‘ความขาดแคลนน้ำ’ จุดชนวนความขัดแย้งทั่วโลก

‘ความขาดแคลนน้ำ’  จุดชนวนความขัดแย้งทั่วโลก

นักวิจัยพบ "ปัญหาขาดแคลนน้ำ" โดยเฉพาะตามลุ่มแม่น้ำพรมแดน เป็นชนวนที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ และปัญหานี้ควรได้รับพิจารณาเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดในศตวรรษนี้

ความยั่งยืนของน้ำกลายเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนมากขึ้นของโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) เผยว่า ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 4,000 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างน้อย 1 เดือนใน 1 ปี ขณะที่ข้อมูลของสถาบันทรัพยากรโลกที่เผยแพร่เมื่อปีก่อนเตือนว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกมูลค่า 70 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 31% อาจต้องเผชิญกับความตึงเครียดเรื่องน้ำสูง ภายในปี 2593

ฟรานซิส กัลกาโน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวาในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ผลการวิจัยเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะขาดแคลนน้ำ ภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มความขัดแย้งรุนแรงของโลกที่กำลังร้อนระอุ เตือนว่า

“ทรัพยากรน้ำที่ลดน้อยลงทั่วโลก ควรได้รับการพิจารณาเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดในศตวรรษนี้”

แนวโน้มการเกิดสงครามเกี่ยวกับน้ำ เป็นประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งทุกฝ่ายตั้งแต่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระดับสูง ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญการเมืองเกี่ยวกับน้ำ ต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงเกิดสงครามจากน้ำ

กัลกาโนเผยว่า การกำกับดูแลที่ไม่ดีในพื้นที่เสี่ยงร้ายแรง (โดยเฉพาะตามลุ่มน้ำข้ามพรมแดน) และวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ลง เป็น 2 ปัจจัยเบื้องต้นที่บั่นทอนความสามารถในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับน้ำอย่างสันติและมีประสิทธิภาพ

 

ขาดแคลนน้ำชนวนขัดแย้ง

การแข่งขันเพื่อแย่งชิงน้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่แห้งแล้งและการได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับน้ำมากมายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เมื่อเดือนม.ค.ประชาชนในเมืองหลวงของเม็กซิโกลงถนนประท้วงเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำหลายสัปดาห์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ทางการอิหร่านออกมาเตือนเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า รัฐบาลเตหะราน เมืองและหมู่บ้านมากกว่า 800 แห่ง อยู่ในภาวะเสี่ยงเผชิญแผ่นดินทรุดตัว ด้านมูดี้ส์เรตติ้ง เพิ่งประกาศไม่นานมานี้ว่า ความขาดแคลนน้ำรุนแรงในอินเดียอาจส่งผลกระทบต่อระดับเครดิตของประเทศได้

นอกจากนี้ ความรุนแรงของวิกฤติน้ำทั่วโลกได้รับการย้ำเตือนมาโดยตลอดจากเหตุการณ์ด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ข้อมูลจากคอนโทรลริกส์เมื่อต้นเดือน มิ.ย. พบว่า เหตุการณ์ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับน้ำต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 230% ระหว่างต้นปี 2562 จนถึงพ.ค. 2567 และเตือนว่า แนวโน้มดังกล่าวจะไม่ชะลอตัวลงในอีกสองสามเดือนข้างหน้า

อนึ่ง เหตุการณ์ความมั่นคงดังกล่าว นับรวมการประท้วงและเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำหรือปัญหามลพิษ

 

ลุ่มน้ำที่น่ากังวล

จากการศึกษาของกัลกาโน พบลุ่มน้ำนานาชาติ 9 แห่ง เป็นชนวนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งรวมทั้งลุ่มแม่น้ำไนล์ในแอฟริกา, ลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส ทางตะวันเฉียงใต้ของเอเชีย และแม่น้ำเฮลมันด์-ฮาริรุด ตามพรมแดนอัฟกานิสถานและอิหร่าน

กัลกาโนยกตัวอย่างถึงความขัดแย้งในลุ่มแม่น้ำไนล์ โดยระบุว่า หลายประเทศริมแม่น้ำแห่งนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเขื่อนที่มีข้อพิพาทมาเป็นเวลานานได้

อียิปต์และเอธิโอเปียตกอยู่ภายใต้ข้อพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ในแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำไลน์มานานหลายปีฝ่ายอียิปต์กังวลว่า เขื่อนแกรนด์เอธิโอเปียนเรเนซองส์ (Grand Ethiopian Renaissance Dam:GERD) จะส่งผลร้ายแรงต่อปริมาณน้ำของอียิปต์ และการชลประทานเพื่อจ่ายน้ำลงสู่ปลายน้ำ ทั้งยังมีความกังวลอย่างต่อเนื่องว่าสถานการณ์อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์มิดเดิลอีสต์มอนิเตอร์ เผยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ว่า การเจรจาเกี่ยวกับเขื่อนดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายอียิปต์ย้ำว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้มาตรการที่จำเป็นตามกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดสงครามแย่งชิงน้ำ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติจึงได้เผยแพร่ 7 แนวทางสำคัญเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ และระดับบุคคลสามารถปฏิบัติตามได้ เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนน้ำ

แนวทางทั้ง 7 ได้แก่

1.ออกมาตรการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ

2.ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ

3.แก้ไขปัญหาน้ำรั่วตามโครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือน

4.ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ไม่ใช่แหล่งปกติเช่น การบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่

5.ติดตามคุณภาพน้ำ

6.ผสมผสานการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาดร่วมกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ

7. นำแนวทางบูรณาการมาใช้ในการตัดสินใจ