‘ธงสีรุ้ง’ต้องไปไกลกว่า การเป็นเครื่องมือทางการตลาด

‘ธงสีรุ้ง’ต้องไปไกลกว่า  การเป็นเครื่องมือทางการตลาด

ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองสิทธิและแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) โบกปลิวไสวในขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์ 2024 เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในย่านศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมเดินขบวนมากกว่า 200,000 คน ห้างร้านต่างประดับประดาไปด้วยธงสีรุ้ง แบรนด์ต่าง ๆ วางจำหน่ายสินค้าในธีมไพรด์ และเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของแบรนด์บนสื่อโซเชียลเป็นสีรุ้ง

ภาครัฐมุ่งหวังให้บางกอกไพรด์เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะนำจำนวนเงินมหาศาลเข้ามายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกลับกังวลเพิ่มขึ้นว่าภาคธุรกิจอาจกำลังใช้กระแสสีรุ้งเป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่แบรนด์ของตนและดึง ‘เม็ดเงินสีชมพู’ (Pink Money) จากกลุ่ม LGBTQIA+ แต่อาจไม่มีนโยบายสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ภายในองค์กรของตนอย่างชัดเจน หรือหลายแห่งอาจมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของภาคธุรกิจถูกเรียกว่า ‘การฟอกสีรุ้ง’ (Rainbow Washing)

โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจไทย คือจะแสดงการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างไร โดยไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ากำลังฟอกสีรุ้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) อาจพิจารณานำแนวคิดความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) มาบูรณาการเข้ากับนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร โดยแนวปฏิบัติที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิด DEI เช่น การกำหนดเกณฑ์และสร้างกระบวนการการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่งที่เป็นธรรมกับทุกกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยและวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย แต่ยังช่วยสร้างผลกำไรที่จับต้องได้ให้แก่องค์กร ที่เห็นได้ชัดคืออัตราการลาออก (turnover rate) ลดลง

ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ระบุว่าบริษัทที่มีคณะผู้บริหารที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม หรือมีสมาชิกที่มาจากกลุ่ม LGBTQIA+ มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกำไรได้มากกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันสูงถึง 33% นอกจากนี้ การมีบุคลากรที่มีความหลากหลาย

ยังนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์และมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งสามารถช่วยยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้เอื้อกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย รวมทั้งการยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในองค์กรนั้น จะช่วยทำให้บุคลากรราว 20% เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (sense of belonging) กับองค์กร ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงาน และการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร ก็จะไม่ได้รับผลกระทบอันเป็นผลมาจากการขาดแคลนบุคลากร

การนำแนวคิด DEI มาปรับใช้ภายในองค์กรของบริษัทเอกชน จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เสริมสร้างผลิตภาพ (productivity) ให้แก่พนักงานทุกกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพขององค์กรในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น และในท้ายที่สุด กำไรขององค์กรก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ บริษัทเอกชนอาจพิจารณาเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (sustainability disclosure) ที่รวมไปถึงการเปิดเผยนโยบายและกิจกรรมที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นรับทราบว่าบริษัทได้ดำเนินการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ในระดับนโยบายขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความโปร่งใสให้กับองค์กรแล้ว ยังช่วยป้องกันการถูกกล่าวหาว่าฟอกสีรุ้งอีกด้วย

 

อ้างอิง 

การเงินธนาคาร, “Pink Money เม็ดเงินกำลังซื้อสูงจากกลุ่ม LGBTIQ+ ที่มาแรงจนธุรกิจต้องเข้าหา,” การเงินธนาคาร, 1 มิถุนายน 2023, https://moneyandbanking.co.th/2023/41929/.

บีบีซีไทย, “การฟอกสีรุ้ง” ให้องค์กร แบรนด์และธุรกิจบางรายกำลังโหนกระแสเดือนไพรด์หรือไม่,” บีบีซีไทย, 3 มิถุนายน 2024, https://www.bbc.com/thai/articles/cp009v50vjjo.

Bangkok Post, “Bangkok Pride Festival marks a grand Pride month celebration in Bangkok’s bustling Rama 1 Road and Siam area,” Bangkok Post, June 1, 2024, https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/2803494/bangkok-pride-festival-marks-a-grand-pride-month-celebration-in-bangkoks-bustling-rama-1-road-and-siam-area.

Helee Lev, “How ESG helps expose rainbow-washing,” CONSERVICE, June 28, 2022, https://esg.conservice.com/how-esg-helps-expose-rainbow-washing/.

Kamren Kniola, “Preventing Rainbow-Washing: The Power of Inclusive LGBTQIA+ Metrics in Brand Narrative,” Material Brands, June 2023, https://materialbrandsmatter.com/preventing-rainbow-washing-the-power-of-inclusive-lgbtqia-metrics-in-brand-narrative/.

Kate Heinz, “What Does Diversity, Equity and Inclusion (DEI) Mean in the Workplace?,” builtin, March 5, 2024, https://builtin.com/diversity-inclusion/what-does-dei-mean-in-the-workplace