‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ สร้างก๊าซเรือนกระจก 60 ล้านตัน
การศึกษาพบ ช่วง 4 เดือนแรกของ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว 60 ล้านตัน มากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีของหลายประเทศทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้กองทัพรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทหาร
KEY
POINTS
- การศึกษาพบ ช่วง 4 เดือนแรกของ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว 60 ล้านตัน มากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีของหลายประเทศทั่วโลก
- ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของอิสราเอลสามารถจัดได้ว่าเป็น “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง จนยากจะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับมาเป็นดังเดิม ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ระยะยาว และรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
- ในแต่ละปีกองทัพทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันคิดเป็น 5.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งมากกว่าบินพลเรือน (3%) และการขนส่งพลเรือน (2%) รวมกันเสียอีก แต่ในปัจจุบันกองทัพไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือรายงานการปล่อยก๊าซดังกล่าว
“สงครามอิสราเอล-ฮามาส” ยังคงดำเนินต่อเนื่องไม่หยุด นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหายภายในปาเลสไตน์จำนวนมาก ในขณะเดียวกัน สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสก็ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 60 ล้านตัน
ตามข้อมูลของธนาคารโลกและสหประชาชาติ พบว่า ภายใน 4 เดือนแรกที่เกิดความขัดแย้งได้ทำลายอาคารมากถึง 66% ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของกาซา เช่น ถนน โรงบำบัดน้ำและน้ำเสีย โรงไฟฟ้าแห่งเดียวของประเทศ เครือข่ายท่อน้ำทิ้ง และบ่อน้ำ รวมถึงอาคารประมาณ 200,000 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาล อพาร์ตเมนต์ และโรงเรียน
และต้นไม้หายไปครึ่งหนึงจากทั้งหมด รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 18,500 ล้านดอลลาร์ และคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 36,500 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และอีกหลายพันคนยังคงถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังและสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว อีกทั้งมีเศษซากปรักพังอีก 23 ล้านตัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเคลียร์หมด
การศึกษาของนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ที่ตีพิมพ์ใน Social Science Research Network พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วง 120 วันแรกของสงคราม มีปริมาณมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2022 ของ 26 ประเทศและดินแดน เช่น โปรตุเกส และสวีเดน และมากกว่าสองเท่าของการปล่อยก๊าซต่อปีของอัฟกานิสถาน
อิสราเอลเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากเชื้อเพลิงและจรวดของกลุ่มฮามาส รวมถึงการผลิตไฟฟ้าในฉนวนกาซา ตลอดจนการขนส่งด้วยรถบรรทุกเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น
นักวิจัยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน 3 ประเภท ได้แก่ 1.การก่อสร้างก่อนความขัดแย้งนี้ เช่น เครือข่ายอุโมงค์ของฮามาส และการติดตั้งระบบไอรอนโดม 2.การสู้รบในช่วง 120 วันแรกของสงคราม 3.การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและอาคารของฉนวนกาซา
สงครามในครั้งนี้จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ระหว่าง 420,265-652,552 ตัน ซึ่งเท่ากับการเผาไหม้น้ำมันมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล แต่เมื่อรวมปริมาณก๊าซคาร์บอนระหว่างการก่อสร้างก่อนสงสร้าง ตลอดการฟื้นฟูและสร้างใหม่ในช่วงหลังสงครามจะมีตัวเลขสูงถึง 61 ล้านตัน มากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีของ 135 ประเทศทั่วโลก
การปล่อยก๊าซของกองทัพ
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในแต่ละปีกองทัพทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันคิดเป็น 5.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งมากกว่าบินพลเรือน (3%) และการขนส่งพลเรือน (2%) รวมกันเสียอีก แต่ในปัจจุบันกองทัพไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือรายงานการปล่อยก๊าซดังกล่าว
ภายใต้ข้อตกลงปารีส กองทัพจะรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ตามข้อมูลขององค์กร Military Emissions Gap พบว่า มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ให้ข้อมูลแก่ UNFCCC และแน่นอนว่าอิสราเอลไม่ได้อยู่ใน 4 ประเทศนั้น
“กองทัพได้รับการยกเว้นจากการรายงาน โลกของเรามีก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากเครื่องบิน F-35 แต่กลับไม่ได้เอามันนับรวมปริมาณก๊าซ” ดร.เบนจามิน นีมาร์ก ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนอธิบาย
แม้จะไม่มีข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทางการทหาร ในการยื่นรายการก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติประจำปีของอิสราเอลที่ส่งไปให้ UNFCCC แต่การศึกษาประเมินว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากเชื้อเพลิงของอิสราเอลในช่วงสงครามจะอยู่ระหว่าง 261,800-372,480 ตัน ใกล้เคียงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประจำปีในหมู่เกาะโซโลมอน
การปล่อยคาร์บอนจากระเบิดที่ทิ้งในฉนวนกาซาโดยกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนจากการจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนเกือบ 10,000 หลังต่อปี
“กองทัพทั่วโลกคือกลุ่มผู้ก่อมลพิษคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เรายังรู้น้อยมากว่ามันมีปริมาณเท่าใด และส่งผลกระทบโดยรวมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขนาดไหน งานวิจัยนี้พยายามที่จะเติมเต็มช่องว่างและเปิดความลับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงคราม” ดร. นีมาร์กกล่าว
วิกฤติสภาพภูมิอากาศกับความขัดแย้งและภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม
งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “สงคราม” ไม่เคยให้อะไร นอกจากความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าวว่า ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบวิฤติสภาพภูมิอากาศ ที่มาจากความขัดแย้งที่สะสมมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งทำให้ประชาชนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้นกว่าเดิม
การโจมตีของอิสราเอลได้เพิ่มมลพิษทางอากาศ น้ำ และดินในฉนวนกาซา พร้อมปล่อยของเสียอันตราย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างถาวร
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของอิสราเอลสามารถจัดได้ว่าเป็น “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง จนยากจะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับมาเป็นดังเดิม ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ระยะยาว และรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ดร. นีมาร์กกล่าวว่า รัฐบาลและกองทัพจำเป็นต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่ออาชญากรรมด้านสภาพภูมิอากาศและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของพวกเขา ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิจัย
ที่มา: Euro News, Phys, The Guardian