จุปาก…Green Hushing การปกปิดสีเขียว โรคระบาดเงียบในความยั่งยืนขององค์กร
Green Hushing กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบหรือถูกวิจารณ์ พบว่าบริษัทในไทยปกปิดข้อมูลในบางรูปแบบ ขณะที่รัฐเท็กซัสห้ามหน่วยงานท้องถิ่นทำธุรกิจกับบริษัทการเงินที่พิจารณา ESG สิ่งนี้กัดกร่อนการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหา Climate Change
Green Hushing (การปกปิดข้อมูลสีเขียว) กำลังได้รับความสนใจในวงการสิ่งแวดล้อมและธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นปัญหาสำคัญในความยั่งยืนขององค์กร โดย Green Hushing คือการที่บริษัทต่าง ๆ จงใจรายงานน้อยหรือไม่เผยแพร่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งการปฏิบัตินี้เป็นบ่อนทำลายความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
องค์กรต่างๆ รวมถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังต่อต้านเรื่อง Green Hushing โดยล่าสุด UN ได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจและภาครัฐแต่ละประเทศ ประกาศต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ฟอกเขียว VS ปกปิดข้อมูลสีเขียว
การฟอกเขียว (Greenwashing) และการปกปิดข้อมูลสีเขียว (Green Hushing) เป็นสองแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ก็เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของบริษัทเกี่ยวกับความพยายามด้านสิ่งแวดล้อม
การฟอกเขียว
- การกล่าวเกินจริง หรือโฆษณาเท็จ เกี่ยวกับการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดูเหมือนทำเพื่อความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นจริง
- ใช้การอ้างสิทธิ์ที่ทำให้เข้าใจผิด ใช้คำที่คลุมเครือ หรือการตลาดที่หลอกลวง เพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคว่าสินค้าหรือบริการของตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่าง: บริษัทอาจอ้างว่าสินค้าของตน “เป็นธรรมชาติ 100%” โดยไม่มีหลักฐานหรือการรับรองที่ชัดเจน
การปกปิดข้อมูลสีเขียว:
- การสื่อสารน้อยเกินไปหรือหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ ความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง บริษัททำเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ การวิจารณ์ หรือการตอบโต้สำหรับการไม่บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ตัวอย่าง: บริษัทอาจมีการปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่งแต่เลือกที่จะไม่เน้นย้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าฟอกเขียว หรือเพื่อรักษาโปรไฟล์
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทางนี้สามารถขัดขวางความก้าวหน้าที่แท้จริงต่อความยั่งยืนได้ การฟอกเขียวทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและทำลายความไว้วางใจ ในขณะที่การปิดบังเขียวลดความโปร่งใสและอาจชะลอการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
แนวโน้ม Green Hushing
รายงานของ South Pole ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ พบว่า หลายบริษัทพยายามหลีกเลี่ยงการตอบโต้เรื่องความยั่งยืน โดยเกือบหนึ่งในสี่ของบริษัท 1,200 แห่งที่สำรวจ ไม่วางแผนที่จะเผยแพร่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Emissions Targets) ที่ถือว่าจำเป็นในการช่วยลดผลกระทบที่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ยุคใหม่ของ “การเงียบเสียงสีเขียว” อาจบ่งบอกถึงการขาดความก้าวหน้า
บริษัทในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากมีการปกปิดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และเกือบ 70% ของบริษัททั่วโลกที่มีความคิดด้านความยั่งยืนกำลังซ่อนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ
แต่อย่างไรก็ตามบริษัทในสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มที่จะปกปิดข้อมูลน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศอื่น ๆ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) ซึ่งพิจารณาบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทบางส่วนที่ไม่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนหรือไม่เปิดเผยเลย ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขาดความเข้าใจในความสำคัญของข้อมูล ESG หรือขาดทรัพยากรในการจัดทำรายงาน
สถิตินี้เหล่านี้เน้นให้เห็นถึงการแพร่หลายของ Green Hushing ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ควรเน้นย้ำการสื่อสารอย่างซื่อสัตย์ และการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ในความพยายามด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งการแก้ไขปัญหา Green Hushing เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันไทยเปิดเผยข้อมูล
เมื่อไม่นานนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ FTSE Russell (ฟุตซี่ รัสเซล) ของตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG) เพื่อนำกรอบการให้คะแนนความยั่งยืนใหม่มาใช้กับบริษัทจดทะเบียนของไทย
เน้นการประเมิน ESG จากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะ (Public Disclosures) ซึ่งเป็น Methodology ที่ใช้ประเมินกว่า 8,000 หลักทรัพย์ทั่วโลก แตกต่างจากเมื่อก่อนที่รอความสมัครใจจากภาคธุรกิจในการยื่นรายงานเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยในงานแถลงข่าวความร่วมมือกับ FTSE Russell ว่า ที่ผ่านมา พยายามยกระดับมาตรฐาน ESG มาโดยตลอด ทั้งการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ เปิดเผยข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งการจัดเรตติ้งเพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งก็มีพัฒนาการมากขึ้น โดยมีบริษัทเข้ารับการประเมิน 192 บริษัท แต่หากเทียบกับภาพรวมที่มีบริษัทจดทะเบียนเกือบ 900 บริษัท ยังถือว่าไม่มากนัก
ดังนั้น การจะรอความสมัครใจจากภาคธุรกิจให้เปิดเผยข้อมูลอาจไม่ตอบโจทย์ SET จึงต้องปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐาน FTSE Russell โดยเริ่มโครงการประเมินนำร่องในปี 2567-2568 เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัวและเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะดำเนินการประเมินและประกาศผลคะแนนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ตัวอย่าง Green Hushing ที่น่าสนใจ
กรณีศึกษาสหรัฐอเมริกา: รัฐเท็กซัสมีกฎหมายที่ห้ามหน่วยงานท้องถิ่นทำธุรกิจกับบริษัทการเงินที่พิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ในการตัดสินใจลงทุน จึงทำให้บริษัทจำนวนมากเลือกที่จะไม่เปิดเผยเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเงิน การดำเนินการนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของรัฐ
เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจนี้ ได้แก่:
1. รัฐเท็กซัสสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล: เท็กซัสเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าวว่า นโยบาย ESG ทำให้เกิดการลดการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของรัฐ
2. จุดยืนทางการเมือง: ผู้ร่างกฎหมายพรรครีพับลิกันหลายคนมองว่านโยบาย ESG เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นวาระ "Woke" ให้กว้างขึ้น (คือการตื่นตัวทำดี และดูถูกคนที่ไม่ Woke ว่าไม่มีจริยธรรม) ซึ่งกำหนดมุมมองทางสังคมและการเมืองต่อธุรกิจของรัฐ พวกเขาเชื่อว่าการตัดสินใจทางการเงินควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ใช่การพิจารณาทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: โดยการจำกัดสัญญากับธนาคารที่นำเอานโยบาย ESG มาใช้ เท็กซัสมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการทำธุรกรรมทางการเงินของรัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิลและอาวุธปืน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายของรัฐเท็กซัสนำไปสู่ผลกระทบทางการเงินที่สำคัญ โดยในปี 2021 ได้มีคดีความเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้าน ESG ของรัฐเท็กซัส โดยกลุ่มธุรกิจหัวก้าวหน้าได้ฟ้องร้องรัฐเท็กซัสที่จำกัดการลงทุนของรัฐในบริษัทที่ “คว่ำบาตร” อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกฎหมายนี้รู้จักกันในชื่อ Senate Bill 13
กรณีศึกษายุโรป: รายงานจาก South Pole พบว่าเกือบหนึ่งในสี่ของบริษัทที่มีหัวหน้าด้านความยั่งยืนไม่เปิดเผยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในเบลเยียมที่มีอัตราสูงถึง 41% ของบริษัทที่มีเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้
กรณีศึกษาอังกฤษ: บริษัทท่องเที่ยวขนาดเล็กในอุทยานแห่งชาติ Peak District ของอังกฤษสื่อสารเพียง 30% ของการดำเนินการด้านความยั่งยืนของตนเอง เนื่องจากกลัวว่าการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือข้อมูลด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมจะทำให้ลูกค้าเชื่อว่าประสบการณ์การท่องเที่ยวจะไม่ดีเท่าที่ควร
ผลกระทบของการปกปิดสีเขียว
Green Hushing ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด แต่ยังขัดขวางความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนทั่วโลก
เมื่อบริษัทต่างๆ รายงานเกี่ยวกับความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมของตนน้อยกว่าที่ควร ก็จะกลายเป็นเรื่องยากที่จะวัดและเปรียบเทียบความก้าวหน้าข้ามอุตสาหกรรม
การขาดความโปร่งใสนี้สามารถกัดกร่อนความไว้วางใจในหมู่ผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งในที่สุดจะขัดขวางการดำเนินการร่วมกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สถิติที่เกี่ยวกับ Green Washing
ขณะที่เรื่อง Green Washing ก็ทีสถิติที่น่าสนใจ โดยจากการสำรวจของ Fast Company ได้เผยให้เห็นแนวโน้มที่น่าตกใจในเรื่องการฟอเขียว โดยได้ศึกษาผู้บริหาร 1,491 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก พบว่า
- 58% ของซีอีโอและผู้นำระดับสูงยอมรับว่าบริษัทของตนมีพฤติกรรมฟอกเขียว
- ในสหรัฐอเมริกา 68% ของผู้บริหารยอมรับว่าบริษัทของตนมีความผิดในการฟอกเขียว
- ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก 2 ใน 3 ตั้งคำถามว่า ความพยายามด้านความยั่งยืนของบริษัทตัวเองเป็นเรื่องจริงหรือไม่
- 42% ของการอ้างสิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ขององค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะหลอกลวงหรือเป็นเท็จ สถิตินี้เน้นให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้บริโภคต้องเผชิญในการแยกแยะความพยายามด้านความยั่งยืนที่แท้จริงจากกลยุทธ์การตลาด
กรณีศึกษา Green Washing
กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสายการบินในสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2023 มีสายการบินหลายแห่งต้องเผชิญกับการฟ้องร้องเนื่องจากบริษัทเหล่านี้อ้างสิทธิ์ด้านความยั่งยืนที่ไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ
การฟ้องร้องมุ่งเน้นไปที่ประเด็น การซื้อเครดิตคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งโจทก์อ้างว่าข้อมูลที่เผยแพร่ชองสายการบินเหล่านี้ไม่เท่ากับความพยายามด้านความยั่งยืนที่แท้จริง
ตัวอย่างเช่น สายการบินใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เผยว่ากำลังจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 แต่การสืบสวนพบว่าแผนของสายการบินนี้พึ่งพาการชดเชยคาร์บอนอย่างมากกว่าการลดการปล่อยก๊าซจริง ความไม่ตรงกันนี้นำไปสู่การกล่าวหาว่าบริษัทกำลังฟอกเขียว
ก้าวไปข้างหน้าด้วยความโปร่งใส
เพื่อแก้ไขปัญหาการปกปิดสีเขียว บริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการรายงานความยั่งยืนของตน ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรวจสอบได้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศควรมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้มาตรฐานและรับรองว่าบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถซ่อนข้อมูล ESG ได้
ขณะที่ผู้บริโภค การรับรู้และวิจารณ์การอ้างสิทธิ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ ควรเรียกร้องความโปร่งใสและสนับสนุนบริษัทที่มีความรับผิดชอบ เพื่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงและมีผลกระทบมากขึ้นร่วมกัน
ที่มา: Fast Company, World Economic Forum, Zippia, The Texas Tribune, SET