เปิดอันดับ 10 ประเทศ มีคะแนนความยั่งยืน SDGs สูงสุด ไทยติดอันดับ 45 ของโลก

เปิดอันดับ 10 ประเทศ มีคะแนนความยั่งยืน SDGs สูงสุด ไทยติดอันดับ 45 ของโลก

เปิดอันดับ 10 ประเทศ มีคะแนนความยั่งยืน SDGs สูงสุด อันดับ 1 คือ ฟินแลนด์ ส่วนไทยอันดับ 45 ของโลก ปัจจุบันมีเพียง 17% ของเป้าหมาย SDG เท่านั้นที่เป็นไปตามแผน โดยเกือบครึ่งหนึ่งมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง และมากกว่าหนึ่งในสามหยุดชะงักหรือถดถอย

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ

โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งหวังให้นานาประเทศบรรลุภายในปี ค.ศ.2030

ทั้งนี้ รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2024 ได้จัดอันดับผลการดำเนินงานโดยรวมของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ ตามความคืบหน้าอ้างอิงจากคะแนนรวม โดยมีคะแนนรวมเต็ม 100 คะแนน โดยแหล่งที่มาของข้อมูลสำหรับตัวบ่งชี้รวบรวมจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก

10 ประเทศที่มีคะแนน SDGs สูงสุดปี 2024

อันดับ 1 ฟินแลนด์ คะแนนรวม 86.35

อันดับ 2 สวีเดน คะแนนรวม 85.70

อันดับ 3 เดนมาร์ก คะแนนรวม 85.00

อันดับ 4. เยอรมนี คะแนนรวม 83.45

อันดับ 5 ฝรั่งเศส คะแนนรวม 82.76

อันดับ 6 ออสเตรีย คะแนนรวม 82.55

อันดับ 7 นอร์เวย์ คะแนนรวม 82.23

อันดับ 8 โครเอเชีย คะแนนรวม 82.19

อันดับ 9 สหราชอาณาจักร คะแนนรวม 82.16

อันดับ 10 โปแลนด์ คะแนนรวม 81.69

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 45 ของโลก ด้วยคะแนนรวม 74.67

ส่องความสำเร็จฟินแลนด์

ที่ผ่านมาฟินแลนด์เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และในปี 2024 ฟินแลนด์ก็ครองอันดับหนึ่งของโลก โดยมีความคืบหน้าในหลายประเด็น เช่น

1. ประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งด้าน SDGs: ฟินแลนด์โดดเด่นในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) น้ำสะอาด และสุขาภิบาล (SDG 6) และพลังงานสะอาด และราคาไม่แพง

2. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์: ฟินแลนด์ออกแบบนโยบายที่สร้างสรรค์เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) และปกป้องชีวิตบนผืนดิน (SDG 15) เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน และความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน

3. ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม: ฟินแลนด์อยู่ในอันดับต้น ๆ ในมิติทางสังคม เช่น ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง (SDG 10) และสุขภาพ และความเป็นอยู่ในสังคมดีขึ้นต่อเนื่อง (SDG 3) มีนโยบายทางสังคมที่ทำให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี

4. ความเป็นผู้นำระดับโลก: ความมุ่งมั่นของฟินแลนด์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง

5. นโยบายที่ครอบคลุม: ฟินแลนด์มีนโยบาย และโครงการที่มีประสิทธิผล ตั้งแต่สวัสดิการสังคม และการศึกษา ไปจนถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจ

6. ระดับความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนที่สูง: สังคมฟินแลนด์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืน โดยมีการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างแข็งแกร่ง

7. นวัตกรรม และเทคโนโลยี: ฟินแลนด์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ

8. ความพยายามร่วมกัน: รัฐบาลฟินแลนด์ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs

ความคืบหน้าของไทย

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยในปี 2024 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก โดยมีความคืบหน้าในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

1. การศึกษาและสุขภาพ: ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านการศึกษา (SDG 4) และสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) โดยมีนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ

2. พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ประเทศไทยมีการลงทุนในพลังงานสะอาด (SDG 7) และมีมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (SDG 13) โดยมีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน

3. การลดความเหลื่อมล้ำ: ประเทศไทยมีความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) โดยมีนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาส และการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับทุกคน

4. ความร่วมมือระหว่างประเทศ: ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 17) โดยมีการเข้าร่วมในโครงการ และความร่วมมือระดับภูมิภาค และระดับโลก

ความท้าทายที่ทำให้ SDGs อาจจะไม่บรรลุในปี 2030

รายงาน SDGs เน้นย้ำว่าแม้ว่าหลายประเทศจะประสบความก้าวหน้า แต่ยังคงมีความท้าทายที่สำคัญอยู่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนได้แสดงความกังวลว่า SDGs อาจจะไม่สามารถบรรลุตามระยะเวลาที่กำหนดด้วยสาเหตุ ดังนี้

  • ความคืบหน้าที่ล่าช้า: ปัจจุบันมีเพียง 17% ของเป้าหมาย SDG เท่านั้นที่เป็นไปตามแผน เกือบครึ่งหนึ่งมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง และมากกว่าหนึ่งในสามหยุดชะงักหรือถดถอย
  • ผลกระทบของ COVID-19: ผลกระทบที่ยังคงอยู่ของการระบาดของ COVID-19 ได้ขัดขวางความก้าวหน้าของ SDGs การระบาดใหญ่ทำให้ผู้คนอีก 23 ล้านคน ตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง และเพิ่มความหิวโหยให้กับผู้คนอีกกว่า 100 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2019
  • ความขัดแย้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์: ความขัดแย้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้สถานการณ์การบรรลุเป้าหมาย SDGs เลวร้ายลง ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต และเกิดสถานการณ์อพยพเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: วิกฤติสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอุณหภูมิโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์ เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง ปี 2023 เป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิใกล้ถึงเกณฑ์วิกฤติ 1.5°C

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์