พืช - สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 1,000 ชนิด จากโลกร้อน - รุกพื้นที่ป่า

พืช - สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 1,000 ชนิด จากโลกร้อน - รุกพื้นที่ป่า

IUCN เปิดเผยรายชื่อสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์ประจำปี 2024 มีมากกว่า 45,000 สายพันธุ์ สาเหตุหลักมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การค้าที่ผิดกฎหมาย และการขยายโครงสร้างพื้นฐานบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เปิดเผยรายชื่อ สิ่งมีชีวิตที่ถูกขึ้นบัญชีแดงในฐานะสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์มีมากกว่า 45,000 สายพันธุ์ มากกว่าปีที่แล้วถึง 1,000 ชนิด

ปัญหาหลักที่ทำให้สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มีจำนวนมากขึ้นมีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การค้าที่ผิดกฎหมาย และการขยายโครงสร้างพื้นฐานบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์

 

รายชื่อสิ่งมีชีวิตใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีการค้นพบสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมด 163,040 ชนิด เพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ชนิดจากปีที่แล้ว โดยกลุ่มสายพันธุ์ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในกลุ่มสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์ในปีนี้ เช่น ช้างบอร์เนียว กิ้งก่ายักษ์เกาะกรัน กานาเรีย และกระบองเพชรโคเปียโปอา

กระบองเพชรโคเปียโปอา เป็นกระบองเพชรที่มีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายอาตากามาของชิลี ซึ่งเป็นที่ต้องการในฐานะพืชไม้ประดับ ทำให้เกิดการลักลอบขายที่ผิดกฎหมายทั้งในตลาดมืด และโซเชียลมีเดีย

IUCN กล่าวว่า จำนวนกระบองเพชรในชิลีลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลายเป็นที่ต้องการในยุโรป และเอเชียเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานในอาตากามาทั้งถนน และพื้นที่อาศัยพัฒนาขึ้น ทำให้ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ และพืชสามารถเข้าถึงกระบองเพชรได้มากขึ้น 

“เราสามารถแยกแยะได้เลยว่ากระบองเพชรต้นไหนปลูกในเรือนกระจก หรือถูกนำมาจากธรรมชาติ” ปาโบล เกร์เรโร ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช สมาชิกของกลุ่ม IUCN กล่าว

กระบองเพชรจากธรรมชาติจะมีลำต้นสีเทา และมีตุ่มสีคล้ายฝุ่นช่วยปกป้องพืชให้สามารถอยู่ในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้ ส่วนกระบองเพชรที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงจะมีสีเขียวมากกว่า

พืช - สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 1,000 ชนิด จากโลกร้อน - รุกพื้นที่ป่า

กระบองเพชรโคเปียโปอา 

ในรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ถูกเพิ่มเข้าบัญชีแดงของ IUCN พบว่า ช้างเอเชียในเกาะบอร์เนียวเป็นสัตว์อีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ โดย IUCN คาดว่ามีช้างบอร์เนียวอาศัยอยู่ในป่าประมาณ 1,000 ตัวเท่านั้น

ช่วง 75 ปีที่ผ่านมา จำนวนช้างบอร์เนียวลดลงมาก เพราะช้างสูญเสียถิ่นที่อยู่จากการตัดไม้ในป่าบนเกาะบอร์เนียว เพื่อทำการเกษตร ทำเหมืองแร่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ช้างต้องรุกเข้ามาในพื้นที่ชุมชน ทำลายพืชผลทางการเกษตร ถูกมนุษย์ล่า สัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตร และถูกรถชน

นอกจากนี้ รายชื่อดังกล่าวยังเผยให้เห็นถึงการลดลงอย่างน่าตกใจของสัตว์เลื้อยคลานประจำถิ่น เช่น กิ้งก่ายักษ์ และจิ้งเหลน บนหมู่เกาะคานารีและอิบิซา เนื่องจากมีงูจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เข้ามารุกรานที่อยู่อาศัย

พืช - สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 1,000 ชนิด จากโลกร้อน - รุกพื้นที่ป่า ช้างบอร์เนียว

ฟื้นฟูสายพันธุ์ “แมวป่า”

แม้จะมีรายชื่อสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีที่มีสายพันธุ์หนึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ “แมวป่าไอบีเรีย” 

แมวป่าไอบีเรีย เคยอยู่ในลิสต์รายชื่อแมวป่าสายพันธุ์หนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ตามรายงานของสมาคมระหว่างประเทศเพื่อแมวใกล้สูญพันธุ์ในแคนาดา พบว่า ช่วงระหว่างปี 1985-2001 จำนวนประชากรของแมวป่าลดลงถึง 87% เหลือเพียง 62 ตัวเท่านั้น และจำนวนตัวเมียในช่วงวัยเจริญพันธุ์ลดลงมากกว่า 90%

แต่ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์ทำให้จำนวนของแมวป่าไอบีเรียค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 62 ตัวในปี 2001 กลายเป็น 648 ตัวในปี 2022 และปัจจุบันมีมากกว่า 2,000 ตัวแล้ว ทำให้แมวป่าไอบีเซียถูกระดับจากสัตว์ใกล้การสูญพันธุ์ (EN) มาเป็นเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU) แทน

พืช - สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 1,000 ชนิด จากโลกร้อน - รุกพื้นที่ป่า

แมวป่าไอบีเรีย

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้สามารถฟื้นฟูสายพันธุ์นี้ได้สำเร็จคือ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเมดิเตอร์เรเนียน แหล่งอาศัยตามธรรมชาติของแมวป่าไอบีเรีย เมื่อมีป่าสิ่งมีชีวิตก็มีที่อยู่ เหยื่อตามธรรมชาติของพวกมันอย่าง กระต่ายยุโรปก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมวป่า โดยการย้ายพวกมันไปยังพื้นที่ใหม่ และผสมพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีการนำแมวป่ามากกว่า 400 ตัวย้ายไปอยู่อาศัยในโปรตุเกส และสเปน

ฟรานซิสโก ฮาเวียร์ ซัลเซโด ออร์ติซ ผู้นำการอนุรักษ์แมวป่าไอบีเรีย กล่าวว่า “นี่คือการฟื้นฟูสายพันธุ์แมวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยการอนุรักษ์”

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อฟื้นฟูสายพันธุ์นี้ เพราะความผันผวนของจำนวนเหยื่อ การรุกล้ำ และอุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นปัจจัยหลักที่คร่าชีวิตแมวป่าอยู่

“ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อให้แน่ใจว่าประชากรแมวป่าไอบีเรียจะอยู่รอดได้ในธรรมชาติ”  ซัลเซโด ออร์ติซ กล่าว

 


ที่มา: Euro NewsIUCNVOA

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์