'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' วางบทบาทการเมือง ขับเคลื่อน 'สหพัฒน์' ธุรกิจยั่งยืน
“เครือสหพัฒน์” องค์กรธุรกิจที่ดำเนินการมากกว่า 80 ปี มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2485 จากการเปิดร้าน “เฮียบเซ่งเซียง” ซึ่งเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ด สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากต่างประเทศ จนกระทั่งปี 2495 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด
การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาวิกฤติมาหลายช่วงทั้งวิกฤติภายในประเทศและวิกฤติจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีแนวทางการบริหารธุรกิจที่มองความยั่งยืนขององค์กร โดยล่าสุด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารับตำแหน่งรองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จํากัด (มหาชน) หรือ SPC เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 แทน “บุญปกรณ์ โชควัฒนา” ที่ลาออก
บทบาทของภาคธุรกิจในมุมมอง “อภิสิทธิ์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ปัจจุบันนอกจาก “อภิสิทธิ์” จะเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จํากัด (มหาชน) ยังทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
“อภิสิทธิ์” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ก่อนที่จะเข้ามาดูแลด้านของความยั่งยืนในสหพัฒนพิบูลนั้น ได้เข้ามาให้คำปรึกษากับเครือสหพัฒน์ เพราะมีความเชื่อเรื่องการสร้างสังคมดีที่ยั่งยืน จึงได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพราะงานที่ทำด้านการเมืองในอดีตหลายเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนอยู่แล้ว
ในอดีตได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นนโยบายภาพรวมธรรมาภิบาล โดยเป็นผู้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 ไปจนถึงเรื่องเยาวชน การศึกษาและการรณรงค์เกี่ยวกับค่านิยมด้านต่างๆ
สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องมีความชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งความเหมาะสมไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกรับหมด แต่ไม่ได้ใช่การให้ผู้บริโภคหรือภาคธุรกิจต้องมาแบกรับ โดยรัฐบาลต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและแบ่งเบาภาระที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจสะดุดค่อนข้างมากและมีอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ยอมจ่ายเพิ่มเพื่อได้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้น รัฐต้องมีบทบาทสำคัญช่วยดูแลสถานการณ์เช่นนี้
“ผมคิดว่าคงไม่ไม่เป็นธรรมที่จะให้รัฐมาแบกรับทุกสิ่งทุกอย่าง รัฐต้องมีทิศทางที่ชัดเจนให้มั่นใจว่าทุกคนจะทำเรื่องความยั่งยืนได้ ไม่เกิดความลำเอียงในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง”
สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่มีธรรมาภิบาลที่เป็นส่วนสำคัญให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืน โดยมุ่งผลักดันภาพกว้างขององค์กรให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอนาคตแรงกดดันจะเริ่มตั้งแต่ระดับโลกไปถึงกฎระเบียบระดับชาติและค่านิยมสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนแนวทางที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ต้องการให้องค์กรรอแรงกดดันแต่ต้องการให้องค์กรเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
นอกจากนี้ต้องการลดต้นตอของปัญหาที่องค์กรสร้างมากกว่าการนำเงินไปชดเชยปัญหาที่สร้าง ซึ่งมี 2 แนวทาง ที่ส่วนใหญ่ทำ คือ 1.การปรับปรุงตัวเอง 2.การซื้อคาร์บอนเครดิต โดยไม่ได้ทำอะไรเลยหรือทำ
กิจกรรมที่อ้างว่านำมาชดเชยได้ ซึ่งอาจถูกตรวจสอบมากขึ้นในอนาคต เพราะกระแสการฟอกเขียวถูกจับตามอง
ขณะที่ปัจจุบันความท้าทายขององค์กรในไทยที่จะก้าวสู่ความยั่งยืนมีอุปสรรคมากมาย โดยความท้าทายในทุกธุรกิจอยู่บนโลกการแข่งขันและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องลงทุน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อหลายองค์กรที่จะต้องดูว่าพร้อมลงทุนหรือไม่ เพราะผลตอบแทนที่ตามมาอาจไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และขึ้นอยู่กับทัศนคติของสังคมที่จะตอบรับเรื่องความยั่งยืนด้วย
“ทุกองค์กรมีที่มาที่ไปของระบบบริหารจัดการที่ต้องปรับตัวเข้ากับหลักเกณฑ์หลายอย่าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปรับวัฒนธรรมการทำงานของคนในองค์กรให้สอดรับระบบใหม่ในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกับผู้บริโภคยุคใหม่ โดยผู้บริโภคตื่นตัวความยั่งยืนและถ้าเชื่อมโยงความรู้สึก รวมถึงการสื่อสารว่าองค์กรกำลังปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นจะทำให้เกิดการตอบสนองของผู้บริโภคมากขึ้น
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคยอมรับการเปลี่ยนแปลง คือ การสร้างความตื่นตัวไม่ว่าประเทศต่างๆ หรือรัฐบาล สหประชาชาติกำหนดเป้าหมายอย่างไรก็ไม่สามารถหยุดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ แต่เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะกระตุ้นความตื่นตัวได้เยอะ และถ้าความรับรู้เกี่ยวกับปัญหารุนแรงขึ้นจะกระตุ้นได้เยอะ
สำหรับไทยตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และวิกฤตการณ์ที่พบว่าโลกยังไม่มีธรรมาภิบาลขาดความซื่อสัตย์ โดยการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ทางธุรกิจตื่นตัวมาก และสังคมนับวันจะตื่นตัวมากขึ้นเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาที่การเมืองยกขึ้นมามากที่สุด
นอกจากนี้ แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโจทย์ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคเอกชนหรือภาครัฐต้องพยายามทำให้ประเทศและสังคมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสหประชาชาติกำหนดหลักเกณฑ์ใหญ่ที่ต้องเริ่มทำ คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม 2.ความรับผิดชอบของสังคม 3.ธรรมาภิบาล โดยทั้ง 3 ด้าน สหพัฒนพิบูลให้ความสำคัญมาตลอด
สำหรับการทำธุรกิจต้องให้สังคมดี ไม่เพียงแต่สินค้าดีแต่สังคมต้องดีด้วย โดยต้องรณรงค์การใช้หลักธรรมาภิบาลไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรหรือนอกองค์กร ซึ่งรณรงค์ความซื่อสัตย์การไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เช่น โครงการสหพัฒนพิบูลย์ให้น้อง ที่สนับสนุนเด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีและมีความซื่อสัตย์ รวมทั้งมีอีกหลายโครงการ อาทิ
Green PLEASE by SPC ส่งเสริมให้พนักงานนำขวดพลาสติก ขวดขุ่นกระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม กล่องอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก นำมาแลกเพื่อรับคูปองลุ้นรับรางวัล ของสมนาคุณ สินค้าอุปโภค บริโภค หรือของพรีเมียม ซึ่งปี 2567 ปริมาณขยะที่บริหารจัดการรวม 1,053.70 กิโลกรัม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 1,017.45 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 113 ต้น
Drop-off Station แยกก่อนทิ้ง Recycle Station จุดแยกขยะภายในบริษัท ตู้ที่นำมาตกแต่งคือ วัสดุทดแทนไม้ ที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องนม ถังขยะแยกประเภทชัดเจน เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป การแยกขยะที่ถูกต้องไม่เพียงลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้ง แต่เพิ่มประสิทธิภาพการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
รวมทั้งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากความร่วมมือของพนักงานทุกคน โดยปลูกฝังพนักงานคัดแยกขยะอินทรีย์เป็นระบบเพื่อทำปุ๋ยการเกษตร ซึ่งการคัดแยกขยะอินทรีย์ช่วยลดปริมาณขยะ และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนแคมเปญ SPC Zero #GoGrowGreen กิจกรรมปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งเน้นฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งมุ่งเน้นให้พนักงานในองค์กรมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตามหลัก ESG
สำหรับเป้าหมายของสหพัฒนพิบูลด้านความยั่งยืน ในปัจจุบันสำรวจร่องรอยคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อสำรวจการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และปรับปรุงด้านพลังงาน การขนส่งและการผลิตสินค้า ควบคู่กระตุ้นให้องค์กรปรับปรุงสินค้าและการทำงานให้ยั่งยืนขึ้น
รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับธรรมาภิบาล เช่น ความโปร่งใสเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้การรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บแม่นยำและเร็วขึ้นนำไปสู่การเปิดเผยที่โปรงใส รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากรและลดความผิดพลาด ซึ่งจะเกิดความคุ้มทุนมากขึ้นและมีความยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต