'เอสเอ็มอี' ปรับตัวอย่างไร ในวันที่โลก ใกล้ร้อนเท่า 'นรก'

'เอสเอ็มอี' ปรับตัวอย่างไร  ในวันที่โลก ใกล้ร้อนเท่า 'นรก'

แม้ทุกวันนี้บริษัทใหญ่ๆ เดินหน้าเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น แต่ความท้าทายกลับเป็น “เอสเอ็มอี” ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการกว่า 90% องค์กรต้องรู้ว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นปริมาณเท่าไร เพื่อให้สามารถกำหนดแผนการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

KEY

POINTS

  • โลกร้อนรุนแรงกว่าที่คิด นักวิทยาศาสตร์กว่า 380 คน ซึ่งทำรายงาน IPCC กว่า 77% มองว่า โลกใน ปี 2100 จะร้อนขึ้น 2.5 องศา 
  • แม้ทุกวันนี้จะเห็นบริษัทใหญ่ๆ เดินหน้าเรื่องนี้กันมาก แต่ความท้าทายกลับเป็น “เอสเอ็มอี” ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการกว่า 90%
  • จุดเริ่มต้นของความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คือ องค์กรต้องรู้ว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นปริมาณเท่าไร เพื่อให้สามารถกำหนดแผนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า 14 อุตสาหกรรม เผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ ระบบ ETS และระบบภาษีคาร์บอน การดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และ ผู้ประกอบการควรมีการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพรินต์สม่ำเสมอ

 

แม้ทุกวันนี้จะเห็นบริษัทใหญ่ๆ เดินหน้าเรื่องนี้กันมาก แต่ความท้าทายกลับเป็น “เอสเอ็มอี” ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการกว่า 90% ดังนั้น จุดเริ่มต้นของความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คือ องค์กรต้องรู้ว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นปริมาณเท่าไร เพื่อให้สามารถกำหนดแผนการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โลกจะร้อนยิ่งกว่านรก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และอาจารย์ภาควิชา วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงาน READY, SET, NET, ZERO with Carbon Markets Club ว่า โลกร้อนมาถึงแล้วและรุนแรงกว่าที่คิด จากการสอบถามนักวิทยาศาสตร์ 380 คน ซึ่งทำรายงาน IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) มองว่า โลกใน ปี 2100 จะร้อนขึ้น 1.5 องศาเป็นไปไม่ได้ เพราะปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก คือ ราวๆ 1.6 องศา 77% มองว่าอย่างน้อยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.5 องศา สิ่งที่กำลังพูดไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

“การสำรวจอุณหภูมิน้ำทะเลในประเทศไทย ของ คณะประมง ม.เกษตรฯ พบว่า ในเขตน้ำตื้นอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 40 องศา ด้วยเหตุนี้ทำให้หญ้าทะเลหลายพื้นที่ตาย เรากำลังเปลี่ยนอ่าวไทยเป็นออนเซ็น ส่งผลกระทบต่อพะยูน สัตว์น้ำต่างๆ และชาวประมงพื้นบ้าน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จากภาพถ่ายทางอากาศ จะพบปะการังฟอกขาวมากกว่า 90% เพราะโลกร้อนจัด รุนแรงที่สุดที่เคยบันทึกในประเทศไทย และคาดว่าจะมีปะการังตายกว่า 20% กระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว”

 

ผลกระทบต่างๆ กลายเป็นห่วงโซ่ และการปรับตัวเป็นเรื่องที่ใหม่ ยาก และท้าทาย เพราะโลกแปรปรวน ความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมมาทุกทิศทุกทาง ทำให้วิธีการ เทคนิค งบประมาณ โครงการเดิมๆ อาจจะไม่เห็นผล สิ่งที่ต้องการคือการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของนโยบาย ภาคปฏิบัติ มีงานวิจัย ค้นคว้า ข้อมูลใหม่ เพื่อไปในเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เพราะ ณ วันนี้ โลกใกล้ร้อนเท่านรก

 

การขับเคลื่อนของไทย

“กลอยตา ณ ถลาง” รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club เผยว่า 90% ของไทยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปัจจุบัน เราพูดเรื่องโลกเดือด เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า โลกร้อนหมดไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด

 

“โลกมีความท้าทายทั้งการดิสริปเทคโนโลยี สงครามการค้า สงครามที่เกิดจากความแตกต่างด้านการเมือง โลกแบ่งหลายขั้ว และไทยเป็นประเทศเล็กที่ได้รับกระทบ นักวิชาการมองว่า 10 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงชองโลก 4 อันดับแรก เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะ Climate Change ปะการังฟอกขาว สัตว์ที่หายไป ความหลากลายทางชีวภาพที่ลดลง รวมถึงไม่มีทรัพยากรกุ้งหอยปูปลา ผลผลิตที่เคยหาง่ายกลับราคาแพง เช่น มะพร้าว”

 

วันนี้ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนระจก ราว 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบัน เรามี ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นและนำเสนอต่อ ครม. ภายในกลางปี 2567 อีกทั้ง มาตรการทางภาษี อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ มาตรการลงทุนอยู่ระหว่างการอออกแบบเพิ่มสิทธิประโยชน์ และมาตรการทางการเงิน เป็นต้น

 

เอสเอ็มอี ต้องปรับตัว

สำหรับ เอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองเชื่อมเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีอัตราการจ้างงานในประเทศสูง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าสินค้า แม้ส่วนใหญ่ 70% เป็นตลาดในประเทศ

 

“ปวีณา พึ่งแพง” ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายสู่ Net Zero ต้องมีความตั้งใจแบบเป็นรูปธรรม ข้อมูลพื้นฐาน มีขั้นตอน เพราะ Net Zero เป็นเรื่องท้าทาย โดย 8 ขั้นตอนสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้แก่ ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกองค์กร , กำหนดความมุ่งหมาย , ประเมินความเสี่ยงและโอกาส , ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว , วางแผนกลยุทธ์ขององค์กร , กำหนดแผนงาน , ดำเนินการตามแผนและติดตาม และเปิดเผยข้อมูล โดยการตั้งเป้าหมาย

 

เครื่องมือ เอสเอ็มอี

ด้าน ดร.วิชชุวรรณ พึ่งเจริญ ผู้จัดการอาวุโส Energy Innovation Department บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เผยว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ คาร์บอนฟุตพรินต์นิติบุคคล (CFI) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคล , คาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร (CFO) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างขององค์กร ได้แก่ Scope 1 ทางตรง Scope 2 ทางอ้อมจากการนำเข้าพลังงาน Scope 3 ทางอ้อมอื่นๆ

 

คาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน การจัดการของเสีย และ คาร์บอนฟุตพรินต์อีเวนต์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการจัดกิกรรมต่างๆ เช่น การประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า งานแต่งงาน ฯลฯ

 

“จากเดิมการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นเรื่องที่ทำยาก ต้องจ้างประเมินผล แต่ในปัจจุบัน มีเครื่องมือใช้ในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ส่วนไม่ว่าจะ สำหรับบุคคลทั่วไป ได้แก่ แพลตฟอร์ม MyCF และสำหรับองค์กร ได้แก่ แพลตฟอร์ม Measuring และ Trading Platform องค์กรสามารถเข้ามาเป็นสมาชิก ใช้งานง่าย ใช้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย” ดร.วิชชุวรรณ กล่าว

 

เอสเอ็มอี กับ ความยั่งยืน

ข้อมูลการสำรวจลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี จาก “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” จำนวน 700 ราย พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ถึง 30% ที่มีความเข้าใจและตระหนักรู้ว่าการขับเคลื่อนความยั่งยืนของธุรกิจตามกรอบ ESG มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจของตัวเองในอนาคต และน้อยกว่า 14% ที่มองว่าธุรกิจของตัวเองมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

สำหรับ กรุงศรี ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจระดับประเทศ และการเป็น SME Banking ที่มุ่งสนับสนุนและดูแลกลุ่ม SME เพื่อเปลี่ยนผ่านและเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต มุ่งส่งเสริมเพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการเงินเพื่อความยั่งยืน , สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน Environment Sustainability สำหรับเอสเอ็มอี , โครงการ Krungsri ESG Awards และ พันธมิตร Ecosystem และ ESG Community ริเริ่มพัฒนา Krungsri ESG Academy เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ Krungsri MUFG ESG Ecosystem ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนให้ภาคธุรกิจ