'พิมพ์ภัทรา' ตั้งรับ 'ลานีญา' ชี้ 'อุตสาหกรรม' มีภูมิต้านทานสูง
"พิมพ์ภัทรา" พร้อมตั้งรับพายุ "ลานีญา" ระบุ กลุ่มอุตสาหกรรมมีบทเรียนและภูมิต้านทานที่ดี รับห่วงภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการ แม้ MPI จะพลิกบวกภายหลังติดลบติด 18 เดือน กระตุ้น "เอสเอ็มอี" ปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์รับเทรนด์โลก หวังเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้น
KEY
POINTS
- "พิมพ์ภัทรา" เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
- เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น กฎระเบียบใหม่ เทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลง
- รัฐมนตรีฯ "พิมพ์ภัทรา" เน้นย้ำ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม กระทรวงฯ จึงมุ่งมั่นช่วยเหลือให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าทีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เปลี่ยนเป็นลานีญา ทำให้มีฝนตกมากและอาจเกิดน้ำท่วมหลาย ๆ พื้นที่ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมได้เตรียมแผนรับมือในเรื่องนี้มาโดยตลาด ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีแผนรับมือที่ดีอย่างเป็นขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ด้วยความกังวลในเรื่องของภัยแล้ง ก็ได้ให้ระบายน้ำช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ว่าจะเอาน้ำจากไหน แต่ในเรื่องของท่วมนั้น เข้าใจว่าแต่ละโรงงานอุตสาหกรรม ได้ผ่านวิกฤติในเรื่องของน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว ซึ่งถือว่ามีภูมิต้านทานพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางของรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกแล้วว่า เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ ทางผู้ประกอบการเองจะต้องเจอกับหลากหลายเรื่องพร้อมกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นได้แค่ฝ่ายสนับสนุน แต่ก็เชื่อว่าแต่ละโรงงานก็มีมาตรการที่จะรับมือกับเรื่องพวกนี้พอสมควร ซึ่งปัจจุบันเรื่องน้ำท่วมจะมีหน่วยงานหลักน่าจะอยู่ คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลัก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันหลายกรม จึงบอกเสมอว่าอย่าติดต่อแค่กรมใดกรมหนึ่ง เพราะต้องทำงานด้วยกันแล้ว ซึ่งปัญหาไม่สามารถแก้ได้ภายในกรมเดียว อย่างวันนี้เราเจอหลาย ๆ เรื่อง ต้องทำงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมในความร่วมมือของทุกกรมมากกว่า
ที่ผ่านมาตัวเลขก็ค่อนข้างน่าตกใจ GDP รวมของภาคอุตสาหกรรมต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ายอดเติบโตทางเศรษฐกิจของเราค่อนข้างที่จะมีปัญหา เพียงแต่ว่า ณ วันนี้ ด้วยความที่ท่านนายกฯ ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยที่ผ่านมามีการประสานงานที่จะเข้ามาลงทุนและจะมีการเซ็นสัญญาลงทุนค่อนข้างมาก
ประกอบกับแนวโน้มของครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้น ถือว่าน่าชื่นใจกว่าที่ผ่านมา เพียงแต่วันนี้สิ่งที่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งก็คือ ทางผู้ประกอบการเองโดยเฉพาะเอสเอ็มอีค่อนข้างที่จะ พบกับปัญหา ทั้งในเรื่องของกติกาใหม่ของโลกที่เข้ามาค่อนข้างเยอะ
อย่างที่สองก็คือ ต้องยอมรับว่าประเทศของเราผลิตตามความต้องการของตลาด แล้ววันนี้ความต้องการของตลาดได้เปลี่ยนไป เทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไป เอสเอ็มอี จะต้องปรับการผลิตให้ตรงกับตลาด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร
อย่างไรก็ตาม จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัว 3.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.26% แต่ก็ไม่ได้มากนัก ล่าสุดทาง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงตัวเลขในทุกเดือน
โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะพยายามส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ปรับตัวรับกับการดำเนินธุรกิจว่าปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในเทรนด์ของโลกอีกต่อไป ซึ่งต้องพยายามให้มองหาโอกาสใหม่ ๆ โดยทาง สศอ. จะช่วยชี้ช่องว่ายังมีเทรนด์อุตสาหกรรมแบบไหนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้ทำงานแค่ลำพังกรมใดกรมหนึ่งหนึ่ง
"สศอ. ได้ส่งสัญญาณไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) และ SME D Bank หรือแม้กระทั้งสสว.ที่มีทั้งเงินทุน มีทั้งพี่ ๆ ในกรมที่จะคอยสนับสนุนข้อมูลให้ และสำคัญที่สุดก็คือวันนี้ที่บอกไปว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำงานกรมใดกรมหนึ่งได้เราต้องเอาทุกกรมมาช่วยกันเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจเราคงไม่กังวลผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังมีเงินและความรู้ แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยมากกว่า ทั้งเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การที่ต้องมีองค์ความรู้และสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปอันนี้สำคัญที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทรนหลัก ๆ จะเป็นในเรื่องของฟิวเจอร์ฟู้ด ปัจจุบันเรื่องของการผลิต กำลังคนจากเดิมที่เป็นกำลังหลักในตลาดแรงงานได้เปลี่ยนเป็นเครื่องจักร การผลิตส่วนใหญ่ต้องใช้ออโตเมชั่น ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้มีผลผลิตมากขึ้น และให้มีความแม่นยำมากขึ้นมีต้นทุนที่ลดลง เพราะฉะนั้นกระบวนการปรับเปลี่ยนพวกนี้คือหน้าที่หลักของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนให้กับเอสเอ็มอี
"นายกฯ บอกว่าเราต้องพยามประคับประคองเอสเอ็มอีให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงฯ เรามีทั้งเงินทุนที่ภายใต้ของสำนักปลัด เดิมใช้ชื่อกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึงกองทุนใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงการติดปีกเอสเอ็มอี ส่วน SME D Bank จะมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะมาสนับสนุน โดยทุกฝ้ายมีความตั้งใจที่จะรักษาฐานของตัวเองให้อยู่รอดต่อไปได้" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว