12 กลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรธุรกิจ (2)
ต่อเนื่องตอน 2 ของกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรธุรกิจ ที่ยังติดไว้อีก 8 กลยุทธ์ จากที่ได้นำเสนอไปแล้ว 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน กลยุทธ์การใช้พลังงานทดแทน กลยุทธ์การประหยัดพลังงาน และกลยุทธ์การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
ที่เหลืออีก 8 กลยุทธ์ประกอบด้วย
กลยุทธ์สนับสนุนการทำงานผ่านระบบออนไลน์ การทำงานผ่านระบบออนไลน์ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น ลดการเดินทางของพนักงาน ลดการก่อสร้างพื้นที่สำนักงานและการใช้พลังงานในสำนักงาน
กรณีศึกษาที่น่าสนใจได้แก่ บริษัท Twitter Inc. (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X) ซึ่งประกาศในปี 2563 ให้พนักงานสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ และยังมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นด้วย
กลยุทธ์ลดการสูญเสียและการรีไซเคิล ได้แก่ การสนับสนุนการแปรใช้ใหม่ (Recycle) อย่างทั่วถึงทั้งองค์กร เช่นบริษัท Unilever สหราชอาณาจักร ใช้กระบวนการรีไซเคิลอย่างทั่วถึงเพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรืออาจจะใช้แนวทางการลดการสูญเสีย (Waste) ในกระบวนการทำงาน
เช่น บริษัท Toyota ของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) ให้กับกระบวนการทำงานได้
กลยุทธ์การชดเชยคาร์บอน บริษัทสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโลก ในปริมาณที่เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทปล่อยออกมา เช่น การปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต การปลูกป่านอกจากจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนในพื้นที่และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติลงได้
บริษัท Patagonia Inc. ของสหรัฐอเมริกา ลงทุนปลูกป่าชดเชยและใช้พลังงานทดแทน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและการใช้พลังงานที่ไม่ยั่งยืน
กลยุทธ์การสนับสนุนพนักงานและลูกค้าในเรื่องความยั่งยืน นอกเหนือจากผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่อยู่ในช่วงต้นของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งบริษัทสามารถกระตุ้นให้นำการดำเนินการที่ยั่งยืนมาใช้
ดังที่กล่าวไปแล้วในกลยุทธ์การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในบทความตอนที่แล้ว ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีความสำคัญมากอีก 2 ส่วน ได้แก่พนักงานและลูกค้าของบริษัท ที่สามารถดึงให้มาร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บริษัท Starbucks สร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้กับทั้งพนักงานและลูกค้าโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพฤติกรรมผู้บริโภคและวัฒนธรรมองค์กรที่ตระหนักถึงการรักษาสภาพแวดล้อม
กลยุทธ์การใช้ยานพาหนะที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หากองค์กรสนับสนุนให้ใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฮโดรเจน ทั้งในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยานพาหนะขนาดใหญ่ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก
บริษัท Volvo Group ประเทศสวีเดน ได้มุ่งเน้นผลิตรถบรรทุกและรถบัส ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า หรือเป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าควบคู่กับน้ำมัน (Hybrid) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะขนาดใหญ่ในภาคธุรกิจ
กลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เทคโนโลยีหลายอย่างสามารถนำมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ช่วยควบคุมและลดการใช้พลังงานภายในอาคาร หรือการคิดค้นวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ.
ตัวอย่างเช่น บริษัท Siemen Building Technology ประเทศเยอรมนี พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นแพลตฟอร์มในการบริหารอาคารแบบองค์รวมที่ช่วยควบคุมความร้อน การระบายอากาศ การปรับอากาศ ความสว่าง และระบบการควบคุมแสงสว่างจากภายนอก โดยระบบจะคาดการณ์และทำงานแบบอัตโนมัติ
และบริษัท LafargeHolcim ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลิตปูนซีเมนต์จากวัสดุรีไซเคิล
กลยุทธ์สนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ประเทศไทยได้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน การทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
กลยุทธ์การสร้างตราสินค้าแห่งความยั่งยืน กลยุทธ์สุดท้ายที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงคือ การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้ารับรู้ในฐานะตราสินค้าที่เน้นความยั่งยืน ซึ่งจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและสร้างความภักดีต่อตราสินค้าได้
บริษัท Yum! Brands ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell ได้ประกาศที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึงร้อยละ 46 ภายในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ในปี ค.ศ.2050
ทั้ง 12 กลยุทธ์เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ทุกคนทุกฝ่ายต้องเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ
เราจะไม่มีวันที่จะปกป้องสภาพแวดล้อมได้ หากไม่ช่วยกันลงมือผลักดันและให้ข้อมูล เพื่อทำให้ผู้คนเข้าใจว่า ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ นั้นเป็นสมบัติของทุกคน และทุกคนจำเป็นต้องป้องกันรักษาไว้
โลกจะดีขึ้นได้ก็จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนเท่านั้น