จาก "โลกร้อน" ถึง "โลกเดือด" สำนึกมนุษยชาติกับบทบาทที่รอไม่ได้
อาหารเหลือ 1 คำ อาจมิได้ทำให้โลกร้อนขึ้นในทันที ทิ้งขวดน้ำพลาสติค 1 ใบ ฟาสต์แฟชั่น 1 ชิ้น โดยสารเครื่องบิน 1 เที่ยว ก็คงไม่ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ในทันใดถึงภัยต่อสภาพภูมิอากาศที่มองไม่เห็น
แม้กระนั้นปฏิกิริยาเล็กๆ จากผู้คนทั้งโลกล้วนเกี่ยวพันกันจนก่อตัวขึ้นเป็น ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ภาวะคุกคามในอันดับต้นๆ ที่กำลังกลืนกินทรัพยากรและบั่นทอนความเป็นปกติสุขของมนุษยชาติ ดังปรากฏหลักฐานที่สะสมมานานนับร้อยปี และรุนแรงเป็นทวีคูณในศตวรรษนี้
ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ซึ่ง Global Climate Risk Index คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยความเปราะบางของลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพเศรษฐกิจสังคม ไทยจะได้รับความเสียหายครอบคลุมในวงกว้างทั้งภาคเศรษฐกิจการเกษตร การท่องเที่ยว และการค้า
หลายจังหวัดของไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายพื้นที่ก็เสี่ยงต่อภัยจากน้ำท่วมฉับพลันที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างคาดไม่ถึง
“โลกร้อน” (Global Warming) เป็นคำที่ได้ยินกันอย่างหนาหูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวสากลเมื่อ พ.ศ.2558 ที่ประชุมภาคีสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในการประชุม COP 21 ได้เห็นชอบร่วมกัน
จนเป็นที่มาของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียสและพยายามจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
โดยให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมๆ กับที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศได้รับรอง 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อบรรลุภายใน พ.ศ. 2573
ในที่สุดก็เข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด” (Global Boiling) เมื่อบันทึกข้อมูลอุณหภูมิโลกบ่งชี้ระดับความร้อนที่พุ่งสูงสุดในช่วง 1-23 ก.ค.2566 ถึง 3 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน
นายอันโตนิอู กุแตเรช (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ปลุกเร้าทุกฝ่ายให้ตื่นขึ้น “ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว ยุคโลกเดือดได้มาถึงแล้ว”
เรียกร้อง 3 ประเด็นสำคัญ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องถูกควบคุมให้ลดลงทั่วทั้งโลกและด้วยความรวดเร็ว บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาดโดยการเปลี่ยนผ่านตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และต้องยุติการฟอกเขียว จะต้องไม่มีการหลอกลวงอีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ประจักษ์ได้เมื่อระดับอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ปรากฏการณ์ที่ส่งผลรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 2 ลักษณะ เอลนิญโญ (El nino) และลานิญญา (La nina)
ดังที่คนไทยรู้สึกได้ถึงความผิดปกติของอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนที่สูงกว่า 42-44.6 °c ในหลายพื้นที่ สลับกับความถี่ของพายุ ระเบิดฝนและน้ำท่วมฉบับพลัน
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีทั้งอัตราการเสียชีวิตจากภาวะโลกร้อนและผลพวงสืบเนื่อง ดังเช่นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและอุ่นขึ้น การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์หลายชนิดทั้งบนบกและในทะเล การขาดความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน คุณภาพชีวิตและความปลอดภัย รวมถึงโรคอุบัติใหม่และการระบาดทั่ว
เป้าหมายของประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ดังที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP 26 เมื่อ พ.ศ. 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์
การรับมือกับโลกเดือดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย จำต้องพึ่งพา 2 มาตรการหลักควบคู่กัน เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิด Climate Resilience ที่ดีพอ นั่นคือ มาตรการบรรเทา (Mitigation) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดจากทุกแหล่ง ดังที่ประเทศไทยกำลังพยายามขับเคลื่อน
โดยมียุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบและเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต ควบคู่กับการลดปริมาณการปล่อยของเสีย ขยะ ให้ก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลงมากที่สุดจนถึงเป็นศูนย์ โดยอาศัยกลไกการออกแบบกิจกรรมตามหลัก Rs รวมถึงมาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อกดดันการเปลี่ยนแปลง
ที่จำเป็นอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งคือ มาตรการปรับตัว (Adaptation) อาศัยหลักการออกแบบใหม่ (Re-design) ทั้งกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ตั้งแต่การเลือกถิ่นฐาน อาคารบ้านเรือน เครื่องแต่งกาย พฤติกรรมการเดินทาง การบริโภค และวิถีการดำรงชีวิตอื่น ๆ เพื่อเอื้อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตและพัฒนาต่อเนื่องได้ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น เช่น เกษตรในทะเลทราย โปรตีนจากพืช น้ำทะเลดื่มได้
อาหารเหลือ 1 คำ ขวดพลาสติค 1 ใบ และอื่น ๆ อีกมากมาย จากประชากรโลกกว่า 8 พันล้านคนจึงมิอาจรอคอยเพียงบทบาทการขับเคลื่อนผ่านข้อตกลงจากเวทีโลก คลื่นยักษ์ที่ถาโถมสู่โลกใบนี้ต้องการ “มือแห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยเร่งด่วน วันนี้ และเดี๋ยวนี้
“ราชบัณฑิตยสภา” ในฐานะแหล่งสรรพปัญญา จะร่วมประสานพลัง สู่เป้าหมายอุณหภูมิโลกที่จะคงเกื้อกูลดุลยภาพของระบบนิเวศ ปักธงการขับเคลื่อนผ่านบทบาทการสร้างความตระหนักรู้และการร่วมมือกันจากทุกองค์กร ทุกชุมชน และทุก ๆ คน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวพร้อมรับมือกับโลกเดือด
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีราชบัณฑิตยสภา เรื่อง “ราชบัณฑิต มองไกล นำวิจัย ปรับตัวรับมือโลกร้อน” โดย รศ.ดร.รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ กรรมการฝ่ายวิชาการ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันที่ 6-7 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์