‘เอลนีโญ’ ทำ ดอกไม้บานกลาง ‘ทะเลทราย’
“ทะเลทรายอาตากา” ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันทะเลทรายแห่งนี้ปกคลุมไปด้วยดอกไม้สีขาว สีเหลือง และสีม่วงหลากสีสัน
KEY
POINTS
- “ทะเลทรายอาตากามา” ทางตอนเหนือของชิลี ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก กำลังเต็มไปด้วยทุ่งดอกไม้มากกว่า 200 สายพันธุ์ที่บานสะพรั่ง
- ดอกไม้เหล่านี้จะเริ่มบานในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้ ของปีที่เกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” แต่ในปีนี้บานเร็วกว่าปกติ
- เมื่อดอกไม้บาน สัตว์ต่างๆ ทั้งกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงหลายชนิด ต่างกันมาในบริเวณที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง เกิดเป็นระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่เหมือนภูมิภาคใดในโลก
“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้เกิดความร้อนถล่มทั่วเอเชียมาแล้วในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่ในอีกซีกโลกหนึ่งเอลนีโญกลับช่วยให้ดอกไม้บานสะพรั่งเต็มพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในชิลี
“ทะเลทรายอาตากามา” ทางตอนเหนือของชิลี ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ทะเลทรายที่แห้งแล้งแห่งนี้กลับมามีสีสันสดใสอีกครั้ง ด้วยดอกไม้นานาพรรณที่เบ่งบานทอดยาวหลายร้อยกิโลเมตร
ระดับน้ำฝน และอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยชุบชีวิตพืชทะเลทรายที่หลับใหลให้กลับขึ้นมาชีวิตอีกครั้ง จนได้รับขนานนามว่า “Desierto Florido” (เดซิเอร์โต ฟลอริโด้) หรือ ทะเลทรายที่เต็มไปด้วยดอกไม้
พืชเหล่านี้เป็นพืชมีเหง้าใต้ดิน ซึ่งทนทานต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย ในช่วงเวลาที่แห้งแล้งมันจะซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน และเมื่อฝนตก ต้นไม้เหล่านี้ก็จะผุดขึ้นมาในฤดูใบไม้ผลิถัดไป โดยเฉลี่ยแล้วจะออกดอกทุกๆ 2-3 ปี สัตว์ต่างๆ ทั้งกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงหลายชนิด ต่างกันมาในบริเวณที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง เกิดเป็นระบบนิเวศที่ไม่เหมือนภูมิภาคใดในโลก
ดอกระฆังชิลีหลากสีสัน และดอกไม้กว่า 200 สายพันธุ์ จะเริ่มบานในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้ ของปีที่เกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” สภาพภูมิอากาศทางธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศโลก เนื่องจากจะเป็นช่วงที่อุณหภูมิในภูมิภาคจะสูงขึ้น ทำให้เกิดการระเหยมากขึ้น และส่งผลให้ฝนตกมากขึ้นด้วย
แต่ในปัจจุบันดอกไม้เหล่านี้เริ่มบานตั้งแต่ช่วงกลางฤดูหนาว ช่วงเดือนกรกฎาคม เพราะมีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้น โดยปรากฏการณ์ดอกไม้บานเร็วเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยสังฆราชคาทอลิกแห่งชิลี พบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ดอกไม้บานสะพรั่งเกิดขึ้นประมาณ 15 ครั้ง ตามข้อมูลในปี 2022 และในขณะนี้ดอกไม้เริ่มกลับมาบานอีกครั้ง
ซีซาร์ ปิซาร์โร หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของสมาคมป่าไม้แห่งชาติ (CONAF) หน่วยงานดำเนินการโดยรัฐบาลชิลี กล่าวกับรอยเตอร์กล่าวว่า “หลังจากนี้จะมีฝนตกมากขึ้น หมายความว่าดอกไม้จะบานไปทั่วพื้นที่ทะเลทราย”
กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีของชิลี คำนึงถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และศูนย์สวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ พร้อมสัญญาว่าจะเป็นผู้นำการต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปี 2022 รัฐบาลชิลีได้ประกาศสร้างเขตอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ในทะเลทรายอาตากามา บริเวณเมืองโคปีอาโป และเมืองวาลเลนาร์ เพื่อปกป้องดอกไม้ที่หายากเหล่านี้พร้อมกับสัตว์ป่า เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และนก ซึ่งช่วยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เกสร
ดร.คริสเตียน อตาลา ศาสตราจารย์จากสถาบันชีววิทยาของมหาวิทยาลัยคาทอลิกบัลปาราอีโซ กล่าวยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมเน้นย้ำว่า “ระบบทางชีววิทยาสุดโต่งทั้งหมดนี้กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย นี่จึงเหตุผลว่าทำไมการปกป้องระบบนิเวศเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ แรงกดดันเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้น จะทำให้วัฏจักรชีวิตเหล่านี้จะหายไปตลอดกาล” ดร.อตาลา กล่าว
ทะเลทรายกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าเหมืองแร่ แหล่งเศรษฐกิจสำคัญของอเมริกาใต้ ที่กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามเป็นพิเศษจากการขุดแร่หิน การรักษาสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา: CNN, National Geographic, Reuters, The Guardian, WION
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์