‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ป่าผืนใหญ่แหล่งมรดกโลกของไทย

‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ป่าผืนใหญ่แหล่งมรดกโลกของไทย

ทำความรู้จัก “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ป่าผืนใหญ่แหล่งมรดกโลกของไทย แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชหลายร้อยชนิด รวมถึงมี “ป่าลาน” ธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด แห่งสุดท้ายของประเทศไทย 

อุทยานแห่งชาติทับลาน” เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อ.ครบุรี อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยเนื้อที่ประมาณ 1,397,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร

สภาพป่าภายในอุทยานแห่งชาติทับลานนับได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก อีกทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชหลายร้อยชนิด

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” นับเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 และเป็นลำดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย

ภายในอุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชจัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก และมีลักษณะทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือซ้อนทับกันอยู่ ยิ่งมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม โดยสามารถจำแนกป่าภายในอุทยานได้เป็น 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง 

  • ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่และมักจะมีลำต้นเล็กและเตี้ย พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก หญ้าคา และสาบเสือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ 
  • ป่าเบญจพรรณ จะมีไม้ต่างชนิดขึ้นปะปน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แดง ตะแบกใหญ่ ประดู่ มะกอก ชิงชัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบไผ่ขึ้นรวมกับพืชพื้นล่างที่สำคัญ เช่น ไผ่กาย โด่ไม่รู้ล่ม เป็นต้น ที่จะผลิใบอ่อนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืช ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า และนกที่อาศัยพื้นที่นี้ได้แก่ ไก่ป่า เหยี่ยวชิครา นกแขกเต้า นกหัวขวาน สัตว์เลื้อยคลานที่พบ ได้แก่ ตะกวด และแย้ เป็นต้น
  • ป่าดิบชื้น พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,000 เมตร
  • ป่าดิบแล้ง จะพบขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างราบ ไม้ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ยางนา ยางแดง เป็นต้น จากลักษณะเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันนั้นจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ ค่างหงอก ลิงกัง พญากระรอกบินหูแดง ด้วยสภาพป่าที่มีความรกทึบเป็นที่หลบพักและซ่อนตัวของสัตว์ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีนกป่าที่หากินและดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกมูม นกลุมพู นกเค้าเหยี่ยว นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกกก นกพญาปากกว้างสีดำ นกพญาปากกว้างหางยาว นกขุนแผนหัวแดง และนกขุนทอง ส่วนสัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด เต่าใบไม้ เต่าเหลือง และตะกอง เป็นต้น

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าดงดิบอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ป่าลาน” ซึ่งมี “ต้นลาน” พืชในตระกูลปาล์มขึ้นอยู่หนาแน่นทั่วพื้นที่ นับเป็นป่าที่มีลักษณะเฉพาะและหายาก จนเป็นที่มาของชื่ออุทยาน ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ฝั่งต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ผืนป่าลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน ถือเป็นป่าลานธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ผืนสุดท้ายของประเทศไทย 

บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก เป็นต้น  

ต้นลานเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปี จะมีต้นสูงใหญ่ราว 10 เมตร และจะออกดอกเพียงครั้งเดียวในชีวิต หลังจากนั้นต้นลานจะตายลง และให้เมล็ดที่ร่วงลงมาขึ้นเป็นต้นใหม่แทน แต่เมล็ดเหล่านี้จะร่วง เป็นกระจุกเพียงบริเวณใต้ต้นแม่ 

ดังนั้นโอกาสที่เมล็ดลานจะกระจายไปสู่ผืนป่าตามธรรมชาติในวงกว้างจึงมีน้อยมาก ทำให้ต้นลานมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงปัจจัยทางด้านการขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรจึงทำการขยายและการเจริญเติบโตของต้นลานจึงลดน้อยลงอีกด้วย

บริเวณเขาหินปูน ถ้ำ หน้าผา ซึ่งได้แก่บริเวณเขาละมั่ง เขาวง และภูสามง่าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และที่กำบังภัยของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เลียงผา เม่นหางพวง และค้างคาว เป็นต้น บริเวณแหล่งน้ำ ห้วย ลำธาร เป็นย่านที่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิดได้แก่ งูปลิง กบหงอน เขียดอ่องเล็ก นกยางไฟธรรมดา นกยางเขียว นกกระเต็นธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดากำกวม และนกกระเต็นลาย ปลาน้ำจืดที่พบ เช่น ปลาชะโอน ปลาดุกเนื้อเลน ปลากระสง ปลาดัก และปลากระทิงดำ เป็นต้น 

อุทยานแห่งชาติทับลานมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย หนึ่งในจุดชมวิวที่เป็นไฮไลต์ที่สุด คือ ผาเก็บตะวัน ที่ตั้งอยู่ในเขตของอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก 

หาดชมตะวัน เป็นอีกหนึ่งจุดที่เหมาะสำหรับการชมพระอาทิตย์ตกดิน และยังมี เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทาง เช่น เดินชมต้นตะเคียนยักษ์พันปี และเส้นทาง น้ำตกวังเสถียร ซึ่งเป็นต้นน้ำของเขื่อนลำปลายมาศ 

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังเป็นแหล่งของน้ำตกสวยๆ หลายแห่ง เช่น น้ำตกทับลาน หรือ น้ำตกเหวนกกก น้ำตกบ่อทอง น้ำตกห้วยคำภุ น้ำตกห้วยใหญ่ รวมถึง อ่างเก็บน้ำทับลาน โดยมีบ้านพัก และลานกางเต็นท์ ไว้รองรับนักท่องเที่ยวด้วย


ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชThaiPBS

กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง

‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ป่าผืนใหญ่แหล่งมรดกโลกของไทย