เงินเลี้ยงบุตร 600 บ. ไม่พอ แนะเพิ่มงบ 7 พันล้าน ช่วยเด็กยากจนตกหล่น 1 ล้านคน

เงินเลี้ยงบุตร 600 บ. ไม่พอ แนะเพิ่มงบ 7 พันล้าน ช่วยเด็กยากจนตกหล่น 1 ล้านคน

ยูนิเซฟและ TDRI ประเทศไทย ร่วมทำวิจัย พบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดของไทยไม่เพียงพอ มีเด็กต้นหล่นกว่า 34% แนะนำเพิ่มงบ เป็น 23,000 ล้านบาท ย้ำรัฐบาลมีงบฯเพียงพอที่จะทำได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง

ประชากรกลุ่มเด็กในหลาย ๆ ประเทศมักเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในความยากจน ในประเทศไทยก็เช่นกัน ในปี 2565 พบว่า อัตราความยากจนของเด็กอายุ 0–6 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ในขณะที่อัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อย ละ 5.4 มีการพิสูจน์ได้ว่าโครงการความคุ้มครองทางสังคมที่ให้สิทธิประโยชน์กับเด็กและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับครอบครัวในรูปแบบตัวเงินสามารถช่วยลดอัตราความยากจนลงได้

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (Child Support Grant: CSG) โดยเริ่มดําเนินการในปี 2558 มุ่งเป้าให้เงินอุดหนุนแก่เด็กในครัวเรือนที่มีฐานะยากจน เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพและมีพัฒนาการสมวัย

ในระหว่างนั้น รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกําหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นระยะ ๆ โดยล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนในปี 2562 โดยจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุครบ 6 ปี และขยายฐานรายได้เฉลี่ยของสมาชิกครัวเรือนเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มีนาคม 2562 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีอัตราเด็กจากครอบครัวยากจนตกหล่นประมาณร้อยละ 30% ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายนโยบายและภาคประชาสังคม จนนําไปสู่การเรียกร้องให้ปรับโครงการเป็นแบบถ้วนหน้าเพื่อขจัดปัญหาการตกหล่นเด็กยากจนนี้ลง

อัตราการตกหล่นร้อยละ 34

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัย หัวข้อ “การประเมินการเข้าถึงเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” เมื่อต้นเดือนกันยายน 2024 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า อัตราการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ ร้อยละ 34 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราที่พบในการศึกษาปี 2562 ทั้งที่มีการปรับเกณฑ์รายได้ขึ้นจาก 36,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น 100,000 บาทต่อคนต่อปี

ในขณะที่เหตุผลยังไม่ทราบชัดว่า ทําไมจึงมีการตกหล่นเพิ่มขึ้น แต่มีความเชื่อในระดับนานาชาติว่า อัตราการตกหล่นที่สูงในโครงการให้ความช่วยเหลือแบบตัวเงิน มักมีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบวิธีการชี้เป้าของกลุ่มเป้าหมายของโครงการ และการตกหล่นมักเกิดขึ้นในกระบวนการคัดกรองสิทธิ์ในโครงการ

งานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เนื่องจากการขยายเกณฑ์รายได้ของครัวเรือนได้ดําเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงสมควรทําการศึกษาอีกครั้งว่าโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังมีการตกหล่นครัวเรือนเป้าหมายหรือไม่ และเป็นจํานวนเท่าใด

ไทยมีงบประมาณพอ ไม่กระทบการคลัง

“เซเวอรีน เลโอนาร์ดี” รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 6 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังมีอัตราการเกิดที่ต่ำและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“การลงทุนในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิตคือการลงทุนที่ดีที่สุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งตามการคาดการณ์ของยูนิเซฟและทีดีอาร์ไอ ประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอที่จะทำได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง

ช่วงหกปีแรกของชีวิตคือโอกาสสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี เรียนรู้เต็มที่ มีอาชีพที่ดี และมีส่วนร่วมในสังคม ในทางกลับกัน การไม่ลงทุนในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศไทยโดยรวมในอนาคต”

งานวิจัยยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เงินอุดหนุนมีประโยชน์มากต่อสุขภาพและโภชนาการของเด็ก แต่เนื่องจากยังมีครอบครัวที่ตกหล่นจำนวนมากประกอบกับจำนวนเงินช่วยเหลือรายเดือนที่น้อย ทำให้โครงการยังไม่สามารถลดความยากจนได้เท่าที่ควร

เงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือนไม่เพียงพอ

“ดร. สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หลักฐานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าปัญหาการตกหล่นเกิดขึ้นเสมอกับโครงการที่เน้นให้สิทธิ์เฉพาะประชากรบางกลุ่ม ซึ่งมักเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการคัดกรองและการลงทะเบียนเพื่อตรวจคุณสมบัติครอบครัวว่าเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์หรือไม่ ข้อมูลจากงานวิจัยใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ยังขาดประสิทธิภาพเนื่องจากยังมีอัตราการตกหล่นที่สูง”

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดริเริ่มขึ้นในปี 2558 และได้ขยายครอบคลุมจำนวนเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มจำนวนเงินที่ได้รับต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การศึกษาชี้ว่า จำนวนเงินอุดหนุนปัจจุบันที่ 600 บาทต่อเดือนยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็ก

เพิ่มงบอีก 7 พันล้านบาท

ดร. สมชัย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยสามารถขจัดปัญหาการตกหล่นได้ด้วยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 7 พันล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี สำหรับเด็กอีก 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กจากครัวเรือนยากจน

จะทำให้งบประมาณทั้งหมดของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของจีดีพี นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ

สวนดุสิตโพลระบุ 81% หนุนเป็นแบบถ้วนหน้า

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพลเมื่อต้นปีนี้พบว่าร้อยละ 81 ของประชาชนในประเทศไทยสนับสนุนการขยายโครงการนี้ให้เป็นแบบถ้วนหน้า เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็ก ช่วยลดความยากจน และช่วยเติมเต็มสิทธิของเด็กทุกคนในการมีวัยเด็กที่มีคุณภาพ

หลักฐานชี้ว่าโครงการนี้มีผลดีต่อโภชนาการของเด็กและการเข้าถึงการดูแลหลังคลอด โดยสามารถส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิตของเด็ก ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยและช่วยให้ประเทศเติบโตและก้าวหน้า การขยายโครงการให้ครอบคลุมเด็กทุกคนถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคนในสังคม สิ่งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม 'การเริ่มต้นชีวิตและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ' สำหรับเด็กทุกคน เพื่อแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและอนาคตของแรงงาน