‘ไมโครพลาสติก’ เข้า ‘สมอง’ ผ่านระบบหายใจ เสี่ยงสมองเสื่อม-มะเร็ง
นักวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกพบในสมองส่วนรับรู้กลิ่นของมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในร่างกายของเรามีพลาสติกขนาดเล็กนี้สะสมอยู่มากกว่าที่คิด
KEY
POINTS
- พบ “ไมโครพลาสติก” อยู่ภายใน “ป่องรับกลิ่น” หรือ ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb) ซึ่งเป็นสมองส่วนรับกลิ่น
- นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ไมโครพลาสติกเข้าสู่สมองได้ผ่านทางระบบรับกลิ่น
- ทำให้เกิดความกังวลว่าไมโครพลาสติกอาจทำให้เกิดความผิดปรกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม ได้
“สมอง” ของคนเรามี “ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง” หรือ BBB (Blood-brain barrier) ทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สารต่าง ๆ ผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อสมอง แต่ดูเหมือนว่า “ไมโครพลาสติก” จะหลุดรอดเข้าไปในสมองได้ผ่านการหายใจ
นักวิจัยพบว่ามีไมโครพลาสติกในสมองส่วนรับรู้กลิ่นของมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในร่างกายของเรามีพลาสติกขนาดเล็กนี้สะสมอยู่มากกว่าที่คิด
ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open เปิดเผยว่าผู้ใหญ่ 8 ใน 15 คนที่ทำการชันสูตรพลิกศพในเยอรมนีและบราซิลมีไมโครพลาสติกอยู่ภายใน “ป่องรับกลิ่น” หรือ ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb) ซึ่งเป็นไปได้ว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้น่าจะเข้าไปอยู่ในร่างกายของผู้เสียชีวิตตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา
ปี 2024 นี้ จะมีงานวิจัยพบไมโครพลาสติกในอวัยวะหลายส่วนของมนุษย์ ทั้งในปอด ลำไส้ ตับ เลือด อัณฑะ และแม้แต่ในอสุจิ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดว่าจะมีไมโครพลาสติกในสมอง เพราะเชื่อว่า BBB จะสามารถป้องกันได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการวิจัยได้เน้นย้ำถึงความอันตรายของอนุภาคที่มีพิษเหล่านี้ที่มีต่อระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้เกิดโรงมะเร็งบางประเภท โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว
นอกจากนี้ การพบไมโครพลาสติกเข้าไปสู่สมองได้ผ่านทางป่องรับกลิ่น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าไมโครพลาสติกอาจทำให้เกิดความผิดปรกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม ได้
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบสมองของผู้เสียชีวิต 15 ราย แบ่งเป็นชาย 12 รายและหญิง 3 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในเซาเปาโลมานานกว่า 5 ปี โดยพบอนุภาคโพลีเมอร์สังเคราะห์และเส้นใย 16 ชิ้น อยู่ในป่องรับกลิ่นของผู้เสียชีวิต 8 ราย โดยพลาสติกที่พบมากที่สุดคือโพลีโพรพีลีน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วใช้ทำเสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์อาหาร และขวด
ที่น่าเป็นห่วงคือ ไมโครพลาสติกที่พบมีขนาดระหว่าง 5.5-26.4 ไมครอน หมายความว่าระดับของนาโนพลาสติก (ขนาเล็กกว่า 10 ไมครอน) สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายกว่าที่เคยคาดไว้มาก
“แผ่นกระดูกพรุน” (Cribriform plate) รูเล็ก ๆ ที่อยู่ในกระดูกบริเวณฐานของกะโหลกศีรษะน่าจะช่องทางที่ทำให้อนุภาคพลาสติกในช่องจมูกเข้าสู่สมองได้ เพราะป่องรับกลิ่นอยู่เหนือแผ่นกระดูกพรุน
ระบบรับกลิ่นเป็นเส้นทางระหว่างจมูกกับสมอง ซึ่งคอยตรวจจับกลิ่นโดยประมวลผลโมเลกุลกลิ่นขนาดเล็กที่ลอยออกมาจากสิ่งของต่าง ๆ เช่น ขนมปังอบหรือช่อดอกไม้ โดยโมเลกุลเหล่านี้จะกระตุ้นเส้นประสาทรับกลิ่น และสมองจะประมวลผลสัญญาณเป็นกลิ่น
ขณะเดียวกันอนุภาคอื่น ๆ ก็สามารถเดินทางเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่ก็เคยพบอะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) สามารถเข้าสู่สมองได้ผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นเช่นกัน ดังนั้นหากอะมีบาที่มีขาดใหญ่กว่าไมโครพลาสติกสามารถผ่านเส้นทางนี้ได้ ไมโครพลาสติกก็อาจผ่านได้เช่นกัน
“การศึกษาครั้งนี้พบว่าเส้นทางการรับกลิ่นเป็นเส้นทางหลักที่อาจทำให้พลาสติกเข้าสู่สมองได้ ซึ่งหมายความว่าการหายใจในสภาพแวดล้อมในร่มอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายได้รับพลาสติก เพราะในบ้านเราเต็มไปด้วยพลาสติก” ศ.ทาอิส มาอิด หัวหน้าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลกล่าว
เนื่องจากมีไมโครพลาสติกอยู่เป็นจำนวนมากในอากาศ ปัจจุบันค้นพบได้ว่ามีไมโครพลาสติกในจมูกและป่องรับกลิ่น ยิ่งตอกย้ำแนวคิดที่ว่าระบบรับกลิ่นเป็นจุดสำคัญที่อนุภาคจากภายนอกเข้าสู่สมอง ดังนั้นเมื่อนาโนพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ระดับของอนุภาคพลาสติกโดยรวมอาจสูงขึ้นมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อนุภาคเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ในร่างกายอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
นักวิจัยกล่าวว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กอาจเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าที่เคยเชื่อกัน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบประสาทที่อาจเกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกในสมอง และการปนเปื้อนของพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย ซึ่งยังคงต้องติดตามต่อไปว่าอนุภาคเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพสมองอย่างไร
การวิจัยนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ศาสตราจารย์ ดร.ลูคัส เคนเนอร์ ได้ค้นพบการมีอยู่ของพลาสติกในร่างกายเมื่อเดือนเมษายน 2024 และพบว่าเซลล์มะเร็งในลำไส้สามารถแพร่กระจายได้ใเร็วขึ้น หลังจากสัมผัสกับไมโครพลาสติก ดังนั้นพลาสติกอาจมีบทบาทสำคัญในการก่อมะเร็งในระยะเริ่มต้น
ปัจจุบัน พลาสติกถูกผลิตขึ้นมากกว่า 500 ล้านตันทุกปีเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกวบรวมรายชื่อสารเคมีมากกว่า 16,000 ชนิดที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์พลาสติก และในขณะเดียวกันก็พบว่าสารเคมีเหล่านี้มากกว่า 4,000 ชนิดเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
เดือนพฤศจิกายน 2024 จะมีการเจรจารอบสุดท้ายเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นที่เกาหลีใต้ นักรณรงค์และนักวิทยาศาสตร์ยังคงกังวลว่าในกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีมาตรการที่กล่าวถึงผลกระทบของมลพิษจากพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างครบถ้วน และจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ที่มา: Euro News, Independent, NBCNews