลจาก นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. อธิบายว่า มด เป็นแมลงที่อยู่ในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera ซึ่งลักษณะเฉพาะของสัตว์ในวงศ์นี้คือ ความสามารถในการผลิตกรดมด (formic acid) อันเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง
ทั้งนี้ มดเป็นสัตว์ที่อยู่ใน ส่วนอันดับ (Order) เดียวกับผึ้ง ต่อ แตน โดยมันวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษที่เป็นตัวต่อยุคดึกดำบรรพ์ และรอดพ้นจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Cretaceous–Paleogene extinction event) มาได้ รวมถึงแพร่ขยายไปเกือบทุกที่ในระบบนิเวศบนโลก ความสามารถในการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ทำให้มันอยู่บนโลกจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทย นักมดวิทยา ค้นพบตัวอย่างมดแล้วกว่า 1,200 ชนิด ซึ่งจำแนกชนิดได้แล้วกว่า 529 ชนิด 110 สกุล จาก 10 วงศ์ย่อย โดยทั่วโลกพบมดทั้งสิ้นจำนวน 15,617 ชนิด 411 สกุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อสงสัย 'แมลงสาบ' เกิดมาทำไม ? มีประโยชน์อย่างไร ?
- ย้อนรอย 5 การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก และครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
- 'สัตว์ที่หายไป' โดยไม่ต้องรอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
ประโยชน์ของ “มด” ที่มีต่อพืช
รู้หรือไม่ว่า “มด” ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานนับล้านปี มีประโยชน์ต่อพืชหลายชนิด ทั้งพืชที่ยังสดหรือแห้ง เช่น ส่วนต่างๆ ของพืช หรือโพรงในต้นหรือกิ่งที่มีเศษดินและฝุ่นสะสมอยู่เป็นที่ทำรัง หรือแม้ใต้พื้นดินมดจะใช้รากพืชที่แห้งตายเป็นช่องทางเดินอาหาร
สมาคมกีฎและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างข้อมูล การสำรวจในบริเวณที่ราบลุ่มเปรู-อเมซอน ( Peru s Amazon) ที่พบว่ามีมดกว่า 72 ชนิด อาศัยอยู่กับต้นไม้เพียงต้นเดียว เรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมดกับพืช ทั้งสองฝ่ายเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับนั้น พืชที่มีความสัมพันธ์กับมดเรียกว่า พืชมด (Ant Plant) ซึ่งมีตัวอย่างของการพัฒนาร่วมกันระหว่างมดและพืชในด้านอาหาร ในพื้นที่อาหารของทั้งสองฝ่ายขาดแคลนอย่างมาก
การเอื้อประโยชน์ระหว่างมดและพืชนั้น มดจะหาและนำธาตุอาหารให้ต้นพืช ให้การป้องกันและทำความสะอาด พืชจะจัดสรรอาหารและที่อยู่อาศัยให้มด การเอื้อประโยชน์ของมดบางชนิด จะทำหน้าที่คล้ายยามที่จะขับไล่หรือฆ่าผู้บุกรุก เช่น ด้วงหรือหนอนผีเสื้อที่จะมาทำลายส่วนต่างๆ ของพืช
มดบางชนิดจะเป็นผู้บริการธาตุอาหารที่พืชต้องการ ด้วยเศษซากอาหารที่นำมาบริโภคในรังเพื่อเป็นการตอบแทน พืชจะวิวัฒนาการให้มีโครงสร้างพิเศษ เพื่อเป็นที่พักอาศัยหรือแหล่งอาหารที่มดจะใช้บริโภค อาทิเช่น วิวัฒนาการใบให้มีรูกลวง หรือเมล็ดซึ่งมีส่วนที่มดจะใช้เป็นอาหารหุ้มอยู่ภายนอก หรือติดอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเมล็ด มักจะพบเสมอว่าทั้งมดและพืชจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันโดยไม่สามารถจะ อยู่อย่างโดดเดี่ยว
มด “นักเก็บกวาด” ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ยกตัวอย่าง ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Pitcher plant) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะและมีน้ำย่อยบรรจุในกระเปาะ เพื่อใช้ดักแมลงและสัตว์เล็กๆ ที่ตกลงไปเป็นอาหาร ส่วนก้านของกระเปาะหรือระยางค์ จะมีมด Calobopsis อาศัยอยู่ จะลงไปที่น้ำย่อยของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง และทำความสะอาด รวบรวมเหยื่อที่ถูกย่อยจากน้ำย่อยในดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งจำเป็นต้องใช้มดงานจำนวนมากเพื่อลากดึงเหยื่อ ซึ่งอาจมีน้ำหนักและขนาดใหญ่ เช่น จิ้งหรีด ให้มาติดกับผนังด้านในของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง และใช้เป็นอาหารของมด
ปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นการช่วยทำประโยชน์ให้กับดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง เพราะซากของเหยื่อขนาดใหญ่ดังกล่าวถูกทิ้งทับถมไว้ในดอกและเริ่มเน่า จะทำให้น้ำย่อยที่อยู่ในดอกนั้นเสื่อมสภาพไม่สามารถย่อยอาหารจากเหยื่อได้ อีก แม้มด Calobopsis จะช่วยเคลื่อนย้ายซากแมลงที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ แต่ยังไม่มีใครทราบว่า มดจะไต่ผนังดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงออกมาภายนอกได้หรือไม่
มด นักปกป้องพืช
มดที่ทำหน้าที่ป้องกันหรือเป็นยามกับพืช มักจะดุร้าย ในสิงคโปร์บนต้นปาล์มหวาย (rattan palm) จะมีมดอยู่มากมายเพื่อทำหน้าที่ป้องกัน แม้ต้นปาล์มจะมีหนามที่ยาวแหลมป้องกันตัวเองแล้วก็ตาม และในอเมริการใต้จะมีมดที่ดุร้ายชนิดหนึ่งคือ Pachycoudyla goeldii จะเข้าทำร้ายสิ่งที่ผ่านเข้ามาบริเวณรังเพื่อป้องกันพืชที่มดใช้ทำรัง และส่วนที่สำรองอาหาร (garden) ซึ่งมดสร้างไว้อย่างบอบบางนั้นไม่ถูกฝนชะพัง
ขณะที่ มด P. goeldii นอกจากจะขยันและปกป้องภัยให้กับพืชอย่างซื่อสัตย์แล้ว ยังสร้างรังและส่วนที่สำรวจอาหารทั่วทั้งต้นที่อาศัยอยู่ ใน French Guiana นักวิจัย (Bruno corbara) ศึกษาเกี่ยวกับอาหารของมดชนิดนี้ และพบว่า มดจะคาบเมล็ด Authurium กลับเข้ามาในรัง และกินส่วนที่อยู่ปลายด้านหนึ่งของเมล็ดเป็นอาหารและนำเมล็ดไปทิ้งไว้ในส่วนที่สำรองอาหาร เพื่อให้เมล็ดงอกและใช้เป็นอาหารต่อไป
การศึกษาการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต อย่างมดและพืช แสดงให้เห็นว่า หากสิ่งมีชีวิตหนึ่งถูกทำลายหรือสูญพันธุ์ไป อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดที่อยู่ร่วมกัน การกำจัดมดให้หมดไปอาจทำให้สมดุลธรรมชาติถูกทำลายไปด้วย ดังนั้น การป้องกันกำจัดควรหาวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพื่ออนุรักษ์ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่ให้สมดุลธรรมชาติสูญเสียไป
มด กับการเป็นอาหารของมนุษย์
นอกจากประโยชน์กับพืชแล้ว มดยังเป็นอาหารของมนุษย์ โดยมดดำนิดหนึ่งชื่อ “มดหนามกระทิงขนทอง” (Chinese black ant) ที่มีอยู่ 600 กว่าชนิดทั่วโลก พบได้ในจีนทางตอนใต้และไทย ใช้เป็นยาจีนมาอย่างยาวนานนับพันปีในการบำบัดโรครูมาตอยด์ ข้อเสื่อม (osteoarthritis) โรคจากอาการอักเสบ และเบาหวาน
นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคโดยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทในมณฑลยูนนาน ในอาหารมื้อพิเศษสำหรับรับรองแขกเหรื่อ ส่วนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi Zhuang) ทางภาคใต้ของจีนที่ติดกับประเทศเวียดนามซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวจ้วง จะใส่ในเมนูอาหารในฤดูร้อนที่ประกอบด้วยมะระขี้นกหรือมะระจีน และมดชนิดนี้ยังนำไปใช้ผสมร่วมกับเต้าหู้ยี้ในลูกชิ้นตุ๋น ซึ่งเป็นเมนูอาหารในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในประเทศไทยเอง ยังมีการบริโภคไข่มด ไม่ว่าจะผสมกับไข่เจียว ทำลาบก้อย หรือต้ม แต่ตำรับอาหารที่ใช้ไข่มดทำไม่ได้มีเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ในแถบเม็กซิโกและทวีปอเมริกายังมีมดอีกชนิดหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นเมนูเด็ดในอาหารตำรับเม็กซิกัน ถึงขนาดบางคนเรียกมันว่าคาร์เวียเม็กซิกันเลยทีเดียว
มดชนิดนี้ชื่อว่า เอสกาโมเลส “escamolera ant” มีบทบาทในฐานะสัตว์เศรษฐกิจของแถบนั้นอีกด้วย นิยมรับประทานทั้งตัวอ่อนและไข่มด โดยนำมาทอดและใช้เครื่องเทศปรุงรส ชาวเม็กซิกันเรียกไข่มดปรุงรสนี้ว่า เอสกาโมเลส (escamoles) ซึ่งสืบย้อนประเพณีการรับประทานได้จนถึงยุคของอารยธรรมแอซเท็ก (Aztec) โดยเป็นตำรับที่ถวายแด่องค์จักรพรรดิ ปัจจุบันเมนูนี้มักรับประทานกับน้ำจิ้มอาโวคาโดสูตรเม็กซิกันที่เรียกว่า กัวคาโมเล (guacamole) รับประทานกับตาโก (taco) หรือเป็นไส้ห่อกับแผ่นแป้งตอร์ติยา (tortilla) ก็ได้
มีผลจากงานวิจัย พบว่า ตัวอย่างไข่มดเอสกาโมเลส มีปริมาณไขมัน 34.96 กรัม ต่อน้ำหนักตัวอย่างแห้ง 100 กรัม ซึ่งมีปริมาณไขมันอยู่เพียงพอที่จะทำให้วิตามินที่ละลายในไขมันดูดซึมผ่านลำไส้ ไขมันชนิดหลัก ๆ ที่พบคือ กรดโอเลอิก (ร้อยละ 67.66) กรดลิโนเลอิก (ร้อยละ 2.61) กรดอะราคิโดนิก (ร้อยละ 0.16)
กรดโอเลอิกมีสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและเป็นตัวตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์กรดลิโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลของเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งเป็นสารตั้งต้นของกรดอะราคิโดนิกซึ่งจำเป็นต่อความแข็งแรงของไมโทคอนเดรียและการสังเคราะห์สารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins: PGS) ซึ่งทำหน้าที่ลดความดันโลหิต รักษาระดับอุณหภูมิในร่างกาย และกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอีกด้วย
ไข่มดเอสกาโมเลส แหล่งวิตามินชั้นยอด
ไข่มดเอสกาโมเลส ถือว่าเป็นแหล่งวิตามินชั้นยอด โดยจากผลการวิเคราะห์ พบว่า มีวิตามินเอ (0.324 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) และวิตามินอี (3.29 mg/100 กรัมตัวอย่าง) ซึ่งมากกว่าอาหารหลายอย่าง เช่น ถั่วดำ (0.00 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) มันฝรั่ง (0.00 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) แตงซุกคีนี (0.025 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) กล้วย (0.018 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) ด้วยเหตุนี้ไข่มดจึงเป็นแหล่งอาหารเสริมที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งของมนุษย์
“ไข่มดแดง” โปรตีนสูง ไขมัน
คุณสมบัติโดดเด่นของ ไข่มดแดง คือ รสเปรี้ยวที่ได้จากไข่มดแดง ซึ่งเราสามารถมาใช้แทนเครื่องปรุงรส เสริมรสเปรี้ยวของตำหรับอาหาร ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า เมนูที่มีไข่มดแดงประกอบที่ให้คุณค่าสูงสุด อาทิ เมนูแกงผักหวานไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง หรือยำไข่มดแดง
ไข่มดแดงถือเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะมีโปรตีนสูง โดยในไข่มดแดง 100 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนกินข้าว จะมีโปรตีนสูงถึง 8.2 กรัม แถมไข่มดแดงยังมีไขมันและแคลอรีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไข่ไก่ เพราะไข่มดแดงมีไขมันเพียง 2.6 กรัม ในขณะที่ไข่ไก่มีไขมันมากถึง 11.7 กรัม
สำหรับปริมาณกิโลแคลอรีในไข่มดแดงให้พลังงาน 86 กิโลแคลอรี ในขณะที่ไข่ไก่ให้พลังงานถึง 155 กิโลแคลอรี เมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน จุดเด่นของไข่มดแดง ในด้านคุณค่าอาหารแล้ว เทียบกับไข่ไก่ก็คงจะไม่ได้มีโปรตีนมากกว่า เพราะตัวไข่มดแดงค่อนข้างจะมีน้ำมาก แต่จุดที่น่าสนใจคือ ในปริมาณเดียวกันไข่มดแดงจะมีธาตุเหล็กสูงกว่าไข่ไก่
มด ตัวเล็ก แต่ร้ายไม่เบา
เราได้รู้ถึงประโยชน์ของมดและความสัมพันธ์กับพืช รวมถึงการเป็นอาหารของมนุษย์ไปแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง มดก็ถือเป็นสัตว์ที่อันตรายแม้ตัวจะเล็กก็ตาม เพราะบางคนอาจมีอาการแพ้ ที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้แม้จะเพียงโดนกัด ยกตัวอย่างเช่น มดตะนอย (Dolichoderus thoracicus) มดตะนอยอกส้ม (Tetraponera rufonigra) มดคันไฟ (Solenopsis geminata)
สำหรับ “มดตะนอย” เนื่องจากมันต่อยด้วยเหล็กใน ซึ่งเมื่อต่อยแล้วมันยังดึงเหล็กในกลับและต่อยเราได้อีกหลายครั้ง เหล็กในที่ต่อกับต่อมพิษในช่องท้องจะปล่อยสารประกอบโปรตีนที่ทำให้แพ้และอัลคาลอยด์ออกมา นอกจากอาการเจ็บตำแหน่งที่ถูกต่อยแล้ว ยังอาจมีอาการแพ้จนทำให้แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก และหากแพ้มาก ๆ โดยเฉียบพลันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้
มดกองทัพ อันตรายที่สัตว์ใหญ่ต้องยอมแพ้
มดกองทัพ (army ant) คือ มดที่มีจำนวนมดงานในรวงรังของมันเป็นจำนวนมาก ราว 60,000–100,000 ตัว มดพวกนี้ชอบกินมดชนิดอื่นเป็นอาหารและไม่สร้างรังถาวร จะเดินมาเป็นจำนวนมากมายมหาศาลในป่าและทำลายชีวิตสัตว์และพืชไปตลอดเส้นทางที่พวกมันเดินผ่านไป พวกมันสามารถล่าสัตว์อย่างกิ้งก่า งู แม้กระทั่งสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นอย่างหมูและลิงก็ยังโดนพวกมันจัดการมาแล้ว
มดพวกนี้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเด็กทารกและคนชราที่เคลื่อนไหวหนีพวกมันลำบาก เคยมีรายงานว่า เด็กทารกในประเทศกานา (Ghana) โดนมันรุมกัดจนเสียชีวิต ในขณะที่แม่ง่วนอยู่ในสวนของที่บ้าน และเผลอวางเด็กไว้ใต้ต้นไม้
รู้จัก อาการ แพ้มด
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี อธิบายว่า หากโดนมดดำหรือมดแดงกัด มดจะแค่กัดเราด้วยเคี้ยวแล้วพ่นกรดใส่บาดแผล แต่หากเจอมดคันไฟกัด มดจะทั้งกัดและต่อยด้วยเหล็กในที่ก้นของมดเพื่อฝังพิษ ส่งผลให้ผู้โดนกัดมีอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือนถูกไฟลวกบริเวณผิวหนัง ซึ่งพิษของเหล็กในมดคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้
แพ้มดหรือไม่สังเกตอย่างไร?
ผู้คนส่วนใหญ่หากโดนมดกัดจะมีเพียงรอยบวมแดงหรือตุ่มหนอง แต่ในผู้ที่แพ้มดไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จะเกิดผื่นพิษกระจายทั่วตัว หน้าบวม หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันเลือดตกจนเป็นลมหมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ในกรณีเด็กที่แพ้พิษมดเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง จะมีอาการแค่เป็นลมพิษ เมื่อถูกมดต่อยซ้ำจะไม่เกิดอาการรุนแรง
- แต่ในกรณีแพ้พิษมดแบบรุนแรง ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อถูกมดต่อยครั้งต่อไปจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม
แพ้มดอย่างรุนแรง ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร?
ผู้ที่แพ้มดแบบรุนแรงควรป้องกันตนเอง โดยแต่งกายให้รัดกุมสวมถุงเท้ารองเท้าทุกครั้ง ก่อนออกไปทำงานในสวนหรือบริเวณรอบบ้าน รวมถึงควรจ้างบริษัทกำจัดมดมาดูแลขัดการมดและแมลงรอบบ้าน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้แพ้มด เมื่อถูกกัดต่อยควรทำความสะอาดบริเวณนั้นแล้วใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบไว้ 2-3 ชั่วโมง โดยอาจใช้ยาแก้แพ้ทาบริเวณที่ถูกกัดต่อย และหากมีตุ่มหนองเกิดขึ้นจากพิษของมดในวันถัดมา ไม่ควรไปแกะเกาให้แตกออกเพราะจะกลายเป็นแผลติดเชื้อได้
วิธีการรักษาอาการแพ้มด
ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังและตรวจเลือด โดยแพทย์จะทำการรักษาโดยการฉีดสารสกัดจากตัวมด ที่มีความเข้มข้นต่ำในปริมาณน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น จนถึงระดับที่สามารถปรับสภาพภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ทนต่อพิษของมดได้ โดยไม่เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงดังเดิม
ยกเว้นในกรณีที่โดนต่อยพร้อมกันหลายสิบตัว ร่างกายได้รับพิษเข้าไปในปริมาณมาก ในกรณีนี้จะไม่ได้ทำให้แพ้ แต่จะไปทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ กระตุ้นสัญญาณประสาท และกดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้เกิด เส้นประสาทอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ไตอักเสบได้
อ้างอิง : นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. , สมาคมกีฎและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย , โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี , สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่