4 วงประชุมสิ่งแวดล้อมของ ‘ยูเอ็น’ ล่มทั้งหมด เกิดคำถามตั้งใจช่วยโลกหรือปาหี่?

4 วงประชุมสิ่งแวดล้อมของ ‘ยูเอ็น’ ล่มทั้งหมด เกิดคำถามตั้งใจช่วยโลกหรือปาหี่?

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงล้มเหลวในการพยายามร่วมมือกันเพื่อช่วยโลกจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง แม้ในปีนี้จะมีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติหลายงานก็ตาม

KEY

POINTS

  • ยูเอ็นจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไข “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ถึง 4 ครั้ง ทั้ง CBD COP16 ที่โคลอมเบีย COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน INC-5 ที่เกาหลีใต้ และ UNCCD COP16 ที่ซาอุดีอาระเบีย ล้วนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาในระดับใหญ่
  • เป็นเพราะการผ่านมติในแต่ละเรื่องทุกประเทศจะต้องเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ 
  • แต่ละประเทศจึงต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง หรือรวมกับประเทศอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ คงไม่ใช่ทั้งโลกที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหานี้ 

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “สหประชาชาติ” จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไข “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ไม่ว่าจะเป็น การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 16 หรือ CBD COP16 ที่โคลอมเบีย การประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศประจำปีของสหประชาชาติ หรือ COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 หรือ INC-5 ที่เกาหลีใต้ เพื่อหารือเกี่ยวกับอนุสัญญาพลาสติกโลก และ รัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16 หรือ UNCCD COP16 ที่ซาอุดีอาระเบีย ล้วนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาในระดับใหญ่

อัลเดน เมเยอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการเจรจาสภาพอากาศ จากกลุ่มวิจัยยุโรป E3G กล่าวว่า “หากคุณไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็แสดงว่าคุณไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น” 

 

วงประชุมที่ล้มเหลว

สำนักข่าวเอพีสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 20 คน และพวกเขากล่าวว่าแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบพหุภาคีล้มเหลว เนื่องจากมีกระบวนการหาฉันทามติที่ยุ่งยาก อีกทั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงมีอำนาจอยู่มาก ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การเจรจาล้มเหลว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีความคืบหน้าเกิดขึ้นเล็ก ๆ น้อย ดำเนินไปได้อย่างติด ๆ ขัด ๆ 

อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาที่น่าหงุดหงิด แต่ก็เป็นโอกาสเดียวที่ ประเทศเล็ก ๆ และยากจน ได้นั่งเจรจากับประเทศร่ำรวยที่มีอำนาจ เธอจึงไม่ถือว่าวงประชุมเหล่านี้ไม่ได้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหประชาชาติจัดประชุมใหญ่ติด ๆ กัน โดยเริ่มจากการประชุม CBD COP16 ในเดือนตุลาคม ที่จบลงแบบไปโดยไม่มีข้อตกลงสำคัญใด ๆ มีเพียงการรับรองชนพื้นเมืองเท่านั้น ถัดมาเป็นการประชุม COP29 บรรลุเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มเงินทุนสำหรับประเทศยากจนเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

ต่อด้วยการ INC-5 ที่หวังว่าจะบรรลุอนุสัญญาพลาสติกโลกได้ หลายประเทศมีข้อเสนอมากมาย แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว ต้องรอประชุมใหม่ปีหน้า และล่าสุด UNCCD COP16 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปหมาด ๆ ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีรับมือกับภัยแล้งได้เช่นกัน

“สามารถสรุปการประชุมพหุภาคีทั้ง 4 ครั้งในปี 2024 ได้ว่าพวกเรายังคงล้มเหลว”
โยฮัน ร็อคสตรอม ผู้อำนวยการสถาบันพ็อทซ์ดัม เพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพอากาศในเยอรมนี กล่าว

ฮวน คาร์ลอส มอนเทอร์เรย์ หัวหน้าคณะเจรจาของปานามา ผู้ที่เข้าประชุมทั้ง 4 ครั้ง กล่าวว่า “รู้สึกว่าตอนนี้เราหลงทาง ไม่ใช่แค่ในฐานะประเทศและรัฐบาลเท่านั้น แต่ในฐานะมนุษยชาติด้วย เหมือนเราไม่ใส่ใจซึ่งกันและกันอีกต่อไป” มอนเทอร์เรย์กล่าวจาก UNCCD COP16 ที่ริยาด ซาอุดีอาระเบีย

มอนเทอร์เรย์คิดว่า ประเทศของเขาอาจจะต้องต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง หรือรวมกับประเทศอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ นั้น คงไม่ใช่ทั้งโลกที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหานี้ แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศ กำลังยอมรับแนวคิดของ “สโมสรภูมิอากาศ” (Climate Clubs) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ทำงานร่วมกัน 

“ระบบของสหประชาชาติเป็นระบบที่แย่ที่สุด แต่เราก็ไม่มีระบบอื่นอีกแล้ว” แมร์รี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์และสมาชิกกลุ่มรณรงค์ The Elders กล่าวกับสำนักข่าวเอพี

ระบบฉันทามติที่เป็นปัญหา

การประชุมเรื่องสภาพอากาศเริ่มขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เกิดการถกเถียงกันว่าจะเลือกใช้วิธีการตัดสินใจอย่างไร เพื่อให้ข้อสรุป โดยผู้แทนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และซาอุดีอาระเบีย พยายามอย่างหนักที่จะไม่ให้ใช้วิธีการโหวตโดยใช้คะแนนเสียงข้างมาก และใช้แนวคิดเรื่องฉันทามติมาใช้แทน ซึ่งต้องให้ทุกประเทศเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ (unanimity) เพื่อให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจึงสามารถขัดขวาง และทำให้การเจรจาไม่ได้ผล” โจแอนนา เดอเพลดจ์ นักประวัติศาสตร์ด้ารการเจรจาเรื่องสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว

ขณะที่ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า “พหุภาคีนิยมไม่ได้ตาย แต่ถูกบางประเทศพยายามขัดขวาง เห็นได้จากการที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายในทุกระดับ"

ไม่ว่าจะเป็นกอร์ เดอเพลดจ์ และคนอื่น ๆ กำลังสนับสนุนและผลักดันกฎใหม่เปลี่ยนการตัดสินใจในการประชุม COP ให้เป็นไปตามกฎเสียงข้างมาก แทนที่ฉันทามติ แม้ว่าความพยายามในอดีตจะล้มเหลวมาแล้วก็ตาม

ผ่านมา 27 ปีแล้วที่ข้อตกลงการเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิล” เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนหรือไม่ และไม่ได้เรียกร้องให้หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ท้ายที่สุดแล้วในการประชุม COP28 ที่ดูไบ ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านไปสู้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เดอเพลดจ์กล่าวว่า ขณะนี้โลกแตกแยกมากขึ้นและอำนาจก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทุกประเทศต่างออกมาพูดถึงสถานการณ์ในประเทศของตนเอง ซึ่งประเทศเหล่านั้นต่างดำเนินการบางอย่าง เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าการประชุม COP จะมีมติอย่างไรก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไซมอน สตีลล์ เลขาธิการสหประชาชาติด้านสภาพอากาศ กล่าวกับเอพีว่า หากไม่มีการประชุมระดับโลกที่สหประชาชาติจัดขึ้น โลกของเราอาจจะมีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเป็นวาระสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ 


ที่มา: AP NewsNewsweek