‘ยุโรป’ ทิ้งเสื้อผ้าปีละ 11 ล้านตัน ‘อียู’ ออกกฎหมายรีไซเคิล ‘ขยะสิ่งทอ’
ชาวยุโรปผลิต “ขยะสิ่งทอ” ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล “สหภาพยุโรป” ออกกฎหมายรีไซเคิล และให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำกัดสินค้า
KEY
POINTS
- ชาวยุโรปผลิตขยะสิ่งทอประมาณ 11 ล้านตัน เฉลี่ยแล้วชาวยุโรป 1 จะทิ้งขยะสิ่งทอประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี แต่มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่
- เพื่อแก้ปัญหาขยะสิ่งทอ อียูกำหนดให้มีหนังสือเดินทางผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ระบุข้อมูลที่ชัดเจนสามารถย้อนกลับไปหาที่มาของแหล่งวัสดุได้ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เริ่มการผลิตจนการกำจัดขยะ
- รัฐสภายุโรปกำหนดให้ประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องแยกสิ่งทอแยกออกจากขยะชนิดอื่น ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเตรียมการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล
“ไมโครพลาสติก” ที่พบมากที่สุดในสิ่งแวดล้อมคือ “ไมโครไฟเบอร์” เศษพลาสติกที่มีรูปร่างคล้ายด้ายหรือเส้นใยเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก “ผ้าใยสังเคราะห์” จากเสื้อผ้าที่พวกเราสวมใส่
“ฟาสต์แฟชั่น” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนเลือกซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากโซเชียลมีเดีย และเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงด้วยความเร็วที่เร็วกว่าในอดีต เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเสื้อผ้าเหล่านั้นแล้ว ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งลงถังขยะ มากกว่าจะนำไปบริจาค หรือขายเป็นสินค้ามือสอง โดยเฉพาะในยุโรป
ยุโรปผลิตขยะสิ่งทอปีละ 11 ล้านตัน
ตามรายงานของ Zero Waste Europe (ZWE) เครือข่ายกำจัดขยะแห่งสหภาพยุโรป พบว่าในปี 2562 ชาวยุโรปผลิตขยะสิ่งทอประมาณ 11 ล้านตัน เฉลี่ยแล้วชาวยุโรป 1 จะทิ้งขยะสิ่งทอประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี ขยะส่วนใหญ่ราว 8.41 ล้านตัน หรือคิดเป็น 76.7% ถูกเผาหรือทิ้งภายในสหภาพยุโรป ส่วนอีก 1.83 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 16.7% ถูกส่งออกไปนอกพรมแดนสหภาพยุโรป โดยเฉพาะไปยังแอฟริกา และเอเชีย
มีเพียง 0.19 ล้านตัน คิดเป็น 1.7% เท่านั้นถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในยุโรป ในขณะที่ 4.9% หรือคิดเป็น 0.54 ล้านตัน ถูกนำกลับมารีไซเคิลในยุโรป โดยองค์กรพัฒนาเอกชนคาดว่าชาวยุโรปจะสร้างปริมาณขยะสิ่งทอจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 ล้านตันภายในปี 2578
นอกจากนี้ ZWE ยังตั้งข้อสังเกตว่ามี 33% ของขยะสิ่งทอที่เกิดขึ้นในปี 2019 เท่านั้นที่ถูกผลิตในยุโรป ขยะสิ่งทอเกือบ 7 ล้านตันต่อปีเป็นเสื้อผ้า และของใช้ในครัวเรือน (ขยะหลังการบริโภค) ขยะราว 4-9% เป็นสินค้าที่ถูกทิ้งทั้งที่ยังไม่ได้จำหน่าย คิดเป็นปริมาณ 264,000-594,000 ตันต่อปี
การรีไซเคิลสิ่งทอในยุโรปยังคงเป็นภาคส่วนเล็กๆ กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการเกิดตลาดเสื้อผ้ามือสองเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เร็วเพียงพอกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศในยุโรปกำลังพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาขยะสิ่งทอ หนึ่งในนั้นคือ “สาธารณรัฐเช็ก”
เช็กเตรียมออกกฎหมายรีไซเคิลเสื้อผ้า
ในแต่ละปี สาธารณรัฐเช็กมีขยะสิ่งทอประมาณ 180,000 ตัน แต่มีเพียง 39,000 ตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนอีก 75,000 ตัน ถูกทิ้งรวม และปนเปื้อนสารอื่นๆ จนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ปัญหานี้ทำให้สาธารณรัฐเช็กมีแผนที่จะปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะในปัจจุบัน
ธันวาคม 2566 กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเช็กประกาศ แผนการบังคับใช้การเก็บขยะสิ่งทอ โดยจะบังคับใช้ในปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาเสื้อผ้าจำนวนมากที่ถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ ทั้งที่สามารถนำมากลับใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศสอดคล้องกับแนวทางการจัดการขยะของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องแยกสิ่งทอแยกออกจากขยะชนิดอื่น ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเตรียมการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล
ปีเตอร์ ฮลาดิก รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำถึงเป้าหมายของกฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าขยะสิ่งทอจะได้รับการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิล
ปัจจุบันสาธารณรัฐเช็กมีจุดรวบรวมสิ่งทอประมาณ 10,000 จุด ซึ่งพระราชบัญญัติขยะที่มีอยู่กำหนดให้มีการรวบรวมเท่านั้น ไม่ใช่การรีไซเคิล ทำให้สิ่งทอ และเสื้อผ้าจำนวนมากถูกทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิลแบบผสมที่สามารถทิ้งขยะรีไซเคิลรวมกันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ภาชนะพลาสติกแข็ง ภาชนะโลหะ และวัสดุสิ่งทอ ซึ่งอาจทำให้เสื้อผ้าที่อยู่ในถังดังกล่าวอาจจะปนเปื้อนจนไม่สามารถรีไซเคิลได้
กฎหมายใหม่นี้จะสร้างจุดรวบรวมและรีไซเคิลเพิ่มเติมในสถานที่ ที่เข้าถึงได้ทั่วเขตเทศบาลต่างๆ เช่น ศาลากลางหรือร้านค้า เช่นเดียวกับในประเทศที่มีแบตเตอรี่และขยะไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถกำจัดขยะสิ่งทอได้ดีขึ้น
มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในสหภาพยุโรป กำหนดให้ต้องรวบรวมสิ่งทอแยกจากขยะอื่นๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะสิ่งทอที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลักเซมเบิร์ก และเบลเยียม มีอัตราการรวบรวมสิ่งทอแยกกันสูงสุดในทวีป ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์และออสเตรีย
ยุทธศาสตร์สหภาพยุโรปสำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนและหมุนเวียน
คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อทำให้สิ่งทอมีความทนทาน ซ่อมแซมได้ ใช้ซ้ำได้ และรีไซเคิลได้มากขึ้น รับมือกับการขยายตัวของฟาสต์แฟชั่น
ด้วยการออกข้อกำหนดการออกแบบเชิงนิเวศใหม่สำหรับสิ่งทอ พร้อมมีหนังสือเดินทางผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนสามารถย้อนกลับไปหาที่มาของแหล่งวัสดุได้ และเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ รับผิดชอบและดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีฉลากสิ่งแวดล้อม สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายน้อยลงและก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศน้อยลง ซึ่งทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการหาวัสดุ การผลิต และการกำจัด โดยฉลากนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกสิ่งทอที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ในเดือนมีนาคม 2567 รัฐสภายุโรป ได้เสนอแนวคิดสำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับขยะสิ่งทอ โดยแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการขยะ ด้วยการแนะนำแผนขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หมวก เครื่องประดับ รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดเดียวของยุโรป จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรวบรวม การคัดแยก และการรีไซเคิลด้วย
ที่มา: Euro News, European Parliament, The Brussels Times
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์