ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

Conflict of interest ในเรื่องฝุ่นควันมีความซับซ้อน เพราะมันเป็นปัญหาสิทธิหนึ่งซ้อนกับอีกสิทธิหนึ่ง ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มีสิทธิในอากาศหายใจ แต่ประชาชนอีกกลุ่มก็มีสิทธิที่จะปรับพื้นที่ทำกิน

สังคมไทยได้ผ่านขั้นตอนเรียนรู้และตระหนักภัยของมลพิษฝุ่นควัน pm2.5 มาแล้ว ฤดูฝุ่นล่าสุดสื่อมวลชนกระแสหลักแทบทุกสำนักรายงานปัญหานี้โดยพร้อมเพรียง รัฐบาลสื่อสารว่าจะเข้มแข็งเอาจริงด้วย เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้จักภัยอันตรายมลพิษชนิดนี้ สามารถดูค่าฝุ่นจากแอปพลิเคชัน รู้ว่าต้องสวมหน้ากากชนิดพิเศษหรือต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อบรรเทาให้กับตนเองและครอบครัว 

กว่าจะผ่านขั้นตอนความรู้และการตระหนักภัยใช้เวลานานทีเดียว ย้อนหลังกลับไปยุคแรกๆ มีสถาบันการศึกษาติดตั้งเซ็นเซอร์วัดฝุ่นแบบ Low Cost บางหน่วยราชการยังไม่ให้ติดตั้งเลยด้วยซ้ำ โจทย์ในยุคแรกคือความรู้ความเข้าใจ pm2.5 คืออะไร มันอันตรายนะ มันเข้าไปเส้นเลือดเด็ก กลุ่มเสี่ยง หญิงมีครรภ์อันตรายนะ มันเกิดจากแหล่งอะไรบ้าง มันกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจด้วย และมันเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขอย่างจริงจัง ... โจทย์ที่ว่ามันได้ผ่านไปแล้ว 

จากนี้ไปสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญโจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ นั่นก็คือ จะแก้วิกฤติปัญหานี้ได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน? 

ตัวอย่างรูปธรรม ได้ทราบมาว่า หอการค้าไทยซึ่งเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนได้มีหนังสือถึง "กรรมาธิการแปรญัตติกฎหมายอากาศสะอาด" แสดงความกังวลและไม่เห็นด้วย หากมีการตั้งกองทุนและเก็บเงินจากกิจกรรมการผลิตต่างๆ เช่น ท่อไอเสีย ท่อปากปล่องอุตสาหกรรม เพราะจะเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับภาคเอกชนที่กำลังยากลำบากอยู่

ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

นี่เป็นแค่ตัวอย่างรูปธรรมเดียวที่ปรากฏเป็นเอกสาร ทั้งที่ในความเป็นจริง ระหว่างที่กำลังมีความพยายามดำเนินการแก้ปัญหา ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายในระหว่างนั้น เช่น เมื่อปีก่อนโน้นชาวนาภาคกลางคนหนึ่งโมโหโกรธาที่มีการไปห้ามเผาตอซังแปลงนาของเขาเพราะเกิดควันไฟกระทบผู้อื่น โดยเฉพาะบ้านจัดสรรละแวกใกล้เคียง แต่เขาบอกกับสื่อจะเผาต่อไป ยินดีจ่ายค่าปรับ เพราะว่ามันเป็นการทำมาหากิน ปีหนึ่งมีแค่หนเดียว 

ความขัดแย้งที่ว่า เป็นความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน conflict of interest ซึ่งรัฐจำเป็นจะต้องเข้าไปจัดการ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม 

มลพิษฝุ่นควันเป็นผลพวงจากสังคม มีด้านบวกที่เป็นคุณประโยชน์ ก็ปลดปล่อยด้านลบที่เป็นมลพิษออกมา

รัฐต้องมีกลไกที่เหมาะสมไปจัดการกับการผลิต หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษ นั่นล่ะคือโจทย์ท้าทาย ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เดือดร้อนและได้รับผลกระทบ อีกฝ่ายก็เป็นผู้ผลิตมีปัญหาปากท้องเช่นกัน !! 

เช่น จะทำอย่างไรกับรถยนต์ดีเซลอายุเกินกว่า 10 ปี ที่มีมากมายท่วมท้องถนน  

เช่น ทำอย่างไรกับการเผาอ้อยที่ยังเหลืออยู่ราว 30% แม้ว่าเคยมีมาตรการอุดหนุนเงินให้ร่วมหมื่นล้านแล้วก็ตาม แต่ก็ยังแก้ไม่ได้

เช่น ทำอย่างไรกับการปลูกข้าวโพด ซึ่งยังต้องใช้การเผาเพื่อลดต้นทุนการผลิตในที่สูง หากสั่งห้ามจะกระทบเกษตรกรและยังกระทบกับการผลิตอาหารสัตว์ส่งออกเป็นลูกโซ่ 

เช่น มีการเผาในป่าของรัฐเพื่อหาประโยชน์จากของป่า ผักหวาน  เห็ด การเผาในป่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน จนเป็นที่รับรู้กันในวงเจ้าหน้าที่รัฐว่า ไม่มีทางที่จะไปไล่ดับได้ทัน เพราะต่อให้วันนี้ดับได้ คืนนี้คืนพรุ่งนี้ก็เผาอีก ให้มีไฟไหม้พื้นที่ตรงนั้นจนได้ในที่สุด 

ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

Conflict of interest ในเรื่องฝุ่นควันมีความซับซ้อน เพราะมันเป็นปัญหาสิทธิหนึ่งซ้อนกับอีกสิทธิหนึ่ง รัฐเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรป่าก็จริง หรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ มีสิทธิในอากาศหายใจก็จริง แต่อีกสิทธิหนึ่งคือสิทธิทำกิน หากไม่ให้เขาเผาแปลงเกษตรบนดอยเขาไม่มีข้าวกินตลอดทั้งปี 

นั่นจึงทำให้เกิดมีระบบการบริหารเชื้อเพลิง fired/Burn Check ขึ้นมา เพื่อจัดการไฟที่จำเป็นให้ทยอยเผา ให้สอดคล้องกับการระบายอากาศ ไม่เกิดผลกระทบมาก 

การบริหารแปลงเกษตรไม่ยาก ที่ยากคือการบริหารไฟในป่าที่ให้เหตุผลว่าต้องมีไฟชิงเผา เพื่อจัดการเชื้อเพลิงไม่ให้อันตรายเป็นไฟใหญ่  แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจน ไม่มีระเบียบคู่มือ นิยามของไฟจำเป็นที่ต้องมีในป่ายังไม่ชัด ทำให้วิธีปฏิบัติจึงหลากหลายและสับสน บ้างก็เผาแบบไม่มีการทำแนวกันไฟ ไม่ควบคุม ปล่อยลาม แต่ยังระบุว่าเป็นไฟชิงเผาของรัฐก็มี 

วิธีปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน  ส่งผลให้ขยายความขัดแย้ง conflict of interest ออกไปอีก !

ความเป็นจริงของสังคมไทย มันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่รัฐจะการออกแบบมาตรการ นโยบายและวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ หวังประสิทธิผลทันตา เพราะมันไม่ใช่การไล่ล่าโจรผู้ร้าย หรือกำจัดน้ำเสียน้ำทิ้งแค่สั่งปิดท่อหยุดโรงงานเป็นจบ หากแต่เป็นการบริหารจัดการเพื่อยกระดับการผลิตและกิจกรรมของมนุษย์ไปสู่มาตรฐานใหม่ 

การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด จึงแตกต่างกับการจัดการมลพิษตามแนวคิดของ พรบ.สิ่งแวดล้อม ที่ให้อำนาจปิดปากปล่อง หยุดการปล่อยของเหลวก๊าซให้สำเร็จเป็นพอ 

การบริหารเพื่อจัดการอากาศสะอาด จะไปสั่งห้ามชาวนาทำนาไม่ได้ แต่ต้องหาวิธีเขียนระเบียบกฎหมายเพื่อสามารถอำนวยการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่นกรมการข้าว ยกระดับการผลิต เปลี่ยนเทคนิควิธีการผลิตข้าวของชาวนา  เช่นเดียวกับ การอำนวยการร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเป้าหมายและวิธีการของโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายอากาศสะอาด

ความยากที่สุดเห็นจะเป็น การออกแบบป้องกันและบริหารจัดการไฟในป่า (ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์) ที่เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ที่สุดของประเทศในเชิงขนาดพื้นที่และขนาดเชื้อเพลิง  เพราะป่าในประเทศไทยมีชุมชนอยู่ในป่าและยังมีรอบๆ ติดป่า ทางปฏิบัติคนเข้าออกป่าได้แทบทุกทาง ไม่ใช่พื้นที่เกษตรทำกินเท่านั้น ยังใช้ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจชุมชนด้วย ในมิตินี้ พรบ.อุทยานแห่งชาติกับ พรบ.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ก็รับรองสิทธิในการหาของป่าของชุมชนพื้นถิ่นเอาไว้  

ไฟในป่ามีมากมายหลายสาเหตุ มีทั้งเจ้าหน้าที่จุดชิงเผาเอง ไฟขัดแย้ง ไฟลาม รวมถึง ไฟที่จุดเพื่อประโยชน์หาของป่า เห็ด ผักหวาน ในพื้นที่เศรษฐกิจป่าด้วย 

ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

การแก้ปัญหาไฟในป่าเป็นโจทย์ทางเศรษฐกิจสังคมที่ซับซ้อน

โจทย์ปัญหาของรัฐเฉพาะเรื่องไฟในป่าเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากและยากมาก นั่นเพราะพื้นฐานโครงสร้างการบริหารราชการของรัฐไทย ที่แบ่งอำนาจจัดการให้กับอธิบดี 2 อธิบดีกับกำลังพลเจ้าหน้าที่ขนาดหยิบมือ แต่ต้องดูแลรับผิดชอบป่าของรัฐรวมกันประมาณ 100 ล้านไร่ 

แค่ภาคเหนือจะแก้ปัญหาไฟในป่าได้ต้องล้อมคอกรักษาป่าให้ได้เป็นพื้นที่มากกว่า 30 ล้านไร่ (ขอให้ได้แค่นี้ก่อน) มันจึงไม่ใช่แค่ตั้งกำแพงห้ามคนเข้าไปจุด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหากำลังพลจากที่ไหนเป็นหมื่นๆ ชีวิตไปตั้งกำแพงป้อมค่ายในป่าพร้อมกันช่วง 3 เดือน 

โจทย์ของการแก้ปัญหาไฟในป่าเป็นโจทย์ทางเศรษฐกิจสังคมซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง จึงควรต้องมีการเสริมกำลังฝ่ายต่างๆ เข้าไปช่วยจัดการ ทั้งด้านประสานหนุนเสริมทำความเข้าใจ ด้านปกป้องล้อมคอก และ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 

 แต่ระบบราชการแบบไทยยังมีแท่งและกำแพงระเบียบที่กีดกันหน่วยราชการอื่นเข้าไปร่วมบูรณาการ หรือต่อให้มีระเบียบแต่ ก็ไม่มีใครอยากทำอะไรที่ขั้นตอนยุ่งยากเสี่ยงต่อการถูกเรียกงบประมาณคืน หากหน่วยงานหนึ่งข้ามพื้นที่ไปปฏิบัติการในอีกพื้นที่รับผิดชอบของอีกหน่วยงานหนึ่ง

การบูรณาการเป็นยาขมของระบบราชการไทยมานาน กรมอุทยานฯภายใต้นโยบายของอธิบดีอรรถพล เจริญชันษา เพิ่งปรับมาตรการภายในให้เกิดมีการบูรณาการระหว่างหน่วยต่างๆ ในสังกัดให้ขึ้นกับ หัวหน้าซิงเกิ้ลคอมมานด์คนเดียว

ความขัดแย้งในมลพิษฝุ่นควัน

การบูรณาการภายในของกรมอุทยานฯ และภายนอกกับหน่วยงานอื่น เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น ดูจะเป็นงานยาก!

นั่นก็แปลว่า ก่อนหน้านี้บางป่าที่ต่างหน่วยต่างอยู่ ไม่มีการเสริมช่วยเหลือกัน กรณีที่เกิดไฟไหม้ในช่วงวิกฤติอาจจะมีแค่กำลังพลของสถานีไฟป่าแค่ 30-40 คนที่ต้องดูแลพื้นที่เป็นแสนๆ ไร่ การบูรณาการภายในของกรมอุทยานฯ เพิ่งเริ่มดำเนินการมาได้ในปีแรก เป็นแค่การบูรณาการภายในกรม ที่สุดแล้วการจะแก้ปัญหาไฟในป่าของรัฐได้ ยังต้องบูรณาการหน่วยงานภายนอกด้วย นั่นล่ะโจทย์ยากมาก เพราะวัฒนธรรมของระบบราชการไทยเป็นอุปสรรคด้วยตัวของมันเอง 

การออกแบบมาตรการ วิธีการ และทิศทางนโยบายที่เหมาะสม ก็เป็นอีกความขัดแย้ง 

ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ที่ซับซ้อน ตามมาด้วย ความขัดแย้งเชิงความคิด จะแก้อย่างไรด้วยวิธีไหน สำนักหนึ่งบอกว่า ให้จับกุมเข้มงวด ห้ามเด็ดขาด อีกสำนักบอกต้องปล่อยให้เกิดมีบ้าง ภายใต้ควบคุม อ้าว ! ควบคุมอย่างไรล่ะ ที่เห็นมันคุมไม่ได้นะ ฯลฯ 

ร่าง กฎหมายอากาศสะอาดใหม่ที่กำลังแปรญัตติอยู่ กำลังถูกท้าทายว่าจะคลี่คลายความขัดแย้งที่ซับซ้อน ทั้งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ กับ ความขัดแย้งเชิงความคิด จะออกแบบกฎเกณฑ์ระเบียบวิธีและทิศทางแก้ปัญหาแบบไหน-อย่างไร ?  

เอาแค่เริ่มมีข่าวว่าจะให้มีกองทุนเก็บเงินจากผู้ก่อมลพิษ ก็มีเสียงคัดค้านออกมาแล้ว !  

 

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ