“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”

“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”

กล่องเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่สามารถนำกลับไปเข้าสู่รายผลิตได้ เนื่องจากมีการพิมพ์ฉลากไว้แล้ว  เพราะฉะนั้น จะขายเป็นราคาขยะที่ราคาถูกมาก

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน
  • Enviro Board ไม้อัดรักษ์โลก ที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นแผ่นไม้อัด ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง คงทน กันเสียงได้ดี ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย
  • ธุรกิจที่ยั่งยืน ควรสมดุลหลายๆภาคส่วน ทั้งด้านผลประกอบการ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในกระบวนการทุกกลุ่มควรได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

กล่องเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่สามารถนำกลับไปเข้าสู่รายผลิตได้ เนื่องจากมีการพิมพ์ฉลากไว้แล้ว  เพราะฉะนั้น จะขายเป็นราคาขยะที่ราคาถูกมาก และในแต่ละปี มีกล่องเครื่องดื่มที่ต้องกลายเป็นขยะ เพราะไม่ผ่านมาตรฐานการผลิต จำนวนมากถึง 100 ตัน

ด้วยความคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษมาเป็นเวลานาน “บริษัท เอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด” ธุรกิจครอบครัว ภายใต้การนำของคุณพ่อ จึงได้พยายามหาหนทางนำกล่องจำนวนมหาศาลเหล่านี้ กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ "Enviro Board หรือ ไม้เทียมจากกล่องเครื่องดื่ม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ต่างเจนเส้นทาง EnviroBoard รีไซเคิลในชีวิตประจำวัน

ชวนผู้ป่วยเบาหวาน 'เช็ก ถอด ทิ้ง' คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน

จุดเริ่มต้น "ไม้เทียมจากขยะ"

“ธนัชพร พิทักษากร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รีแมท โซลูชั่น จำกัด ผู้ประกอบการ SMEต่อยอดจากบริษัทของครอบครัว เล่าว่าบริษัทของครอบครัวมีการดำเนินเกี่ยวกับธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษมาหลายสิบปี ซึ่งจะเป็นกระดาษที่เหลือปลายม้วน หนังสือพิมพ์ ซึ่งคุณพ่อให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของรีไซเคิลจึงมองหากระบวนการ และเทคโนโลยี เพื่อทำให้กระดาษเหล่านี้มาใช้ใหม่เข้าสู่รายการผลิต ที่สำคัญเป็นการลดปริมาณขยะจากกระดาษ และนำกระดาษกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์กล่องนมที่มีไม่เหมือนขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก โดยมีวัสดุ 3 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กระดาษ อลูมิเนียม และฟอย แต่ต้องแกะล้างให้สะอาด และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำเป็นแผ่นไม้แทนไม้อัดที่ไม่ต้องผสมกาว หรือผสมสารเคมีเข้าไป ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน และเป็นการลดขยะ ไม่ทำลายโลก

ธนัชพร เล่าต่อว่าประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากเรียนจบเป็นจังหวะที่คุณพ่อเสียชีวิต เราก็ได้สืบทอดกิจการต่อ แต่การทำธุรกิจของคุณพ่อในแบบฉบับครอบครัวอาจจะไม่มีระบบที่ชัดเจน เราก็เปลี่ยนบริษัทใหม่ มีการจัดทำระบบใหม่ และมุ่งเน้นเรื่องการผลิต Enviro Board ไม้อัดจากกล่องนม เพราะในตลาดไม้อัดมีอัตราการเติบโตค่อนข้างมาก มีโอกาสในตลาดสูง ซึ่ง Enviro Board จะเป็นไม้อัดทางเลือกสำหรับคนที่สนใจสินค้ารักษ์โลก ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายสุขภาพของผู้ใช้งาน  

“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”

Enviro Board แผ่นไม้อัดช่วยโลก

“ธนัชพร” กล่าวต่อว่าEnviro Board คอมโพสิตบอร์ด วัสดุทดแทนไม้ จะเป็นไม้เทียมจากกล่องเครื่องดื่ม สำหรับใช้ทดแทนไม้ ด้วยการกล่องนม 100% ไม่มีสารเคมี เพราะกว่าจะนำมาสู่รายการผลิตนั้นจะต้องมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อผ่านเทคโนโลยีการผลิตเกิดเป็นคอมโพสิตบอร์ด และแผ่นไม้อัดที่สามารถใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพราะฉะนั้น Enviro Board  จึงไม่ใช่เพียงสินค้ารีไซเคิล สินค้ารักษ์โลก แต่เราเติมไอเดีย คุณภาพของตัววัสดุที่นำมากลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคงทน หลากหลาย

“Enviro Board ไม้อัดรักษ์โลก ที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นแผ่นไม้อัด ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง คงทน กันเสียงได้ดี ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย ทั้งใช้เป็นไม้แบบในการก่อสร้าง งานตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ และเคาเตอร์บาร์ ในกระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมี จึงปลอดภัยต่อพนักงานและผู้ใช้สินค้า สอดคล้องกับแนวคิดการทำธุรกิจของบริษัท ที่ต้องการสร้าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และรักษโลกควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจ”ธนัชพร กล่าว

“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”

ธุรกิจรีไซเคิล เติบโตสูง

“ธุรกิจรีไซเคิล” ถือเป็นธุรกิจที่เป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และจำนวนประชากรในประเทศเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความต้องการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุในการเกิดขยะมูลฝอยจำนวนมาก

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 5 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน

ธนัชพร เล่าอีกว่าขณะนี้ผู้คนให้สนใจสินค้ารักษ์โลกมากขึ้น ทำให้ธุรกิจรีไซเคิลมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง แต่การเติบโตของธุรกิจ SME นั้น อาจจะถูกจำกัดด้วยเงินทุน เพราะการสร้างสรรค์ ผลิตสินค้ารีไซเคิล หรือแปลงขยะให้กลายสินค้านั้นต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย ทั้งการจัดเก็บ การล้าง การคัดแยก รวมถึงการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องมีการเติมไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อต้นทุนสูงราคาก็มักจะสูง อาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม

“ ธุรกิจที่ยั่งยืน ควรสมดุลหลายๆภาคส่วน ทั้งด้านผลประกอบการ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในกระบวนการทุกกลุ่มควรได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ธุรกิจรักษ์โลกแม้จะมีต้นทุนที่สูงแต่มีความคุ้มค่าอย่างมาก เพราะช่วยโลกของเราให้น่าอยู่ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี Enviro Board ไม้อัดรักษ์โลก ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ถูกลง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกร่วมกัน” ธนัชพร กล่าวทิ้งท้าย

“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”

โอกาสและความท้าทายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิล

การดำเนินธุรกิจต่างๆ ย่อมมีทั้งโอกาสและอุปสรรค ผู้ประกอบการควรศึกษาและวิเคราะห์ภาพรวมของ ธุรกิจรีไซเคิล ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์และให้ข้อมูลตามรายละเอียด ดังนี้  1.โอกาส เนื่องจากขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคภายในประเทศมีความต้องการใช้ในชีวิตประจำวันในระดับสูง ทำให้ปริมาณขยะรีไซเคิลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงมีโอกาสที่จะนำขยะมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้มากเช่นเดียวกัน 

นอกจากนั้น ยังใช้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างต่ำ  และยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสอนุรักษ์นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และรัฐบาลยังให้การสนับสนุนธุรกิจรีไซเคิล โดยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่เกี่ยวกับกิจการรีไซเคิล ในกรณีคัดแยกจะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร หากเป็นกิจการที่อยู่ในกรณีคัดแยกที่มีกระบวนการแปรรูปเพิ่มเติมหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก จะได้รับยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

ส่วนอุปสรรคนั้น ด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีเงินทุนและความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการรีไซเคิล ทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลเกิดการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้ง ระบบจัดการขยะในประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในการคัดแยกประเภทขยะรีไซเคิลก่อนนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

รวมถึงยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากพอที่จะคัดแยกประเภทขยะได้ดีกว่าทรัพยากรบุคคล ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก และปัจจุบัน มีขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อยู่ 6 ประเภท ได้แก่ กระดาษ เหล็กหรือโลหะ แก้ว พลาสติกอะลูมิเนียม และยาง

“Enviro Board” ไม้เทียมรักษ์โลก เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “แผ่นไม้อัด”