12 กลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรธุรกิจ(1)
การควบคุมก๊าซเรือนกระจกเป็นประเด็นสำคัญของบริษัทต่างๆ สาเหตุหลักคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั่วโลก และไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและความเสี่ยงจากพายุหมุนเขตร้อน
จากการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งต้องพึ่งพาความสมดุลทางนิเวศอย่างมาก การควบคุมก๊าซเรือนกระจกจึงไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะข้อตกลงในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties : COP) สมัยที่ 21 (COP21) ที่มีการเซ็นสัญญา Paris Agreement และสมัยที่ 26 (COP26)
ซึ่งมีการส่งแผนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ แต่ยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมที่สำคัญและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคไทยและตลาดระหว่างประเทศ อาทิ กลไกปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Boarder Adjustment Mechanism : CBAM) ก็ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อรักษาแบรนด์และสถานะในตลาดที่มีการแข่งขันสูง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ยั่งยืนของบริษัทในระยะยาวและรักษาความเป็นผู้นำในตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
บทความนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและสรุปกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการได้นำมาใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งยกกรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำของโลก เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดความรู้และความเข้าใจในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ลดก๊าซเรือนกระจกในองค์กรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถสรุปเป็นกลยุทธ์ได้ 12 รูปแบบ
1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุที่ย่อยสลายได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หรือสร้างทางเลือกสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซสูง
ตัวอย่างกรณีศึกษาขององค์กรชั้นนำที่ใช้กลยุทธ์ในหมวดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนได้แก่
(1) การคิดค้นพลาสติกจากกรดโพลีแลคติก (Polylactic Acid : PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้โดยบริษัท NatureWorks สหรัฐ
(2) ยานพาหนะและเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนของ Tesla Inc. สหรัฐ
(3) การนำวัสดุรีไซเคิล (Recycle Material) มาใช้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาโดยบริษัท Patagonia Inc. สหรัฐ
2.การใช้พลังงานทดแทน ผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือไฮโดรอิเล็กทริก เพื่อทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังเช่นกรณีศึกษาของบริษัท SolarCity สหรัฐ บริษัท Vestas Wind System ประเทศเดนมาร์ก และบริษัท Hydro-Québec ประเทศแคนาดา เป็นต้น
3.การประหยัดพลังงาน แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกโดยประหยัดพลังงาน ได้แก่ การใช้แสง LED ระบบปรับอากาศ และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เป็นต้น ดังเช่นกรณีศึกษาของ
(1) บริษัท Philips Lighting ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้หลอด LED มาใช้แทนหลอดไฟ Fluorescent แบบเดิมเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า
(2) บริษัท Johnson Control Inc. สหรัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านในการพัฒนาระบบควบคุมอัตโนมัติที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิและการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับบริษัท Schneider Electric ประเทศฝรั่งเศส และ (3) บริษัท Google Inc. สหรัฐ ซึ่งนำระบบควบคุมแสงไฟและระบบปรับอากาศภายในอาคารอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่ได้ตั้งค่าไว้ล่วงหน้า
4.การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) หมายถึงการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีตลอดวัฏจักรของสินค้าและบริการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง
ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า ในการดำเนินการดังกล่าว ผู้ประกอบการสามารถเลือกซัพพลายเออร์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หันไปใช้การจัดหาในท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง และลดการใช้บรรจุภัณฑ์หรือใช้วัสดุรีไซเคิล
ตัวอย่างได้แก่
(1) บริษัท Patagonia Inc. สหรัฐ มีนโยบายจะเลือกผู้ผลิตที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและใช้วัตถุดิบที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเสมอเมื่อเป็นไปได้
(2) บริษัท IKEA ประเทศสวีเดน มีนโยบายเลือกใช้ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่ง
(3) บริษัท Loop Industries Inc. สหรัฐมีนโยบายไม่ใช้หรือลดจำนวนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าลง และยังพยายามนำวัสดุที่สามารถ Recycle ได้มาใช้ เช่นเดียวกับ
(4) บริษัท Interface Inc. สหรัฐ ที่นำวัสดุที่ผ่านการ Recycle มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมและเสื้อผ้า
ทั้งสี่กลยุทธ์ข้างต้นเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอกลยุทธ์อีก 8 รูปแบบที่เหลือต่อไป สุดท้ายขอเน้นย้ำว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกองค์กรในโลกใบนี้ พบกันใหม่ในตอนที่ 2 ครับ