ความจริงไฟป่า ทำให้เกิด 'เห็ดเผาะ-เห็ดโคน' ฤดูฝน ความเชื่อผิดๆที่ยังบอกต่อ
เปิดความจริง "ไฟป่า" ทำให้เกิด "เห็ดเผาะ-เห็ดโคน-เห็ดปลวก" ช่วงฤดูฝน ความเชื่อผิดๆที่ยังบอกต่อ ชี้ช่องทางทำอย่างไร? ให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเกิดเห็ดตามธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าชุมชนให้ยั่งยืน หาเห็ด "เก็บเห็ดได้" เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้ในอนาคต
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนชาวบ้าน ประชาชนทั่วไทยที่ชื่นชอบการหาเห็ดตามป่าธรรมชาติ การรับทานเห็ดตามฤดูกาล มาเปิดความจริง "ไฟป่า" ทำให้เกิด "เห็ดเผาะ-เห็ดโคน-เห็ดปลวก" ช่วงฤดูฝน ความเชื่อผิดๆที่ยังบอกต่อ พร้อมชี้ช่องทางทำอย่างไร? ให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเกิดเห็ดตามธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าชุมชนให้ยั่งยืน หาเห็ด "เก็บเห็ดได้" เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้ในอนาคต
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ชาวบ้านหลายคนสังเกตเห็นว่า พื้นที่ใดที่เกิดไฟป่า เมื่อฝนมาพื้นที่นั้น จะพบเห็ดเผาะได้ง่าย จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า เห็ดเผาะชอบไฟป่า เมื่อเกิดไฟ จะได้เห็ดเผาะมากด้วย
ข้อสรุปการเห็ดเผาะกับไฟป่า
ซึ่งถ้าหากเราพิจารณาเรื่องราวของเห็ดเผาะ ซึ่งเป็นรากที่อาศัยอยู่กับรากพืช จะเห็นได้ว่า เป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง! เนื่องจากการเกิดไฟป่า สามารถทำลายเส้นใยเห็ดเผาะที่อยู่ใต้ดิน รวมถึงทำลายพืชอาศัยของเห็ดเผาะด้วย ดังนั้น การเกิดไฟป่าจะส่งผลเสียต่อเห็ดเผาะ มากกว่าผลดี
ในการเกิดไฟป่าครั้งแรกๆ ในพื้นที่ เป็นการทำลายเศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทำให้เรามีโอกาสเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน แต่หากปล่อยให้เกิดไฟป่าในพื้นที่บ่อยครั้งเข้า เชื้อเห็ดเผาะใต้ดิน รวมถึงพืชอาศัยจะถูกทำลายลงไป จนกระทั่งเชื้อเห็ดเผาะในพื้นที่ หายไป
จริงหรือไม่ มีไฟป่า เห็ดโคน เห็ดปลวก มักจะเกิดขึ้น?
นอกจากเรื่องเห็ดเผาะแล้ว ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีไฟ เห็ดโคนจะไม่เกิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากไฟป่าทำให้ปลวกตายรวมถึงทำลายเศษใบไม้ที่เป็นอาหารของปลวกอีกด้วย เมื่อไม่มีอาหาร ปลวกที่เหลือรอด อาจจะย้ายรังหนีได้
รวมถึงสภาพป่าหลังเกิดไฟป่าแล้วนั้น ไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นดอกเห็ดของเห็ดโคน เนื่องจากขาดความชื้นที่เหมาะสมนั่นเอง
"ไฟป่า" ทำให้การเกิด "เห็ดเผาะ-เห็ดโคน-เห็ดปลวก" ฤดูฝน ความเชื่อผิดๆที่ยังบอกต่อ
ดังนั้น ความเชื่อและการบอกเล่าต่อกันมา จะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นการเข้าใจผิดปะปนกันไป จึงควรคิดวิเคราะห์ตามเหตุและผล รวมถึงพิจารณาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องในธรรมชาติ
ป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบ ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ต้นไม้ทุกต้นจะทิ้งใบพร้อมกัน เกิดการสะสมของใบไม้แห้งเป็นจำนวนมากและกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
ขณะเดียวกัน ใบไม้เหล่านี้คืออาหารของปลวก หากสามารถจัดการใบไม้เหล่านี้ ด้วยการนำมาสุ่มกองเป็นหย่อมๆ ใกล้กับจอมปลวก จะสามารถลดการลุกลามของไฟป่า
อีกทั้งปลวกยังสามารถนำใบไม้เหล่านี้ไปใช้ในการเพาะเห็ดโคน เป็นการเพิ่มผลผลิตเห็ดโคน และเมื่อถึงหน้าเห็ดเผาะ เราก็จะสามารถหาเห็ดเผาะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเผาป่า
ในพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ติดต่อกัน เชื้อเห็ดเผาะอาจหายไป อีกทั้งต้นไม้ได้รับความเสียหายและอาจตายได้ในที่สุด ต้นไม้พืชอาศัยของเห็ดเผาะสามารถถูกฟื้นฟูได้ด้วยการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ
ทำอย่างไรในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจะเกิดเห็ดเผาะ
ดังตัวอย่างที่ป่าชุมชนบ้านก้อทุ่ง จ.ลำพูน ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่พบเห็ดเผาะเป็นเวลานาน แต่เมื่อได้มีการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะให้กับพืชอาศัย พบว่ามีเห็ดเผาะเกิดขึ้นเมื่อต้นฤดูฝนถัดไปทันที
ถ้าหากเรากลับมาฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อหาเห็ดและของป่าอีกต่อไป
เลือกเก็บเห็ดเผาะอย่างไร ไม่ให้ทำลายเชื้อเห็ดที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ในพื้นที่
การเก็บเห็ดเผาะหรือเห็ดป่าอื่นๆ ออกจากพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก มีโอกาสทำให้เห็ดเผาะมีจำนวนลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้น ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บดอกเห็ดแก่ออกจากพื้นที่ เพื่อให้เห็ดมีโอกาสขยายพันธุ์ต่อไป
โครงการดีๆ ที่อยากบอกต่อกับการอนุรักษ์ป่าชุมชนให้ยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้ในอนาคต
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จึงริเริ่ม โครงการเพื่ออนุรักษ์พันธุ์เห็ดเผาะ ภายใต้ชื่อ ธนาคารเห็ดเผาะ ร่วมกับการกำหนดมาตรการในการเก็บหาเห็ดในเขตพื้นที่อุทยาน
โดยมาตรการนี้ จะให้ชาวบ้านนำเห็ดเผาะแก่ที่เก็บได้ ฝากไว้กับธนาคารเห็ดเผาะ เพื่อใช้ผลิตเป็นหัวเชื้อใส่กลับคืนให้กับผืนป่าที่เป็นแหล่งเห็ดเผาะในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการเพิ่มการกระจายพันธุ์ของเห็ดเผาะ ทดแทนดอกเห็ดที่ถูกเก็บมา
หลังจากดำเนินการแก้ปัญหาทั้ง 3 แนวทาง พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการดูแลและป้องกันการลุกลามของไฟป่าทำให้จุดความร้อนลดลงไปถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ศึกษาแนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน แก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน (คลิก)
อ้างอิง-ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , หนังสือ "แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน