‘สหราชอาณาจักร’ ชุบชีวิต ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ให้กลายเป็น ‘ทองคำ’

‘สหราชอาณาจักร’ ชุบชีวิต ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ให้กลายเป็น ‘ทองคำ’

โรงกษาปณ์หลวงแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Mint) ชุบชีวิต "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ให้กลายเป็น "ทองคำ" ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

KEY

POINTS

  • สหประชาชาติระบุว่าในปี 2022 มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 62 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2030 จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นประมาณหนึ่งในสาม
  • โรงกษาปณ์หลวงแห่งสหราชอาณาจักร ใช้เทคโนโลยีใหม่สกัดทองคำออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมากกว่า 99% ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งยังสะอาดและปลอดภัย 
  • ทองคำที่แยกได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะนำไปทำเป็นเหรียญที่ระลึก และเครื่องประดับ โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4,000 ตัน น่าจะสร้างทองคำได้มากถึง 450 กิโลกรัม 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ตั้งแต่เศษซากโทรทัศน์เก่า คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้ว กำลังเป็นปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติระบุว่าในปี 2022 มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 62 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2030 จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นประมาณหนึ่งในสาม

โรงกษาปณ์หลวงแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Mint) ผู้ผลิตเหรียญของสหราชอาณาจักร สร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ในเวลส์ เพื่อแยกโลหะมีค่าออกจากแผงวงจรเก่า โดยเฉพาะ “ทองคำ” คาดว่ามีทองคำประมาณ 7% ในโลกถูกนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

เมื่อชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เขาสู่ในโรงงานจะถูกความร้อน เพื่อแยกส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น คอยล์ ตัวเก็บประจุ พิน และทรานซิสเตอร์ แยกออกจากกัน โดยชิ้นส่วนต่าง ๆ จะแยกออกจากกันไปตามสายพานลำเลียง สำหรับชิ้นส่วนที่มีทองคำจะถูกส่งไปยังโรงงานเคมี 

จากนั้นชิ้นส่วนที่ทองคำจะถูกนำไปใส่สารละลายเคมี ที่จะแยกทองคำออกมาในของเหลว และทำการกรอง จนได้ออกมาเป็นผงทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อนำไปให้ความร้อนในเตาเผา ก็จะกลายเป็นก้อนทองคำแวววาว

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการคัดแยกทองคำนี้ ได้รับความร่วมมือจาก Excir สตาร์ทอัพเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของแคนาดา สามารถดึงทองคำออกจากจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่า 99% ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งยังสะอาดและปลอดภัย ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย

“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นการขุดเหมืองในเมือง เรากำลังนำขยะที่สังคมสร้างขึ้น มาแปลงให้เป็นทองคำ และเริ่มมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีจำกัดนั้น” อิงกา โดอัค หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนกล่าว

เลตัน จอห์น ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของโรงกษาปณ์หลวง กล่าวว่า วิธีการหลอมเศษทองจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยใช้กันมานาน เป็นวิธีที่ต้องใช้พลังงานสูงมาก และใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือไม่ก็ส่งไปยังโรงหลอมพลังงานสูง ซึ่งทองจะถูกเผาจนเกือบหมด 

“สารเคมีที่เราเอามาใช้ มันถูกใช้ในอุณหภูมิห้อง ด้วยพลังงานต่ำมาก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และดึงทองคำออกมาได้อย่างรวดเร็ว” จอห์น กล่าว

รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติประจำปี 2024 ระบุว่าสหราชอาณาจักรเป็นผู้ผลิตขยะเทคโนโลยีต่อจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากนอร์เวย์เท่านั้น ซึ่งจอห์นกล่าวว่า โรงกษาปณ์ตั้งเป้าจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากกว่า 4,000 ตันต่อปี

“โดยปกติแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะถูกส่งไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้เราเก็บขยะเหล่านี้ไว้ในสหราชอาณาจักร เพื่อนำไว้ใช้เอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก” จอห์นกล่าวกับ BBC

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4,000 ตัน น่าจะสร้างทองคำได้มากถึง 450 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 27 ล้านปอนด์หรือประมาณ 1,219 ล้านบาท นอกจากนี้ การหันมาจับธุรกิจแปรรูปขยะนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับโรงกษาปณ์หลวงอีกด้วย

ปัจจุบันมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถึง 20% ที่ถูกรีไซเคิล หมายความว่าทองคำ เงิน ทองแดง แพลเลเดียม และโลหะที่มีมูลค่าสูงอื่น ๆ มูลค่ากว่า 57,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าจีดีพีของหลายประเทศทั่วโลกจะถูกทิ้งไปแทนที่จะถูกรวบรวมเพื่อสังเคราะห์และนำกลับมาใช้ใหม่

โรงกษาปณ์หลวงเป็นผู้ผลิตเหรียญที่ใช้ในสหราชอาณาจักรมานานกว่าพันปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีการใช้เงินสดลดลง ทำให้องค์กรต้องหาวิธีอื่นเพื่อสร้างรายได้และรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ ซึ่งการแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

“เราไม่เพียงแต่รักษาโลหะมีค่าที่มีปริมาณจำกัดไว้สำหรับอนาคตเท่านั้น แต่เรายังต้องรักษาช่างฝีมือของเราไว้ด้วย เราจึงต้องย้ายพนักงานไปทำงานในกระบวนการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้พวกเขายังคงมีงานทำต่อไป ฉันภูมิใจที่จะได้ปกป้องโรงกษาปณ์ต่อไปอีก 1,100 ปี” แอนน์ เจสโซปป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโรงกษาปณ์หลวงอธิบาย

นอกเหนือจากการหลอมทองคำแล้ว โรงกษาปณ์หลวงกำลังพิจารณาวิธีการจัดการกับวัสดุอื่น ๆ ที่แยกออกจากแผงวงจรด้วย เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ดีบุก และเหล็ก อีกทั้งยังทำศึกษาว่าแผงวงจรที่ถูกบดทำลายแล้วจะสามารถใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้หรือไม่

สำหรับทองคำที่แยกได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะนำไปทำเป็นเหรียญที่ระลึก และเครื่องประดับในคอลเล็กชัน 886 ซึ่งประกอบด้วยจี้สองเส้น สร้อยข้อมือ และแหวนตราสัญลักษณ์ มีราคาตั้งแต่ 1,525-2,995 ปอนด์ หรือประมาณ 68,756-135,032 บาท นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเงินจากโลหะ ที่นำกลับมาใช้ใหม่จากฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งเริ่มต้นที่ 225 ปอนด์ หรือราว 10,146 บาท


ที่มา: BBCNew AtlasRoyal Mint