ส่องสถานการณ์ 'ปะการังฟอกขาว' มิ.ย. 67

ส่องสถานการณ์ 'ปะการังฟอกขาว' มิ.ย. 67

หนึ่งในวิกฤตการณ์ใต้ทะเล ที่เป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) คือ “ปะการัง” ที่พบการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

KEY

POINTS

  • Climate change ส่งผลต่อ “ปะการัง” เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทบต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
  • นักวิทยาศาสตร์ได้มีการประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับปกติ 1.5 องศาเซนติเกรด ปะการังในโลกจะถูกทำลายกว่า 70-90%
  • กรม ทช. ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2567 บริเวณเกาะโลซิน จ.ปัตตานี พบปะการังฟอกขาว 40% สีจาง 30% และยังอยู่ในสภาพปกติเพียง 30% 

8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ถือเป็น วันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ได้กำหนดขึ้นในคราวการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCEN) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 โดยประเทศสมาชิกกว่า 178 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

 

พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกช่วยกันปกป้องและรักษาทะเล จนกระทั่งปี 2551 องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันทะเลโลก โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2552 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างพร้อมเพรียง

 

หนึ่งในวิกฤตการณ์ใต้ทะเล ที่เป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) คือ “ปะการัง” ที่พบการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่ใช้ประโยชน์จากแนวปะการังให้ขาดที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลลูกปลา และที่หลบภัย ทำให้ถูกล่าได้ง่ายขึ้นเป็นผลให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลดลงเป็นอย่างมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อธิบายว่า ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

 

ดังนั้น สีสันจากปะการังไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือสีน้ำตาลที่เราเห็น มาจากสาหร่ายซูแซนเทลลีทั้งสิ้น โดยสาหร่ายจะทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง ให้ธาตุอาหารแก่ปะการังใช้ในการดำรงชีวิตและช่วยในการเจริญเติบโต ปะการังจะเป็นที่อยู่อาศัยและให้สาหร่ายนำของเสียจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรท ฟอสเฟตมาใช้ในการสร้างสารอาหาร วงจรชีวิตของปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี เป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (mutualism) หากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

 

ปะการังที่เกิดการฟอกขาว สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ หากสาหร่ายซูแซนเทลลีเหล่านั้นกลับเข้าสู่ตัวปะการังอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปกลับคืนสู่ภาวะปกติ ปะการังจะสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนเทลลีได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์

 

หากมีเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและระยะเวลายาวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การฟื้นตัวของปะการังโดยธรรมชาติมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ หรือไม่มีเลย และถ้าสาหร่ายซูแซนเทลลีไม่กลับเข้าสู่ปะการังในช่วงเวลาดังกล่าวปะการังเหล่านั้นก็จะตายในที่สุด

 

ปะการังทั่วโลก เสี่ยงถูกทำลายกว่า 70-90%

สำหรับ ทะเลในประเทศไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้มีการประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับปกติ 1.5 องศาเซนติเกรด ปะการังในโลกจะถูกทำลายกว่า 70-90% และหากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น 2.0 องศาเซนติเกรด ปะการังจะถูกทำลายสูงถึง 99% เลยทีเดียว

 

ระบบนิเวศแนวปะการัง นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ยังเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอีกด้วย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลกกว่า 54 ประเทศแล้ว ในส่วนของประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาว

 

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สำรวจแหล่งปะการังหลายพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ระบุว่าเกิด ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จากระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จนต้องประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 12 แห่ง ทั้งฝังทะเลอันดามันและอ่าวไทย

 

พื้นที่ที่เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวแล้วกว่า 50 – 70% ได้แก่ หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน หมู่เกาะชุมพร และอยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติมอีกในหลายพื้นที่

 

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้สำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2567 บริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานีพบปะการังฟอกขาว 40% สีจาง 30% และยังอยู่ในสภาพปกติเพียง 30% โดยปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังช่องเล็ก และกลุ่มปะการังเขากวางแผ่นแบนแบบโต๊ะ

 

สถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" มิ.ย. 67

 

เกาะล้าน เกาะไผ่ จ.ชลบุรี ปะการังฟอกขาวน้อย

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวโดยอากาศยานไร้คนขับและการดำน้ำตื้นบริเวณหมู่เกาะล้านและหมู่เกาะไผ่ จ.ชลบุรี เบื้องต้นพบว่า ปะการังบริเวณที่สำรวจฟอกขาวค่อนข้างน้อย (<5%) ส่วนใหญ่ปะการังอยู่ในสภาวะปกติ (>70%) และบางส่วนมีสีซีดจาง

 

โดยปะการังชนิดที่ฟอกขาวเป็นส่วนใหญ่คือปะการังช่องเล็ก (Montipora spp.) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ส่วนปะการังโขด (Porites spp.) ซึ่งเป็นชนิดเด่นของแนวปะการังนั้นฟอกขาวเพียงเล็กน้อย (<1%) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

เกาะมันใน จ.ระยอง ปะการังฟอกขาว 40%

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก สำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะมันใน (หาดหน้าบ้าน) จ.ระยอง เบื้องต้นพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลมีแนวโน้มลดลงแล้วและพบปะการังบางส่วนมีการฟื้นตัว (ประมาณ 5%) พบว่า ปะการังอยู่ในสภาพปกติ 5% สีซีดจาง 35% ฟอกขาว 40% และตายจากการฟอกขาว 20% ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะทำการติดตามสถานการณ์และอัตราการรอดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป

 

เกาะหมา จ.กระบี่ ปะการังฟอกขาว 80%

วันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง สำรวจสถานภาพแนวปะการัง โดยวิธี Line intercept transect บริเวณเกาะหมา จังหวัดกระบี่ ในพื้นที่สำรวจประมาณ 77 ไร่ ปะการังชนิดเด่น ได้แก่ ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังดอกกะหล่ำ และปะการังโขด ตัวอ่อนปะการังกลุ่มเด่น ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ และปะการังรังผึ้ง

 

กลุ่มปลาชนิดเด่น ได้แก่ ปลาสลิดหินเล็กหางเหลือง ปลาสลิดหินบั้งเขียวเหลือง และปลาสลิดหินยักษ์หางแฉก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดเด่น ได้แก่ เม่นดำหนามสั้น หอยมือเสือชนิด Tridacna squamosa และเม่นวงแหวนขาว

 

ทั้งนี้ ได้ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว พบการฟอกขาว 80% สภาพปกติ 10% และตายจากการฟอกขาว 10% ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังรังผึ้ง ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังโขด และกลุ่มปะการังดอกเห็ด โดยปะการังสีน้ำเงินบางส่วนเริ่มตายจากการฟอกขาว มีสาหร่ายปกคลุม ความลึกน้ำทะเล 2-7 เมตร ความเป็นกรด-ด่าง 8.5 ความเค็ม 31.23 พีพีที ออกซิเจนละลายน้ำ 6.50 มิลลิกรัมต่อลิตร อุณหภูมิ 31.93 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ศวอล.จะดำเนินการสำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

แหลมแสมสาร หาดเจ้าหลาว ปะการังฟอกขาว 60-70%

วันที่ 6-8 มิถุนายน 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว หลังจากมีการรายงานปะการังฟอกขาวเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทำการสำรวจโดยอากาศยานไร้คนขับและการดำน้ำตื้น บริเวณหมู่เกาะสีชังและแหลมแสมสาร จ.ชลบุรี และ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี

 

เบื้องต้น พบว่าปะการังส่วนใหญ่ในพื้นที่แหลมแสมสารและหาดเจ้าหลาว ยังคงฟอกขาวอยู่ (60-70%) และ บางส่วนตายจากการฟอกขาว (30%) ในขณะที่ หมู่เกาะสีชัง ปะการังส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ (ไม่ฟอกขาว) ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะทำการติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

เกาะยา จ.ตรัง ปะการัง ฟอกขาว 70%

วันที่ 10 มิถุนายน 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ดำเนินการสำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะยา จ.ตรัง จากการสำรวจด้วยวิธีการดำน้ำลึก ที่ระดับความลึก 5-7 เมตร ผลการสำรวจในภาพรวมพบว่า เกาะยา มีปะการังสีซีดจาง 10% ปะการัง ฟอกขาว 70% และปะการังสภาพปกติ 20%

 

โดยส่วนใหญ่ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังสมองร่องสั้น (Platygyra spp.) และปะการังลายลูกฟูก (Pachyseris rugosa) และพบกลุ่มดอกไม้ทะเลฟอกขาว สำหรับข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลที่ได้จาก data temperature logger ที่ระดับความลึก 6 เมตร พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.31 ± 0.22 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ จะดำเนินการสำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวและอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ทำอย่างไร ไม่ทำร้าย “ระบบนิเวศทางทะเล”

1. ระวังเรื่องการใช้พลังงานของตัวเอง ลดการใช้พลังงานทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อผลิต carbon น้อยลง ผลจากสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ที่ส่งกระทำต่อทะเลก็จะน้อยลงไปด้วย เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านเป็นหลอดประหยัดไฟ, ใช้บันไดแทนลิฟต์

2. เลือกกินอาหารทะเลที่เป็นสัตว์ที่มาจากระบบที่ยั่งยืน หัวข้อฟังยาก แต่ที่จริงก็คือเลือกกินอาหารทะเลที่ไม่ได้จับด้วยวิธีที่อันตรายต่อสัตว์อื่น หรือสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ก็ไม่กินสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยนะ

3. ใช้พลาสติกให้น้อยลง ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่ที่จริงแล้วเกี่ยวเต็มๆ เพราะปริมาณขยะพลาสติกส่วนนึงจะไปจบลงในท้องทะเล ถึงแม้จะบอกว่าเราทิ้งลงถังขยะที่ถูกต้อง แต่เราก็ไม่เห็นมันวิ่งไปจนถึงโรงงานทำลายด้วยตัวเอง พลาสติกที่เราทิ้งอาจจะพลาดไปตกอยู่ในทะเลโดยเราไม่รู้ตัว เริ่มง่ายๆ ด้วยการใช้ถุงผ้า (ที่เค้าฮิตๆ กัน) อย่างจริงจัง, พกแก้วน้ำส่วนตัวเวลาไปซื้อน้ำจากรถเข็น, เก็บอาหารด้วยกล่องที่ใช้ซ้ำได้อย่าง ทัพเปอร์แวร์ แทนถุงร้อน, และแยกขยะส่งรีไซเคิลถ้าสามารถทำได้

4. ช่วยกันดูแลชายหาด เริ่มจากตัวเองก่อน เวลาไปเที่ยวทะเล ไม่ว่าเที่ยวหาด หรือเที่ยวด้วยเรือ ช่วยกันดูแลขยะของตัวเอง เก็บกวาดให้เรียบร้อย ถ้ามีเวลา และกำลังพอ ก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะทั้งบกบก และใต้น้ำ ตามสะดวก

5. อย่าซื้อสินค้าที่ทำลายชีวิตจากทะเล ไม่ใช่แค่เปลือกหอย ปะการัง กระดองเต่า แต่รวมไปถึงสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำลายแนวปะการัง หรือวางอวนลากมาอีกด้วย

6. เลี้ยงสัตว์แบบรักษ์ทะเล อ่านฉลากอาหารสัตว์เลี้ยงบ้าง บางชนิดอาจจะทำจากเศษซากของสัตว์น้ำใกล้สูญพันธ์ เช่นปลาทูน่าชนิดที่หายาก ถ้าเลี้ยงแมว อย่าทิ้งอึ๊แมวลงชักโครก เพราะอาจมีเชื้อโรคซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ อย่าเลี้ยงปลาตู้ด้วยปลาชนิดที่จับจากทะเล และอย่าปล่อยปลาตู้กลับลงทะเลซี้ซั้ว เพราะอาจจะเป็นปลาที่ไม่เคยมีอยู่ในทะเลแถวนั้น ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ได้

7. สนับสนุนองค์กรที่ช่วยเหลือด้านทะเล เลือกเอาที่ชอบ ออกแรงไม่ได้ ออกตังค์ให้เป็นประโยชน์ก็ยังดีนะ

8. สร้างพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงให้คนใกล้ตัว ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี อธิบายเพื่อนๆ รอบข้างถึงเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยกันทำได้ เวลาไปกินข้าวก็เลือกร้านที่ไม่ใช้วัตถุดิบที่ทำร้ายสัตว์น้ำใกล้สูญพันธ์ แต่ระวังอย่าทำสุดโต่งเกินไป เดี๋ยวเพื่อนๆ จะเลิกคบ

9. เดินทางแบบรักษ์ทะเล เวลาเดินทางด้วยเรือ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล ก็ระวังและปฏิบัติตามข้อควรระวัง เช่นไม่เข้าใกล้ หรือทับแนวปะการัง ไม่ทิ้งขยะลงในน้ำ

10. เติมความรู้รอบตัวเกี่ยวกับทะเล และสัตว์น้ำทุกชีวิตเชื่อมต่อกับทะเลมหาสมุทรทางใดทางนึง ยิ่งรู้มากขึ้น ก็จะเข้าใจมากขึ้น และไม่เผลอทำร้ายทะเลโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

 

 

 

อ้างอิง : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง