‘ยูเอ็น’ ออกโรงเตือนนานาชาติ เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน คร่าชีวิตแรงงานทั่วโลก
สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันลด “การแพร่ระบาดของความร้อนขั้นรุนแรง” ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน”
KEY
POINTS
- 22 กรกฎาคม 2567 วันที่ร้อนที่สุดในโลกอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 17.15 องศาเซลเซียส หลายพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส
- สหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน”
- แรงงานมากกว่า 2,400 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 70% ของแรงงานทั่วโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากความร้อนจัด
หลังจากที่ช่วง 21-23 กรกฎาคม 2567 กลายเป็นวันที่ร้อนที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการบันทึกมา สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันลด “การแพร่ระบาดของความร้อนขั้นรุนแรง” ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน”
อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการจัดการกับผลกระทบของ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในขณะที่โลกเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายพันล้านคนกำลังตกเจอกับ “คลื่นความร้อน” รุนแรง
“ความร้อนจัดกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น บ่อนทำลายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และคร่าชีวิตผู้คน” เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว
“เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีสาเหตุมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ และมันจะแย่ลงไปอีก ความร้อนจัดที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ถือเป็นความผิดปกติครั้งใหม่”
22 กรกฎาคม 2567 วันที่ร้อนที่สุดในโลก
คำเตือนของกูเตียเรสเกิดขึ้นหลังจากที่ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ระบุว่า โลกเผชิญกับวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกในวันที่ 22 กรกฎาคม เพิ่มขึ้นเป็น 17.15 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่าสถิติเดิมของวันที่ 21 กรกฎาคม อยู่ 0.06 องศาเซลเซียส
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา โลกของเรามีอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยมา และทำลายสิถิติอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีเริ่มบันทึกในปี 2483 ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มว่าปี 2024 จะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
“หากโลกยังคงเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซต่อไปเรื่อย ๆ โลกก็จะร้อนขึ้นต่อไป จนกว่าเราจะหยุดเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” จอยซ์ คิมูไต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวกับสำนักข่าว AFP
เดือนกรกฎาคม 2567 ได้ทำลายสถิติ “วันที่ร้อนที่สุดในโลก” หลายต่อหลายครั้ง โดยก่อนหน้านี้ เจ้าของสถิติวันที่ร้อนที่สุด คือวันที่ 13 สิงหาคม 2559 ด้วยอุณหภูมิ 16.8 องศาเซลเซียส
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ หลายพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส ซึ่งวิกฤติดังกล่าวได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมทางสังคมรุนแรงขึ้น
“ความร้อนมีอยู่ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนเท่า ๆ กัน ความร้อนจัดจะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันขยายตัวในวงกว้าง ลุกลามไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร และผลักดันให้ผู้คนตกอยู่ในความยากจนมากขึ้น” กูเตียเรสกล่าว
แก้ไขโลกร้อนช่วยชีวิต “แรงงาน”
รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ระบุว่า ขณะนี้แรงงานมากกว่า 2,400 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 70% ของแรงงานทั่วโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากความร้อนจัด
โดยรายงานของ ILO ยังระบุอีกว่า แรงงานเกือบ 93% ในแอฟริกา และ 84% ของแรงงานในสันนิบาตอาหรับ กำลังเผชิญกับความร้อนจัด ซึ่งเป็นสาเหตุให้แรงงานเกือบ 23 ล้านรายทั่วโลกเกิดการบาดเจ็บในที่ทำงาน และมีผู้เสียชีวิตปีละ 19,000 ราย อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานจะลดลง 50% ในวันที่มีเกิน 34 องศาเซลเซียส
ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติจึงได้กำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล รวมถึงการคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนแรงในการทำงาน จากข้อมูลของ ILO พบว่า การมีมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่สมเหตุสมผล จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจลงได้ 361,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
สหประชาชาติคาดว่ามาตรการเหล่านี้สามารถปกป้องผู้คนได้ 3,500 ล้านคนภายในปี 2593 ในขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีอีกด้วย
ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิส วิธีลดโลกร้อนที่ดีที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนด้วยว่าเมื่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น รูปแบบของสภาพอากาศก็รุนแรงยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งภัยแล้ง พายุเฮอริเคน น้ำท่วม และไฟป่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก
สหประชาชาติระบุว่าการออกแบบเมืองและอาคารให้สามารถคงความเย็นและกักเก็บความร้อนน้อยลง รวมถึงมีระบบเตือนภัยความร้อนล่วงหน้า จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก เพราะความจริงแล้วจำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุหมุนเขตร้อนเสียอีก
รายงานยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมี 57 ประเทศทั่วโลกที่มีระบบเตือนภัยที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากความร้อนได้มากกว่า 98,300 ครั้งในแต่ละปี
ทั้งนี้เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า หนทางที่แก้ปัญหานี้ได้ประเทศต่าง ๆ จะต้องลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นตอของการเกิดภาวะโลกร้อน ศึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศลงได้
“ผู้นำทั่วทั้งโลกต้องตื่นตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G20 จะต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็วและยุติธรรม” กูเตียเรสกล่าวทิ้งท้าย