มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลกอย่าง Impact Rankings 2024 จัดขึ้นโดย Times Higher Education’s (THE) ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)

KEY

POINTS

  • มหาวิทยาลัยไทย 77 แห่งติดอันดับ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11 แห่ง เพิ่มขึ้น 17%
  • สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีความโดดเด่น และให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายของ SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ การจัดอันดับไม่ได้มองเรื่องขนาด หรือความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องทำทุกด้าน 
  • อว.มุ่งการสร้างความเข้าใจ เทรนนิ่ง จัด Workshop ผลักดันให้การทำวิจัยเชิงพื้นที่กลายเป็นงานวิจัยระดับสากล จาก Local สู่ Grobal  หนุนมหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน 

มหาวิทยาลัยไทยได้ติดท็อป 20 ในการจัดอันดับระดับโลกอย่าง Impact Rankings 2024 ของปี 2567 ที่จัดขึ้นโดย Times Higher Education’s หรือ THE ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ

มหาวิทยาลัยมหิดล คือ มหาวิทยาลัยอันดับสูงสุดของประเทศไทยในประเภทโดยรวม อยู่อันดับที่ 19 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นเหนือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทยใน 5 เป้าหมายของ SDGs ประกอบด้วย

  • เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
  • เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สสส. สานพลังพลิกผืนป่า สร้าง 'เยาวชน' ดวงใจสีเขียว

สยามพิวรรธน์ วิถียั่งยืน เท่าทันยุค ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

มหาวิทยาลัยไทย 77 แห่งติดอันดับ เพิ่มขึ้น 17%

  • มหาวิทยาลัยไทยถึง 2 แห่งที่ถูกจัดอยู่ใน 50 อันดับแรกในประเภทโดยรวม และมีอีกถึง 4 มหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ใน 100 อันดับแรก ยิ่งไปกว่านั้นมีมหาวิทยาลัยอีกกว่า 9 แห่งที่ถูกจัดอยู่ใน 200 อันดับแรก
  • ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ในอันดับถึง 77 แห่ง ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
  • ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ติด 100 อันดับแรก และสามารถทำตามเป้าหมายของ SDGs ได้ถึง 15 ข้อจากทั้งหมด 17 ข้อ
  • ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมากที่สุดใน 100 อันดับแรกในเป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต  และเป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 
  • ปีนี้มหาวิทยาลัยไทย 77 แห่งติดอันดับ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11 แห่ง เพิ่มขึ้น 17%

การจัดอันดับได้เข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งถือว่าเป็นการจัดอันดับหนึ่งเดียวของโลกที่สามารถชี้วัดการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยต่อการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ UN’s SDGs) ประเมินความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การวิจัย (Research) 2)การบริหารจัดการเชิงบูรณาการ (Stewardship) 3)การบริการวิชาการ (outreach) และ 4) การเรียนการสอน (teaching)

มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยไทยที่ครองตำแหน่งสูงสุดใน 17 เป้าหมายของ SDGs 

เป้าหมายที่ 1: ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่อันดับที่ 34

เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่อันดับที่ 12

เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย : มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 3

เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต  

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 15

เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 18

เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันเรื่องน้ำ และการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน

  •  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่อันดับที่ 55

เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

  • มหาวิทยาลัยมหิดล  อยู่อันดับที่ 29

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่อันดับที่ 25

เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุม และยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับที่ 23

เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่ระหว่างอันดับที่ 201-300

เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมือง และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่อันดับที่ 51

เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่อันดับที่ 86

มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 13: ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น

  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างอันดับที่ 101-200

เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 27

เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

  • มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 63

เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ

  •  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่อันดับที่ 19

เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 5

เกณฑ์ 4 ด้าน จัดอันดับมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Phil Baty, Chief Global Affairs Officer ของ THE กล่าวว่าTHE เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดอันดับการศึกษา และมีวัตถุประสงค์สำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ที่ประเทศไทย เป็นการสร้างโอกาส และเปิดเวทีให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ กับสถาบันอุดมศึกษา โดยทาง THE  ได้มีการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในการสร้างการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ทั้งนี้ ต้องมีการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานของภาครัฐร่วมด้วย

ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีความโดดเด่น และให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง THE มีเครื่องมือในการจัดอันดับว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ทั้งด้านวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ และการสร้างความร่วมมือ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยไทย จะให้ความสำคัญทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอน มากที่สุด รองลงมาเป็นการปฏิบัติหรือการทำงานเชิงพื้นที่ การสร้างความร่วมมือ และงานวิจัย

"เป้าหมายของ SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งการจัดอันดับ ไม่ได้มองเรื่องขนาด หรือความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องทำทุกด้าน เกณฑ์การพิจารณารองรับความหลากหลาย  หากมหาวิทยาลัยใดทำตรงกับเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการจัดอันดับ เพราะเข้าใจว่าแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละภูมิภาคของโลกมีความถนัดไม่เหมือนกัน"

มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 การจัดอันดับระดับโลก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

มุ่งสร้างความเข้าใจ เทรนนิ่ง ผลักดันงานวิจัยจาก Local สู่ Grobal

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่าในแง่ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยมีความเข้มแข็งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไทยในกลุ่มไหน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้วนมีงานวิจัย มีการทำงานเชิงพื้นที่จำนวนมาก ทำให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถได้รับการจัดอันดับ SDGs มากขึ้นกว่าปีก่อนๆ

"กระทรวง อว.จะมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ เทรนนิ่ง จัด Workshop เข้าใจเกณฑ์การจัดอันดับมากขึ้น พร้อมผลักดันให้การทำวิจัยเชิงพื้นที่กลายเป็นงานวิจัยระดับสากล จาก Local สู่ Grobal เชื่อทุกมหาวิทยาลัยมีการทำเรื่องความยั่งยืน มีงานวิจัยอยู่แล้ว กระทรวง อว. ต้องเข้าไปสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น เพราะการพัฒนาคนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีเฉพาะปัญญา ความรู้ แต่ต้องสร้างคนที่แคร์ต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้น"ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์