ปี 2566 ‘โลกร้อน’ ที่สุดในประวัติศาสตร์ จากน้ำมือมนุษย์
การศึกษาใหม่พบ ปี 2566 อุณหภูมิโลกร้อนสุดในประวัติศาสตร์ ใกล้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม ปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
KEY
POINTS
- การศึกษาใหม่พบ ปี 2566 “โลกร้อน” แตะระดับสูงสุดตลอดกาล โดย 92% ของความร้อนที่เกิดในปีที่แล้วมาจากมนุษย์
- ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ดีต่อโลกของเรา และไม่เป็นตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น
- นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โลกยังไม่ได้ถึงจุดจบหากอุณหภูมิเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส แต่มันจะทำให้โลกเข้าใกล้หายนะมากยิ่งขึ้น
การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth System Science Data กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาถ่านหิน การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้โลกของเราร้อนขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส ในปี 2566 การวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเหลือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถปล่อยได้อีกประมาณ 200,000 ล้านตันเท่านั้น
หากสถานการณ์การปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีก 5 ปีข้างหน้า โลกจะมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ข้อตกลงปารีสล้มเหลว และจะเกิดหายนะตามมามากมาย
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ยังคงทำให้โลกร้อนขึ้น และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมช้าลงบ้างก็ตาม “อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา” ศ.เพียร์ส ฟอร์สเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร ผู้จัดทำรายงานกล่าว
โลกร้อนต่อเนื่อง
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2566 มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุบสถิติต่างๆ มากมาย เช่น กรกฎาคม 2566 เป็นเดือนกรกฎาคม ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 ทำให้ทั่วทั้งโลกเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งแอนตาร์กติกละลาย เกิดไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในแคนาดา
สถานการณ์อุณหภูมิโลกยิ่งเลวร้ายลงอีก หลังจากเกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ในช่วงปีที่ผ่านมา และยังคงสร้างผลกระทบถึงปัจจุบัน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะกล่าวว่า สภาพอากาศจะรุนแรงขึ้นในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นหลักก็ตาม
ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ดีต่อโลกของเรา และไม่เป็นตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น
“ปี 2566 สถิติอุณหภูมิโลกถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกในระยะยาวสูงขึ้นประมาณ 10% เป็นการชั่วคราว เราจะต้องยับยั้งไม่ให้ภัยธรรมชาติทั้งไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2566 กลายเป็นเรื่องปกติ”
-ศ.ฟอร์สเตอร์ กล่าว
ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ยังส่งผลต่อสมดุลพลังงานของโลกอีกด้วย ทุ่นในมหาสมุทร และดาวเทียมกำลังติดตามการไหลของความร้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนลงสู่มหาสมุทร แผ่นน้ำแข็ง ดิน และชั้นบรรยากาศของโลก การไหลของความร้อนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวถึง 50%
ศ.ฟอร์สเตอร์ กล่าวเสริมว่า การปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นประมาณ 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่แหล่งมลพิษอื่นๆ เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ การทำฟาร์ม และการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนการลดระดับการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2566 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.19 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าช่วงปี 2556-2565 ที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.14 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลข้างเคียงส่วนหนึ่งจากการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ จากอุตสาหกรรมการขนส่งเชิงพาณิชย์ ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้ออกระเบียบใหม่ เปลี่ยนองค์ประกอบเชื้อเพลิง เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากเรือ และจำกัดกำมะถัน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
นั่นอาจฟังดูว่าเป็นการช่วยโลก แต่ก็ไม่ได้ช่วยได้ทุกด้าน เพราะซัลเฟอร์ช่วยให้โลกเย็นลง โดยการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับเข้าสู่อวกาศ ดังนั้นการเลิกใช้กำมะถันในเชื้อเพลิงทางทะเลแบบเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลให้มีอนุภาคกำมะถันอยู่ในชั้นบรรยากาศลดลง และสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ได้น้อยลง
ถึงแม้ว่ากฎระเบียบเปลี่ยนเชื้อเพลิงของ IMO นี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอัตราปัจจุบันถึง 2 ปี แต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนในระยะยาว
โลกร้อนใกล้แตะ 1.5 องศาเซลเซียส
การค้นพบล่าสุดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานหลายฉบับที่ออกในปี 2567 เช่น สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าเมื่อปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.48 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่ การวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ของ NASA ก็สรุปเช่นเดียวกันว่าอุณหภูมิโลกในปีที่แล้วร้อนกว่ายุคก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส
แม้ว่าทุกองค์กรจะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างเห็นพ้องกันว่าปี 2566 เป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในโลกในรอบ 50 ปี
“เห็นได้ชัดว่าเราควรดำเนินการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเร็วที่สุด เพราะภาวะโลกร้อน อาจจะเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด” ยาน เอสเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนสกูเทนแบร์ก ในเยอรมนี กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โลกยังไม่ได้ถึงจุดจบหากอุณหภูมิเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส แต่มันจะทำให้โลกเข้าใกล้หายนะมากยิ่งขึ้น การศึกษาขององค์การสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบนิเวศของโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วงภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส
รวมถึงการสูญเสียแนวปะการังของโลก พันธุ์พืช และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ตลอดจนเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรง และสร้างผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน
ในเดือนพฤศจิกายน นี้ ผู้นำโลกจะรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP29 ในอาเซอร์ไบจาน ที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์