การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วทั้งโลก แต่เป็นหนึ่งใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมคนไทยจึงต้องสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกหรือปัญหาโลกรวน

การศึกษาของ Swiss Re Institute (2021) พบว่า GDP ของไทยจะลดลงเป็นสัดส่วนเกือบมากที่สุดใน 48 ประเทศที่ได้รับการประเมิน และจะลดลงระหว่างร้อยละ 4.9-43.6 ในปี 2591 หรืออีก 24 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิสูงขึ้นระหว่างไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสหรืออาจจะขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียสตามลำดับ

ผลกระทบของโลกรวนต่อการท่องเที่ยวค่อนข้างที่จะรุนแรง และจะเปลี่ยนแบบแผนของการท่องเที่ยวมาเป็นการท่องเที่ยวกลางคืนมากขึ้น และจะมีผลต่อพื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยต่างกัน

การท่องเที่ยวทางทะเลบริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นชายฝั่งยอดนิยมของการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาอันใกล้ๆ คือ ปี 2563-2572 จะได้รับประโยชน์จากการมีฤดูฝนสั้นลง ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวได้ยาวนานมากขึ้น แต่ก็อาจจะเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำจืดมากขึ้น

การท่องเที่ยวทางบริเวณอ่าวไทยในทุกจังหวัดจะมีปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น และระยะเวลาที่ฝนตกก็มากขึ้นถึง 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดผลตรงกันข้ามกับฝั่งอันดามัน และอาจจะมีการกัดเซาะชายฝั่งจากพายุมากขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

ในภาคเหนือคาดว่าจำนวนที่อากาศเย็นจะลดลง 5-10 วันต่อปีใน 20 ปีข้างหน้าและจะลดลงมากกว่า 20 วันใน 50 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคเหนือ เพราะอากาศเย็นเป็นจุดดึงดูดใจที่สำคัญสำหรับตลาดในประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวน ที่เป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบจะเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น ส่วนภาคตะวันออกก็จะมีผลกระทบจากการที่จะเป็นภาคที่มีอากาศร้อนที่สุดในประเทศ

สำหรับในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถือเป็น 1 ใน 10 จังหวัดของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากน้ำท่วม เพราะปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มมากขึ้น และฝนตกจะหนักมากขึ้นในช่วงฤดูช่วงปลายฤดูฝน และเกิดการพัฒนาการก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ

ผลกระทบของการท่องเที่ยวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบโลจิสติกส์หรือการขนส่งเป็นส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

นอกจากนั้นก็อาจจะมาจากโรงแรมซึ่งพบว่า ค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนของโรงแรมในประเทศไทย (0.064 ตันคาร์บอน) (ศูนย์วิจัยกสิกร ธ.ค. 2566) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (0.069 ตันคาร์บอน) และค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (0.057) (Cornell Hotel Sustainability, Feb 2024)

การเตรียมพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับประเทศ (Naturally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งได้อย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ.2020 แต่ในปี ค.ศ.2019 เราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 1-7 

นายกฯ ประยุทธ์ได้ประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติที่ กรุงกลาสโกว์ (COP26) ว่าประเทศไทยมีเป้าหมายว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065

และหากเราได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนระหว่างประเทศก็สามารถจะยกระดับการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น และทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050

แม้ประเทศไทยจะมีแผนที่จะเตรียมรับมือกับโลกร้อนแล้ว แต่ยังมีความเป็นนามธรรมอยู่มาก และขาดการใช้แรงจูงใจทั้งมาตรการทางการเงินและการให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีการปรับตัวอย่างแพร่หลาย

การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน ที่ส่งผลต่ออนาคตของสภาพสิ่งแวดล้อมไทยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า

ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนนโยบายของรัฐว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่มีความสำคัญและความไม่แน่นอนมากที่สุดสำหรับอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งในเรื่องความชัดเจน ความต่อเนื่อง การกำหนดมาตรฐาน 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและจริงจัง รวมทั้งการบูรณาการและการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างต่างๆ การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การบรรเทาผลกระทบ

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความไม่แน่นอนสูงและแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำอยู่แล้วอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากไม่สามารถจะย้ายตัวเองจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ง่ายเท่ากับผู้มีรายได้สูง

การบริหารแบบรวมศูนย์และการใช้การบริหารแบบมาตรฐานเดียวในการจัดการพื้นที่ในระบบนิเวศต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายจะทำให้การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความยุ่งยากมากขึ้นและประสบผลสำเร็จน้อยลง จะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าการบริหารที่ยืดหยุ่น

และในการปรับตัวให้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต การกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่สำคัญ

การรับมือกับสภาวะโลกร้อนจะอาศัยนโยบายกำกับและควบคุมของรัฐแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนกลไกตลาดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อกลไกตลาดทำงานก็จะทำให้เกิดการตอบสนองจากผู้ผลิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้พลังงาน การกำจัดขยะ ของเสียในครัวเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อลดปัญหาโลกร้อนได้ตั้งแต่วันนี้

เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีราชบัณฑิตยสภา โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ภาคีราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สาขาเศรษฐศาสตร์.