ถามตรง ตอบชัด เรื่องอุทยานแห่งชาติ ทับลาน

ถามตรง ตอบชัด เรื่องอุทยานแห่งชาติ ทับลาน

เหตุแห่งการปรับแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เกิดจากแนวคิดในการใช้ one map ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

one map เป็นแนวคิดในการให้แต่ละหน่วยงานใช้แผนที่ที่มีรายละเอียดสูง 1:4000 ตรงกันทุกหน่วยงาน ผนวกกับกรอบแนวคิด One Land One Law คือ ในหนึ่งพื้นที่จะมีหนึ่งหน่วยงานที่ถือกฎหมายเท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่สำรวจ หลายส่วนมีราษฎรอยู่อาศัย จึงมีแนวคิดในการยกพื้นที่ดังกล่าวให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูแลแทน

หมายถึงจะกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นเนื้อที่กว่า 265,286 ไร่ นำมาซึ่งคำถามที่ถกเถียงกันอย่างเกรียวกราวขณะนี้

คำถามแรกที่ชอบถามกันคือ คนจะอยู่กับป่าได้หรือไม่? คำตอบ คือ ได้ โดยไม่ต้องไปจัดสรรปันสิทธิ์ออกเอกสารอย่างที่ ส.ป.ก.จะทำ ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในมาตรา 121 ประชาชนอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ทำกินได้แต่ไม่ได้สิทธิในลักษณะของโฉนด หรือสิทธิถาวร

การปรับวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการทรัพยากรร่วมกันกับชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความราบรื่น และประชาชนในพื้นที่รู้สึกได้ถึงความมั่นคงโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิใด ๆ 

คำถามที่สองที่ชอบถามกัน คือ เมื่อพื้นที่ป่าปัจจุบันเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นที่ดินทำกินหรือป่าเสื่อมโทรมแล้วจะกลับเป็นป่าได้อย่างไร? อันนี้ต้องบอกว่า เมื่อมองกันยาว ๆ โลกนี้ไม่มีป่าเสื่อมโทรม!

เพราะพื้นที่ใด ๆ เมื่อปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession) และค่อย ๆ มีสภาพกลับไปเป็นป่าสมบูรณ์ได้ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างเขาแผงม้าที่วังน้ำเขียว

จากป่าเสื่อมโทรมเมื่อปี พ.ศ. 2537 มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชร่วมกับชาวบ้านดูแลพื้นที่ บัดนี้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์จนมีกระทิงฝูงหนึ่งมาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน และกลายเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าในวันนี้

 

นอกจากนี้ขณะที่เรากำลังประสบกับภาวะโลกรวน จนมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ที่ประเทศไทยประกาศว่าจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593

หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ คือ การเพิ่มการกักเก็บและดูดกลับของคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แปลว่า เราต้องการป่าไม้ การปรับแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจะทำให้พื้นที่ป่าหายไปราว  265,286 ไร่

ในส่วนนี้จึงมาเป็นคำถามที่สามว่า เรายังมีสิทธิที่จะสูญเสียพื้นที่ป่าอีกหรือ? ถึงตรงนี้อาจมีเสียงประท้วงว่าก็ป่ามันเสื่อมสภาพไปนานแล้ว ก็ขอให้ย้อนกลับไปดูคำถามที่สองนะครับ

คำถามที่สี่ที่ตามมา คือ ชุมชนที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะทำอย่างไร? ในความเห็นส่วนตัว รัฐต้องเยียวยา เช่นเดียวกับการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ การสร้างเขื่อนที่ต้องมีการเวนคืน พื้นที่ในหลายๆ หมู่บ้าน เรื่องเหล่านี้รัฐยอมลงทุน แต่การสร้างผืนป่าธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนจะไม่ยิ่งน่าลงทุนยิ่งกว่าหรือ

หลายเรื่องที่กล่าวมายังไม่รวมถึงเหตุผลว่านี่คือป่าลานผืนสุดท้าย เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ หลายท่านอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่นำไปสู่คำถามสุดท้ายที่น่าจะใกล้ตัวที่สุดคือ เราพร้อมจะสูญเสียความเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่หรือไม่? 

ย้อนกลับไปเมื่อมีการเสนออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นมรดกโลกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 พร้อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ปรากฏว่าอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งไม่ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลก

ด้วยเหตุผลคือ พื้นที่มีขนาดเล็ก จึงต้องกลับมาทำเอกสารเพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนกันใหม่ คราวนี้มาในรูปแบบของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จนได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2548

ซึ่งการประกาศมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน แม้ว่าในเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกจะมีการกล่าวถึงการเพิ่มและลดพื้นที่บางส่วนในอนาคต แต่การปรับลดแนวเขตของอุทยานแห่งชาติแห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมเป็นการปรับลดพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับโดยสากลแล้วว่ามีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ตามเกณฑ์มรดกโลก

ส่งผลถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) ตลอดจนเสถียรภาพในการปกปักรักษาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งด้วย ซึ่งหากปรับแนวเขต พื้นที่แหล่งมรดกโลกแห่งนี้จะลดลงราวร้อยละ 6.89 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย และอาจนำไปสู่การถอดถอนได้ในที่สุด

คำถามสุดท้ายนี้ จึงน่าจะต้องคิดให้หนัก การมีผืนป่าธรรมชาติที่ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องใช้งบประมาณเข้าไปดูแล แถมยังอำนวยประโยชน์หลายเรื่องโดยเฉพาะการท่องเที่ยว กับการเปลี่ยนเป็นที่ทำกินซึ่งสามารถจะฉ้อฉลเปลี่ยนมือไปได้หลายรูปแบบอย่างที่เห็น อย่างไหนจะยั่งยืนกว่ากัน ขอให้ทุกฝ่ายคิดดูให้จงหนัก.