‘สกอตแลนด์’ เปิด ‘เขตปล่อยมลพิษต่ำ’ ห้ามรถเก่าควันดำเข้า จับปรับ 45,000 บาท
“สกอตแลนด์” เริ่มใช้นโยบาย “เขตปล่อยมลพิษต่ำ” (LEZ) ห้ามรถเก่าเข้า ฝ่าฝืนเจอค่าปรับสูงสุด 45,000 บาท หวังลด “มลพิษในเมือง” สร้างเสริมสุขภาพที่ดีของคนในเมือง ขณะที่รายงานใหม่พบ มลพิษทางอากาศ เชื่อมโยงกับ “ปัญหาสุขภาพจิต”
KEY
POINTS
- การศึกษาระบุว่า ทารกที่สัมผัสกับ “มลพิษทางอากาศ” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กอาจมีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว
- ปัจจุบันมลพิษทางอากาศกลายเป็นปรกติเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะที่อัตราปัญหาสุขภาพจิตก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่มลภาวะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หลายประเทศมีมาตรการลดการสัมผัสมลพิษ เช่น เขตที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ
- สกอตแลนด์ได้ประกาศเปิดใช้เขตปล่อยมลพิษต่ำใน 3 เมือง ได้แก่ นครเอดินบะระ กลาสโกว์ และดันดี อย่างเป็นทางการ หากฝ่าฝืน นำรถเก่าเข้าไปในเขต LEZ จะถูกปรับเริ่มต้นที่ 60 ปอนด์ และค่าปรับจะเพิ่มเป็นสองเท่า และหากผิดซ้ำซากค่าปรับจะทบไปเรื่อย ๆ จนถึง 480 ปอนด์
เราต่างรู้ดีว่า “มลพิษทางอากาศ” ส่งผลให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืดกำเริบ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่การศึกษาใหม่พบว่ามลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน
ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open ระบุว่า ทารกที่สัมผัสกับ “มลพิษทางอากาศ” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กอาจมีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว โดยนักวิจัยแนะนำว่าการมีมาตรการลดสัมผัสมลภาวะของแต่ละบุคคล เช่น เขตที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ เขตปลอดมลพิษ อาจช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตได้
ดร.โจแอนน์ นิวเบอรี ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ผู้จัดทำวิจัยดังกล่าวกล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้ช่วยบ่งชี้ถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของมลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียงที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพจิต
การศึกษานี้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของมลพิษทางอากาศและเสียงที่มีต่อเยาวชน เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยคัดเลือกหญิงตั้งครรภ์ระหว่างปี 1991-1992 ราว 14,000 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองบริสตอล ของอังกฤษ ทำการศึกษาและติดตามผลมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ 25 ปี
การวิเคราะห์ควบคู่ไปกับระดับมลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียงที่อยู่รายรอบที่พักอาศัยของแต่ละคน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งอายุ 12 ปี ผลการศึกษาพบว่า มีจำนวนเยาวชนจำนวน 9,065 คน ที่มีรายงานเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในช่วงอายุ 13, 18 และ 24 ปี โดย 19.5% ถูกบันทึกว่าเคยมีประสบการณ์โรคจิต ขณะที่ 11.4% รายงานว่ามีอาการซึมเศร้า และอีก 9.7% รายงานว่ามีความวิตกกังวล
นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่าปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระหว่างตั้งครรภ์และวัยเด็ก แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ทางจิตและอาการซึมเศร้าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวได้
ดร.นิวเบอรี กล่าวว่า ช่วงเริ่มต้นของชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นช่วงเวลาที่ความผิดปรกติทางจิตเวชจะเริ่มก่อตัวขึ้น ราว 2 ใน 3 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มักจะเริ่มแสดงอาการตอนอายุ 25 ปี
ปัจจุบันมลพิษทางอากาศกลายเป็นปรกติเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะที่อัตราปัญหาสุขภาพจิตก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่มลภาวะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ดร.นิวเบอรีเสนอให้มีมาตรการเพื่อลดการสัมผัส เช่น เขตที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ อาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง รวมถึงสตรีมีครรภ์และเด็ก เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสมลพิษอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เขตปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ลดมลพิษในเมือง
“เขตปล่อยมลพิษต่ำ” หรือ LEZ (Low Emission Zone) กลายเป็นหนึ่งในวิธีหลายประเทศเริ่มนำมาใช้แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมือง โดย LEZ เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้เฉพาะยานพาหนะที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซขั้นต่ำเท่านั้นเข้าได้ หากฝ่าฝืนที่ฝ่าฝืนมาตรฐานการปล่อยมลพิษจะถูกปรับเมื่อเข้าไปในโซนดังกล่าว
ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2024 สกอตแลนด์ได้ประกาศเปิดใช้เขตปล่อยมลพิษต่ำใน 3 เมือง ได้แก่ นครเอดินบะระ กลาสโกว์ และดันดี อย่างเป็นทางการ หลังจากเริ่มทดลองใช้ในแบบ “เขตผ่อนผัน” มานานถึง 2 ปี
รัฐบาลสกอตแลนด์กล่าวว่าเป้าหมายของ LEZ คือการปรับปรุงคุณภาพอากาศในใจกลางเมือง ค่าปรับที่ได้มาจะถูกนำมาใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร และอากาศสะอาดของสกอตแลนด์ โดยรถที่ห้ามเข้าพื้นที่ LEZ ได้แก่ รถยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนก่อน กันยายน 2015 และรถยนต์เบนซินที่จดทะเบียนก่อนปี 2006
หากฝ่าฝืน นำรถเก่าเข้าไปในเขต LEZ จะถูกปรับเริ่มต้นที่ 60 ปอนด์ หรือราว 2,800 บาท หากชำระค่าปรับภายใน 14 วัน ค่าปรับจะลดลง 50% อย่างไรก็ตาม หากทำผิดซ้ำภายใน 90 วันหลังจากทำผิดครั้งแรก ค่าปรับจะเพิ่มเป็นสองเท่า และหากผิดซ้ำซากค่าปรับจะทบไปเรื่อย ๆ จนถึง 480 ปอนด์ หรือ 22,377 บาท สำหรับรถยนต์และรถบรรทุกสินค้าขนาดเล็ก และ 960 ปอนด์ หรือประมาณ 44,755 บาท สำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็ก
แคมมี เดย์ ผู้นำสภาเมืองเอดินบะระ กล่าวว่า การบังคับใช้ LEZ ในเขตเมืองหลวง จะช่วยให้สภาพอากาศในเมืองดีขึ้นและลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เอดินบะระตั้งเป้าจะก้าวเข้าสู่เน็ตซีโรภายในปี 2030 และ LEZ จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก และจะช่วยกระตุ้นให้คนในเมืองเดินทางแบบ “Active Travel” ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่ผู้เดินทางออกแรงขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น เดิน ปั่นจักรยาน แทนการใช้เครื่องยนต์
นอกจากนี้ สภาเมืองเอดินบะระยังได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับส่งเสิรมให้ประชาชนปั่นจักรยานและการเดิน รวมถึงเริ่มปรึกษาหารือเกี่ยวกับการขยายระบบรถรางเพิ่มเติมอีกด้วย
ที่มา: BBC, BBC, Independent