16 ก.ย. วันโอโซนโลก "หลุมโอโซนแอนตาร์กติก" จะฟื้นตัวในปี 2066 หรือไม่?
โอโซนช่วยป้องกันรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจก และโอโซนยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ทั้งนี้พิธีสารมอนทรีออลมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชั้นโอโซนจากสารเคมีที่ทำลาย เช่น CFCs หนึ่งสาเหตุของหลุมโอโซนขั้วโลกใต้ โดย UNEP ตั้งเป้าฟื้นในปี 2066
วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็นวันโอโซนโลก (World Ozone Day) ซึ่งในปี 2024 นี้มีการจัดกิจกรรมทั่วโลกเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องชั้นโอโซน เพราะโอโซนช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
โดยธีมของวันโอโซนโลกปีนี้ คือ "Montreal Protocol: Climate Actions" เน้นถึงบทบาทสำคัญของพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนจากสารเคมีที่ทำลายโอโซน เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคลอรีนหรือโบรมีน
พิธีสารมอนทรีออล
พิธีสารมอนทรีออลถูกลงนามเมื่อวันที่ 16 กันยายน 1987 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1989 โดยปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการปกป้องชั้นโอโซน และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างความก้าวหน้าของพิธีสารนี้ มีดังนี้
1. การฟื้นตัวของชั้นโอโซน : พิธีสารประสบความสำเร็จในการยุติการใช้สารทำลายชั้นโอโซนเกือบ 99% ทำให้ชั้นโอโซนฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และชั้นโอโซนคาดว่าจะกลับสู่ระดับปี 1980 ภายในปี 2040 โดยหลุมโอโซนแอนตาร์กติกจะฟื้นตัวประมาณปี 2066
2. การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : พิธีสารมีส่วนช่วยในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการลดศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของสารทำลายชั้นโอโซน การแก้ไขเพิ่มเติมคิกาลี (Kigali Amendment) ในปี 2016 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 โดยประเทศที่เข้าร่วมจะต้องลดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง HFCs เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง โดยการแก้ไขนี้คาดว่าจะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.5°C ภายในปี 2100
3. ประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม : การลดสารทำลายชั้นโอโซนได้ลดการสัมผัสของมนุษย์ต่อรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก และยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ
4. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : พิธีสารได้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่เริ่มต้น
พิธีสารมอนทรีออลถูกยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่สามารถทำได้เมื่อประเทศต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน
หลุมโอโซนขั้วโลกใต้
Antarctic Ozone Hole คือ บริเวณในชั้นบรรยากาศโอโซนที่มีความเข้มข้นของโอโซนลดลงอย่างมาก สาเหตุหลักคือ CFCs และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคลอรีนและโบรมีน เมื่อสารเหล่านี้ถูกปล่อยขึ้นไปในบรรยากาศ พวกมันจะทำลายโมเลกุลโอโซน ทำให้ชั้นโอโซนบางล' โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้ (กันยายน-พฤศจิกายน) หลุมโอโซนนี้เกิดขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์กติกาและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงปี 1980
ณ เดือนกันยายน 2024 รูโอโซนแอนตาร์กติกมีขนาดประมาณ 8.9 ล้านตารางไมล์ (ประมาณ 23.1 ล้านตารางกิโลเมตร) ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับทวีปอเมริกาเหนือ
หลุมโอโซนแอนตาร์กติกฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปี 1980 ประมาณปี 2066 และส่วนที่เหลือของโลกภายในปี 2040 การฟื้นตัวนี้จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากความสำเร็จของพิธีสารมอนทรีออล
ผลกระทบของสาร CFCs และ HCFCs ในไทย
ในปี 1992 ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล เพื่อยุติการใช้สาร CFCs ที่ทำลายชั้นโอโซน อย่างไรก็ตาม การใช้สาร HCFCs ที่นำมาแทนที่สาร CFCs กลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงตั้งเป้าลดการใช้สาร HCFCs
จากข้อมูลของ World Bank เมื่อปี 2020 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่อันดับสองของโลก ผลิตเครื่องปรับอากาศประมาณ 16 ล้านเครื่องต่อปี โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องปรับอากาศถูกส่งออก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งใน 10 ผู้นำเข้าและผู้บริโภคสารเคมีไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) รายใหญ่ที่สุด โดยนำเข้ามากกว่า 18,000 เมตริกตันในปี 2012
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการเลิกใช้สาร HCFCs ตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ด้วยได้รับการสนุนสนุนจาก World Bank ดังนี้
1. การสนับสนุนทางการเงิน : นับตั้งแต่ปี 1994 ประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารโลก เพื่อการสนับสนุนเพื่อเลิกใช้สารเคมี CFC และ HCFC ด้วยการสนับสนุนของธนาคารโลก ตั้งเป้าให้ไทยลดการนำเข้าและการใช้ HCFCs ให้ได้มากกว่า 60% ภายในปี 2023 และยุติการใช้ HCFC อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030
2. ความสำเร็จในการเลิกใช้ : ระยะแรกยุติการใช้ HCFCs ในภาคการผลิตเครื่องปรับอากาศของประเทศไทย และระยะที่สองมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือช่างเทคนิคด้านการทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศในการบำรุงรักษาและติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อโอโซนและสภาพภูมิอากาศ
3. มาตรการทางกฎหมาย : ประเทศไทยได้ดำเนินการห้ามหลายประการเพื่อให้แน่ใจว่าการลด HCFCs จะยั่งยืน เช่น มีการห้ามใช้ HCFC-22 ในการผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีความสามารถในการทำความเย็น 50,000 BTU/hr หรือต่ำกว่า นอกจากนี้ การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้ HCFC-22 ที่มีความสามารถในการทำความเย็นต่ำกว่า 50,000 BTU/hr ถูกห้ามตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2018
4. การสร้างความตระหนักและการฝึกอบรม : โครงการยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการฝึกอบรมทักษะให้กับหน่วยงานรัฐบาลและช่างเทคนิค
ธนาคารโลกได้ร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 1994 เพื่อช่วยลดการใช้สารทำลายโอโซนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำความเย็น การปรับอากาศ การผลิตโฟม การผลิตสเปรย์ และสารหน่วงไฟ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 38.21 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณ 8.1 ล้านคันออกจากถนน หรือการปิดการปล่อยก๊าซจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 10 แห่ง
ทั้งนี้ เป้าหมายการเลิกใช้ HCFC ได้สร้างความท้าทายให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศหลายราย โดบเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมโฟมฉนวนประเภทต่าง ๆ
อ้างอิง: UNEP, Ozone Watch, World Bank