ข้อเรียกร้องผู้นำรุ่นใหม่ รับมือ 'โลกร้อนวิกฤติ' ผ่านแนวทาง ESG
โลกร้อนวิกฤติ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เรียกร้องผู้นำรุ่นใหม่เตรียมพร้อมรับมือผ่านแนวทาง ESG ซีพีสนับสนุนเยาวชนร่วมเวที One Young World 2024 สะท้อนปัญหาน้ำท่วม-ระบบนิเวศเสื่อมโทรม
ปัญหาภาวะโลกร้อนกลายเป็นภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เรียกร้องให้ผู้นำรุ่นใหม่เร่งตระหนักถึงความรุนแรงของวิกฤตภูมิอากาศ และเสนอแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) ควบคู่กับความยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่ท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้สนับสนุน 20 ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจในเครือ ร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลก One Young World 2024 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่ให้เยาวชนทั่วโลกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตระดับโลก โดยมี 5 ประเด็นสำคัญที่ยกมาหารือ ได้แก่
- เสียงของชนพื้นเมือง (Indigenous Voices)
- วิกฤตภูมิอากาศ (Climate Crisis)
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
- ความเท่าเทียมทางสุขภาพ (Health Equality)
- สันติภาพของโลก (Peace)
ทั้งนี้ โลกถึงจุดพลิกผันที่ไม่อาจย้อนกลับ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ไต้ฝุ่นในเวียดนาม น้ำท่วมในยุโรป และจีนที่เกิดขึ้นพร้อมกัน
นอกจากนี้ เลขาธิการสหประชาชาติยังได้ประกาศว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” ซึ่งส่งผลให้เกิดการปั่นป่วนอย่างต่อเนื่องในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
"โลกได้ก้าวเข้าสู่จุดพลิกผัน (Tipping Point) ที่ไม่สามารถย้อนกลับได้อีกแล้ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรง เช่น ปะการังฟอกขาว และการเสื่อมสภาพของหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
พร้อมเตือนว่าการฟื้นฟูความเสียหายเหล่านี้ต้องใช้เวลายาวนาน หากให้คนทั้งกรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้ ก็ยังไม่สามารถชดเชยการสูญเสียหญ้าทะเล 10,000 ไร่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ เพราะต้นไม้ต้องใช้เวลาถึง 50 ปีในการดูดซับคาร์บอนเท่ากับหญ้าทะเลที่สูญเสียไป
อนาคตที่ต้องเผชิญความท้าทาย ภายในอีก 50 ปีข้างหน้า คนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนจะกลายเป็นทางออกสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต
ผศ.ดร.ธรณ์ ยกตัวอย่างมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้านำเข้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากโลกยังคงเผชิญภัยพิบัติเช่นนี้ ก็จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมอีกในอนาคต
เสียงสะท้อนจากเยาวชน ในประเด็นนี้ นางสาวสิดารัตน์ คะณา หนึ่งในตัวแทนจากซีพีแอ็กซ์ตร้าที่จะเข้าร่วมประชุม One Young World 2024 ได้กล่าวถึงปัญหาทรัพยากรน้ำในประเทศไทยว่า
“ทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เป็นประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ดิฉันหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับผู้นำจากนานาประเทศในการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และนำกลับมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างรุนแรง”
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ตัวแทนเยาวชนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับความรู้ใหม่ ๆ แต่ยังจะสะท้อนปัญหาของประเทศไทย เช่น น้ำท่วมและการเสื่อมสภาพของระบบนิเวศ เพื่อนำไปสู่การหาทางออกในระดับสากลสำหรับการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน