Google ร่วมมือนักวิทย์ฯ พัฒนา AI ติดตามสุขภาพแนวปะการัง
กูเกิล (Google) ร่วมมือกับ DeepMind และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พัฒนา SurfPerch นำ AI ติดตามสุขภาพแนวปะการัง มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศรับมือโลกเดือด
แนวปะการังทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการติดตาม ศึกษา และอนุรักษ์ระบบนิเวศเหล่านี้
กูเกิลร่วมมือกับ DeepMind และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชื่อ “SurfPerch” ที่สามารถช่วยนักวิจัยตรวจสอบสุขภาพของปะการังอย่างละเอียด ติดตามสถานการณ์ปะการังได้รวดเร็ว นำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
การฝึกเอไอนั้นมาจาก Google Research และใช้ประโยชน์จากข้อมูลชีวเสียงที่รวบรวมผ่าน crowdsourcing บนเว็บไซต์ Calling in Our Corals เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ฟังและระบุเสียงปลาในบันทึกเสียงจากปะการัง โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ได้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้ในการฝึกฝน SurfPerch ซึ่งสามารถทำงานหลักๆ ได้ดังนี้
- ติดตามสุขภาพปะการังได้อย่างละเอียดจากการวิเคราะห์เสียง สามารถวิเคราะห์และระบุสภาพปะการังได้แม่นยำจากเสียงเพียงอย่างเดียว ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสุขภาพของปะการังได้ดียิ่งขึ้น
- ติดตามกิจกรรมของปะการังตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่าการสำรวจแบบดั้งเดิม
- เข้าถึงปะการังในพื้นที่ลึกหรือน้ำขุ่นการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เสียงอย่าง SurfPerch ทำให้สามารถศึกษาปะการังในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อยหรือน้ำขุ่นได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการสังเกตด้วยตาเปล่า
- ติดตามผลการฟื้นฟูปะการัง ข้อมูลละเอียดจาก SurfPerch ช่วยให้นักวิจัยสามารถประเมินผลการฟื้นตัวของปะการังหลังการฟื้นฟูได้อย่างแม่นยำ
- ค้นพบความแตกต่างระหว่างปะการังที่ได้รับการคุ้มครองและไม่ได้รับ โมเดลสามารถระบุความแตกต่างของระบบนิเวศปะการังในพื้นที่ที่มีการจัดการแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการอนุรักษ์
- เข้าใจความสัมพันธ์กับชุมชนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยสามารถวิเคราะห์เสียงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ทำให้ SurfPerch ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปะการังกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังพบว่า การนำเสียงนกร้องที่แตกต่างจากเสียงปะการังมาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ SurfPerch ได้ด้วย เนื่องจากบางรูปแบบของเสียงนกมีความคล้ายคลึงกับเสียงปลา
เมื่อนำ SurfPerch ไปใช้ในการศึกษาจริง ผลลัพธ์แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สำคัญ เช่น การค้นพบความแตกต่างของปะการังที่ได้รับการคุ้มครองและไม่ได้รับการคุ้มครองในฟิลิปปินส์ การติดตามผลการฟื้นฟูปะการังในอินโดนีเซีย และการเข้าใจความสัมพันธ์ของชุมชนปลากับปะการังเกรตแบริเออร์รีฟดียิ่งขึ้น
กูเกิลระบุว่า โครงการนี้จะดำเนินต่อไป เพื่อพัฒนาศักยภาพของ SurfPerch ด้วยการเพิ่มข้อมูลเสียงปะการังใหม่ๆ เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความก้าวหน้านี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือในการศึกษาและติดตามสุขภาพของปะการังได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้น
อ้างอิง: TechCrunch และ Google